“กรุงศรี” ชี้จังหวะทยอยซื้อหุ้นไทย-กองทุนลดภาษี คงป้า SET สิ้นปี 1,800 จุด

HoonSmart.com>> “กรุงศรี” มองหุ้นไทยร่วงแรงหลังอยู่ระหว่างจัดตั้งรัฐบาล นโยบายพรรคการเมืองกระทบหุ้นบางกลุ่ม ตลาดกังวลเพดานหนี้สหรัฐฯ ชี้จังหวะทยอยซื้อหุ้นและกองทุนประหยัดภาษี คงเป้าหมายดัชนี 1,800 จุดสิ้นปี 66 พร้อมเปิดโผหุ้นได้ประโยชน์หลัง MOU พรรคร่วมรัฐบาล ส่วนตลาดหุ้นโลกแนวโน้มยังขาขึ้น ระยะสั้นระวังปรับฐานหลังหุ้นสหรัฐฯ ดีดตัวแรง มองเพดานหนี้สหรัฐฯ ยังเป็นความเสี่ยง รอจังหวะเข้าซื้อหุ้นสหรัฐฯ-ตราสารหนี้โลก

นายวิน พรหม์แพทย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานลูกค้าไฮเน็ตเวิร์ธ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลงมาจากความกังวลการจัดตั้งรัฐบาล นโยบายของพรรคแกนนำที่ส่งผลกระทบต่อบางอุตสาหกรม รวมถึงปัญหาการเจรจาขยายเพดานหนี้ของสหรัฐฯ และนโยบายดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งมองเป็นโอกาสซื้อลงทุนหุ้นไทยแถวดัชนี 1,500 ต้นๆ หรือ 1,400 จุด ปลายๆ เห็นได้จากวันก่อนที่ดัชนีหลุด 1,500 จุดมีแรงซื้อกลับ ซึ่งมองเป็นจังหวะในการทยอยลงทุนกองทุนหุ้นไทยและกองทุนประหยัดภาษี

กองทุนหุ้นไทยที่แนะนำ ได้แก่กองทุนกรุงศรีหุ้นไดนามิค (KFDYNANIC) พอร์ตการลงทุนของกองทุนมีน้ำหนักสูงสุดในกลุ่มธนาคาร พาณิชย์และสื่อสาร

ขณะที่มุมมองของบริษัทหลักทรัพย์กรุงศรี (KSS) ยังคงเป้าหมายดัชนี SET สิ้นปีนี้ที่ 1,800 จุด อิงจาก PER เฉลี่ย 3 ปีย้อนหลังที่ 16 เท่า และ EPS ในอีก 12 เดือนข้างหน้า จึงมองดัชนีที่ปรับลดลงมาจากต้นปีแล้วกว่า 8% เป็นโอกาสทยอยลงทุน

ด้านเศรษฐกิจไทยในปี 2566 มีแนวโน้มฟื้นตัวได้จากการบริโภคภายในประเทศ จากแรงหนุนของการท่องเที่ยว โดยวิจัยกรุงศรีประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวปี 2566 จะอยู่ที่ 25-28 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่ 11.1 ล้านคน ขณะที่ปัจจัยกดดันการบริโภคอย่างอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยเงินเฟ้อเดือนมี.ค.ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 2.83% กลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายของกนง. ที่ 1-3% ทำให้นอกเหนือจากการลดผลกระทบเชิงลบในการบริโภคแล้วเงินเฟ้อที่ลดลง ยังทำให้กนง.มีความจำเป็นลดลงในการปรับขึ้นดอกเบี้ย

นายวิน กล่าวว่า สำหรับ MOU ในการจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะประเด็นเศรษฐกิจมี 5 เรื่อง โดย 3 เรื่องเกี่ยวกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยยึดหลักเพิ่มรายได้ประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ, การยกเครื่องกฎหมายเกี่ยวกับการทำมาหากินแลการดำรงชีวิตของประชาชน, ยกเลิกการผูดขาดส่งเสิรมการค้าที่เป็นธรรม ขณะที่อีก 2 นโยบายการปรับปรุงโครงสร้างธุรกิจไฟฟ้าและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

“เรามองนโยบายเศรษฐกิจตาม MOU ดูซอฟท์ลงเมื่อเทียบกับที่พรรคก้าวไกลวางนโยบายไว้ จากการพูดคุยกลุ่มพรรคแกนนำจึงมีการปรับเข้ากันมากขึ้น”นายวิน กล่าว

ขณะที่บล.กรุงศรี พัฒนสิน (KCS) แนะนำหุ้นที่จะได้ประโยชน์จาก MOU ของพรรคร่วมรัฐบาล แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก 1.กลุ่มที่จะได้ประโยชน์จากการสนับสนุนความแข็งแรงของ SME 2.กลุ่มที่จะได้ประโยชน์จากการปรับปรุงโครงสร้างการผลิตไฟฟ้า เพื่อลดค่าครองชีพ และ 3.กลุ่มที่ปรับฐานลงแรง หลังเลือกตั้งและยังฟื้นตัวต่ำกว่าตลาด ขณะที่มีโอกาสได้อานิสงส์จากนโยบาย

นายวิน กล่าวอีกว่า สำหรับปัจจัยต่างประเทศ ประเด็นการขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ ซึ่งมองว่าเป็นความเสี่ยง แต่ไม่น่าลุกลามบานปลาย ในอดีตเคยเกิดขึ้นและมีการชัตดาวน์หลายวัน เพราะรัฐบาลสหรัฐไม่มีเงินจ่ายเงินเดือน ค่าน้ำค่าไฟ จนถึงครั้งนี้ก็เช่นกัน ซึ่งยังอยู่ระหว่างการเจรจาใกล้ครบกำหนดเดือนมิ.ย.นี้ ขณะที่มุมมองของ BlackRock พันธมิตรของกรุงศรีคาดว่าการเจรจาอาจยืดเยื้อ แต่โดยธรรมชาติจะสำเร็จและอาจมีการชัตดาวน์ก่อน ซึ่งความยืดเยื้อที่เกิดขึ้นทำให้ตลาดผันผวนมาก ในอดีตปี 2011 หุ้นสหรัฐ (ดัชนี S&P500) ปรับตัวลงลึก 17% ต้องติดตามรอบนี้จะยืดเยื้อแค่ไหน

“ความผันผวนที่เกิดขึ้นอาจคล้ายกับสถานการณ์การปิดธนาคารในสหรัฐฯ ช่วงสองเดือนก่อน ตลาดผันผวน นักลงทุนขายหุ้นและตราสารหนี้ แต่ในที่สุดก็แก้ปัญหาสำเร็จ รอบนี้จึงเชื่อว่าปลายทางจะสำเร็จเช่นกัน แค่เร็วหรือช้า ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯคงไม่อยาก Default แต่อยู่ที่การเจรจากับประธานสภา การตัดงบบางส่วนลง ดังนั้นระหว่างทางความผันผวนอาจสูงและมีแรงเทขายหุ้น BlackRock มองเป็นโอกาสลงทุนทั้งหุ้นและตราสารหนี้ นักลงทุนจึงไม่ควรแพนิคหากตลาดหุ้นปรับตัวลงแรง ในทางกลับกันเป็นโอกาสได้ซื้อของถูก”นายวิน กล่าว

นอกจากนี้ต้องติดตามความเสี่ยงในภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ ซึ่งสำนักงานออฟฟิศ ค้าปลีก เริ่มมีปัญหาผู้เช่าลดลงหลังโควิด-19 คนทำงานที่บ้าน ใช้พื้นที่ออฟฟิศลดลง ต่างจากในยุโรปที่ทำงาน WFH มาก่อนโควิดแล้ว ดังนั้นอาคารต่างๆ ซึ่งใช้เงินกู้ก่อสร้าง ปรับปรุงอาคาร พอดอกเบี้ยขึ้น รีไฟแนนซ์ก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้น ซึ่งเริ่มมี Default ผิดนัดชำระหนี้เกิดขึ้นแล้ว ขณะที่ BlackRock มองกลุ่มค้าปลีกและสำนักงานออฟฟิศเริ่มมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น แต่ Warehouse คลังสินค้ายังมีความต้องการใช้พื้นที่

“เรายังไม่กล้าฟันธงว่าภาคอสังหาริมทรัพย์จะลุกลามบานปลายแค่ไหน แต่เป็นความเสี่ยงที่ต้องติดตาม ถ้าทำให้ภาคธนาคารบางแห่งเริ่มมีปัญหาจะเกิดแบงก์ล้มอีกหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตามปัญหาหนี้ commercial real estate ไม่ใหญ่เท่ากับตอน subprime เพราะเม็ดเงินไม่มาก ผลกระทบไม่แรงเท่าหากแบงก์ล้มอีก แต่ก็ไม่ประมาทยังคงต้องติดตาม”นายวิน กล่าว

ส่วนดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ล่าสุดปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% เป็น 5.00-5.25% ตามคาด แต่สิ่งที่กังวลอยู่ที่ตลาดมองล้ำหน้าว่ามีโอกาสที่เฟดจะลดดอกเบี้ย 1-2 ครั้งปลายปีนี้ ต่างจากกรุงศรีและ BlackRock เชื่อว่าเฟดจะคงดอกเบี้ยถึงสิ้นปี 2566 รอดูเงินเฟ้อ เศรษฐกิจไปก่อนและหากจะลดดอกเบี้ยน่าจะเกิดขึ้นในปีหน้า ดังนั้นการที่ตลาดมองเฟดจะลดดอกเบี้ย หากไม่ลดตามคาดจะกลายเป็นข่าวร้าย หุ้นสหรัฐฯ ที่ขึ้นมาสูงมากในเดือนกว่า เพราะมองประเด็นนี้ และตั้งแต่ต้นปีดัชนี Nasdaq ให้ผลตอบแทนสูงกว่า S&P500 ถึง 2 เท่า ดังนั้นต้องเผื่อใจหากหุ้นตก ซึ่งนักลงทุนไม่ควรแพนิค

นายวิน กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นโลกยังมองเป็นขาขึ้นเมื่อเฟดขึ้นดอกเบี้ยจบแล้ว แต่ระยะสั้นหุ้นอาจปรับฐาน ซึ่งตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันหุ้นสหรัฐปรับตัวขึ้นเกือบ 10% หุ้นเทคโนโลยี Nasdaq ขึ้น 22% มากกว่า S&P500 ถึงสองเท่า จากตลาดคาดล่วงหน้าว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยสิ้นปีนี้ จึงไม่แนะนำให้ไล่ซื้อตามตลาด รอจังหวะหากประเด็นเพดานหนี้ทำให้ตลาดลงค่อยเข้าซื้อ สำหรับ S&P500 ยังไม่ผ่านแนวต้าน 4,200 จุด แนะรอจังหวะเข้าลงทุนแถว 3,800-4000 จุด ส่วน Nasdaq ทะลุแนวต้านเดิม 13,000 จุด อัพไซด์เหลือน้อย แต่หุ้นเทคขนาดใหญ่ยังแนวโน้มดีทั้ง Microsoft และ Google แนะจังหวะซื้อแถวดัชนี 11,800-12,250 จุด

ส่วนตลาดหุ้นญี่ปุ่น ปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างแรงเหนือความคาดหมายดัชนีทะลุแนวต้านเดิม 31,000 จุด ทำจุดสูงสุดในรอบ 33 ปี ทั้งที่ปัจจัยพื้นฐานไม่ได่มีอะไรเปลี่ยนจนเข้าสู่โซน Overbought จึงแนะขายทำกำไร ระยะสั้นมีโอกาสปรับลงแรง จึงไม่แนะนำไล่ซื้อตาม หากต้องการลงทุนรอแนวรับแถว 28,000-29,000 จุด

นายวิน กล่าวว่า สำหรับการลงทุนในตราสารหนี้ หลังจากตลาดกังวลประเด็นเรื่องเพดานหนี้สหรัฐฯ ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี เด้งขึ้นมาใหม่จาก 3.4% เป็น 3.7% ซึ่งหากหนี้ยังยืดเยื้อ เจรจาไม่จบอาจเห็นบอนด์ยีลด์เกิน 4% อีกครั้ง ภาพนี้เคยเกิดขึ้นมาสามรอบตั้งแต่ปลายปีก่อน ซึ่งเป็นโอกาสลงทุนตราสารหนี้โลกในราคาถูก จึงแนะหาจังหวะลงทุนเมื่อผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปี เข้าใกล้ 4% โดยแนะนำกองทุนกรุงศรีโกลบอลสมาร์ทอินคัม (KF-SINCOME) และกองทุนกรุงศรีโกลบอลคอลเลทีฟสมาร์ทอินคัม (KF-CSINCOM) ซึ่งกองทุนหลักภายใต้บริหารจัดการของ PIMCO

“ตลาดหุ้นยังน่าสนใจแนะนำรอจังหวะลงทุนหรือถือยาว โดยกองทุนแนะนำได้แก่ กองทุนกรุงศรี (KFGBRAND) ลงทุนหุ้นทั่วโลก เน้นกลุ่ม Defensive มีรายได้ชัดเจน แบรด์แข็งแกร่งไม่ได้รับผลกระทบเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งในกองทุนลงทุนในหุ้นเทคด้วย อย่าง Microsoft มีรายได้มั่นคง กระแสเงินสดจำนวนมาก ที่ผ่านมาก็ได้ประโยชน์จากหุ้นเทคขึ้นแรง ทำให้ผลตอบแทนกองทุนตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ประมาณ 6% จึงเหมาะกับนักลงทุนที่อยากลงทุนหุ้นโลก เน้นกลุ่ม Defensive ไม่เน้นหุ้น Growth”นายวิน กล่าว

อย่างไรก็ตามกรุงศรียังคงเน้นคำแนะนำให้จัดพอร์ตการลงทุน เพื่อกระจายการลงทุนในหลายสินทรัพย์ ท่ามกลางภาวะตลาดผันผวนสูง โดยแนะนำเงินลงทุนหลักประมาณ 70% อยู่ในกองทุนกรุงศรีโกลบอลอโลเคชั่น (KFCORE) ซึ่งเป็นกองทุนผสม กระจายลงทุนสินทรัพย์หลากหลายทั่วโลกและให้ความสำคัญกับ ESG ซึ่งพอร์ตลงทุนมีความยืดหยุ่น โดยมีผู้จัดการกองทุนมืออาชีพระดับโลก BlackRock บริหารจัดการเน้นการบริหารในเชิงรุก และปรับพอร์ตตามสถานการณ์ ซึ่งผลตอบแทนปีนี้ประมาณ 3%

ส่วนเงินลงทุนส่วนที่เหลือ 30% นักลงทุนสามารถกระจายการลงทุนเพิ่มเติมได้ โดยกองทุนที่เป็นเรือธงของกรุงศรีที่แนะนำ ได้แก่ KFCORE ซึ่งเป็นกองทุนผสม, KF-CSINCOM กองทุนตราสารหนี้โลก , KFGBRAND กองทุนหุ้นโลก และ KFESGA กองทุนหุ้นโลก