HoonSmart.com>> “บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์” คว้าอันดับเครดิตองค์กรจาก TRIS หลังจากเข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ ที่ระดับ “A-” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “คงที่” สะท้อนถึงความมั่นคง แข็งแกร่งองค์กร ชี้ดอกเบี้ยต่ำไม่กระทบต้นทุนเงินกู้ใหม่อย่างมีนัยสำคัญ
นายสมพร มูลศรีแก้ว กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ หรือ BAM กล่าวว่า บริษัท ทริสเรตติ้ง จำกัด ได้จัดอันดับเครดิตองค์กรของ BAM เป็นครั้งแรกบน Standalone basis (อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัท) ที่ระดับ “A-” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “คงที่” ภายหลังจากการเปลี่ยนสถานะเป็นบริษัทมหาชนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อย่างเต็มตัวและกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ได้ลดสัดส่วนการถือหุ้นลง แต่ยังเป็นผู้ถือหุ้นหลัก และที่ผ่านมา FIDF ได้ชี้แจงไม่มีนโยบายขายหุ้น BAM เพิ่มเติม โดยอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงความเชี่ยวชาญและความเป็นผู้นำในธุรกิจบริหารสินทรัพย์
นอกจากนี้ ยังสะท้อนถึงรายได้หลักของบริษัทที่ค่อนข้างมั่นคงและแข็งแกร่ง ตลอดจนระดับการก่อหนี้ที่ต่ำ และการกระจายตัวที่ดีของแหล่งเงินทุน ในขณะที่บริษัท ฟิทช์ เรตติ้งส์ (ประเทศไทย) ปรับเครดิตภายในประเทศเป็น BBB+(tha) และให้แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพพร้อมยกเลิกเครดิตพินิจเป็นลบ
ที่ผ่านมาบริษัทมีการดำเนินงานที่ดี ผลประกอบการมีกำไรมาอย่างต่อเนื่อง จึงได้รับความเชื่อมั่นจากสถาบันการเงินและนักลงทุนเป็นอย่างดี ทำให้บริษัทได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากหลายช่องทาง ส่งผลให้มีความหลากหลายของแหล่งเงินทุนทั้งส่วนที่เป็นเงินกู้จากสถาบันการเงินและตราสารหนี้หรือหุ้นกู้จากนักลงทุน
บริษัทคาดว่าผลการจัดอันดับเครดิตเรตติ้งดังกล่าวไม่น่าจะกระทบต่อต้นทุนทางการเงินมากนักเนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่าบริษัทมีแผนในการเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมาระยะหนึ่งแล้ว จึงคาดว่านักลงทุนในตราสารหนี้ได้คำนึงถึงผลการจัดอันดับเครดิตเรตติ้งภายหลังการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แล้ว
ประกอบกับคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ดังนั้นบริษัทคาดว่าต้นทุนทางการเงินจากการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ใหม่จะไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เช่นเดียวกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จากสถาบันการเงิน ทั้งในส่วนที่ได้มีการลงนามในสัญญาเงินกู้ระยะสั้นและระยะยาวเรียบร้อยแล้ว และสินเชื่อส่วนที่จะได้รับเพิ่มเติมจากสถาบันการเงิน ในอนาคต จึงคาดว่าต้นทุนทางการเงินโดยรวมของบริษัทจะไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด