ส่งออกเม.ย.หดตัว 7.6% แย่กว่าคาด พลิกขาดดุลการค้า

ส่งออกไทยเดือนเม.ย. ติดลบ 7.6% จากปีก่อน แย่กว่าตลาดคาด ดุลการค้าพลิกกลับมาติดลบ 1,471 ล้านเหรียญสหรัฐ ด้าน “นำเข้า” ติดลบ 7.3% หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เผยส่งออกสินค้าเกษตรยังขยายตัวดีต่อเนื่อง ตลาดจีนขยายตัวสูงถึง 23% สัญญาณบวกส่งออกไทย คงเป้าส่งออกปีนี้ขยายตัว 1-2% ด้าน “บล.หยวนต้า” ชี้ Sentiment เชิงลบต่อตลาดหุ้น กดดันบาทอ่อนค่าอยู่บ้าง แนะเก็งกำไรหุ้นส่งออก GFPT, TFG, BTG, AH, SAT

นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือน เม.ย.2566 ว่า การส่งออก มีมูลค่า 21,723 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 737,788 ล้านบาท หดตัว 7.6% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย หดตัว 6.8% ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกกดดันอุปสงค์ด้านการส่งออก หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียยังคงเผชิญกับการส่งออกที่ชะลอตัว แม้ว่าปัจจัยด้านเงินเฟ้อจะชะลอลง แต่ความเปราะบางของภาคธนาคารในสหรัฐฯ และยุโรป กดดันให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวมากขึ้น

ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 23,195.0 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 797,373 ล้านบาท ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 7.3% หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากราคาพลังงานที่ลดลงอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขนึ้ จากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน สอดคล้องกับหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียส่วนใหญ่ที่หดตัว ขณะที่ดุลการค้า ขาดดุล 1,471.7 ล้านเหรียญสหรัฐ

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมยังคงลดลงตามความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกและราคาพลังงาน ตรงข้ามกับสินค้าเกษตรที่ขยายตัวได้ดี โดยการส่งออกผลไม้ทำรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์รวมถึงข้าว ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนการส่งออกไปยังตลาดเป้าหมายขยายตัวในระดับที่น่าพอใจ โดยเฉพาะตลาดจีนที่เป็นตลาดส่งออกอันดับสองของไทยกลับมาขยายตัวสูงถึง 23%

ภาพรวม 4 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออก มีมูลค่า 92,003.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 5.2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 96,519.3ล้านเหรียญสหรัฐ
หดตัว 2.2% ดุลการค้า 4 เดือนแรกของปี 2566 ขาดดุล 4,516.0 ล้านเหรียญสหรัฐ

ในเดือนเมษายน 2566 สินค้าเกษตรเป็นสินค้าหลักผลักดันการส่งออก ขยายตัว 23.8% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวตามความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

สำหรับแนวโน้มการส่งออกในระยะถัดไป กระทรวงพาณิชย์ประเมินว่า ภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะชะลอตัว อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอลงแต่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้หลายประเทศยังคงใช้นโยบายการเงินอย่างเข้มงวด ขณะที่มีความเสี่ยงจากปัจจัยอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น ปัญหาวิกฤตการเงินของธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐฯ และยุโรป และปัญหาเพดานหนี้ของสหรัฐฯ สร้างความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจโลก

ทั้งนี้ การฟื้นตัวของตลาดจีนที่เกิดขึ้นในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา เป็นสัญญาณบวกต่อการส่งออกไทย ขณะที่ปัญหาความมั่นคงทางอาหารเกิดขึ้นในหลายประเทศที่ประสบปัญหาภัยแล้งจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยในปีนี้

กระทรวงพาณิชย์เดินหน้าผลักดันตลาดส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง โดยยังยืนยันเป้าหมายการส่งออกที่ 1 –2% ซึ่งเป็นเป้าหมายการทำงานที่มีความท้าทายและเป็นไปได้

ด้านบริษัทหลักทรัพย์หยวนต้า เผยยอดส่งออกเดือน เม.ย. -7.6% YoY แย่กว่าตลาดคาด ส่งผลให้ดุลการค้าพลิกกลับมาติดลบ -1.47 พันล้านเหรียญสหรัฐ แย่กว่าคาดที่ติดลบ 0.45 พันล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าที่โตดีคือ กลุ่มเกษตร (ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง และไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง), เครื่องดื่ม, รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ

ยอดส่งออกที่แย่กว่าคาด และดุลการค้าที่พลิกมาติดลบ อาจเป็น Sentiment เชิงลบต่อ SET INDEX และกดดันเงินบาทให้อ่อนค่าอยู่บ้าง โดยล่าสุดอยู่ที่ 34.85 บาท/ดอลล่าร์สหรัฐฯ อ่อนค่า 0.5%

แต่ด้วยเหตุผลด้านวันหยุดยาวหลายช่วงในเดือน เม.ย. (ฐานต่ำ) และสินค้าเกษตรที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง ทำให้เราคาดว่ายอดส่งออกเดือน พ.ค. จะเร่งตัวขึ้น MoM แต่เมื่อเทียบ YoY ยังติดลบจากฐานสูงในปีก่อน หุ้นส่งออกที่น่าสนใจสำหรับการเก็งกำไรช่วงนี้ยังเป็น GFPT, TFG, BTG, AH, SAT