“ณัฐภพ” ประกาศซื้อหุ้น NFC เพิ่ม หากนักลงทุนเทขายออกมา หลังเข้าเทรดอีกครั้ง 15 มิ.ย.นี้ ลั่นไม่ทิ้งหุ้นแม้พ้น Silent Period ไปแล้ว มั่นใจธุรกิจบริการโลจีสติกส์สร้างรายได้เติบโตต่อเนื่อง
นายณัฐภพ รัตนสุวรรณทวี กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นเอฟซี (NFC) เปิดเผยว่า หุ้น NFC ที่จะกลับเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ในวันที่ 15 มิ.ย.นี้ จะไม่เหมือนกันหุ้นที่กลับมาซื้อขาย (Resume Trade) ตัวอื่นๆแน่นอน เพราะในช่วง 15 ปี บริษัทได้ปรับแผนธุรกิจและกลับมาทำกำไรได้ อีกทั้งบริษัทมีศักยภาพที่จะเติบโตในอนาคต และตนเองในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 55.84% ยืนยันว่า ไม่คิดขายหุ้นตัวนี้ทิ้ง แม้จะพ้นระยะเวลาการห้ามขายหุ้น (Silent Period) 1 ปี แล้วก็ตาม
“ตอนที่ผมเข้าไปลงทุนและบริหาร NFC เมื่อ 15 ปีก่อน ผมสู้และอดทนมาตลอด กระทั่ง NFC ทำกำไรและกลับเข้ามาเทรดได้อีกครั้ง ผมกอดหุ้นตัวนี้มา 15 ปี ผมไม่คิดขายทิ้งแน่นอน และหากนักลงทุนรายไหนจะขายหุ้นตัวนี้ ผมพร้อมจะเข้าไปรับซื้อทั้งหมด เพราะ NFC ยังมีอนาคตอีกไกล”นายณัฐภพกล่าว
ณ วันที่ 9 มี.ค.2561 นายณัฐภพ รัตนสุวรรณทวี ถือหุ้นใน NFC จำนวน 607 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 55.84% รองลงมาเป็นบริษัท อินเตอร์ สเปค โกลบอล ถือหุ้น 176 ล้านหุ้น หรือ 16.18% และBentayga Holdings Ltd. ถือหุ้น 86 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 7.91% ที่เหลือเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อื่นๆ สำหรับนักลงทุนรายย่อยที่ถือหุ้นใน NFC ปัจจุบันมีจำนวน 4,500 ราย หรือคิดเป็นสัดส่วนการถือหุ้นประมาณ 10%
นายณัฐภพ กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจของ NFC เปลี่ยนจากธุรกิจผลิตปุ๋ยไปเป็นธุรกิจ Trading สินค้าเคมีภัณฑ์ คือ กรดกำมะถัน แอมโมเนีย และแอมโมเนียน้ำ โดยมีถังเก็บกำมะถันขนาด 3.5 หมื่นตัน และถังเก็บแอมโมเนียขนาด 2.15 หมื่นตัน โดยธุรกิจนี้มีสัดส่วนรายได้คิดเป็น 90% จากรายได้รวมของบริษัทในปี 2560 ซึ่งอยู่ที่ 1,128 ล้านบาทและมีกำไรสุทธิ 214 ล้านบาท ที่เหลืออีก 10% เป็นรายได้จากธุรกิจให้บริการเช่าพื้นที่เก็บเม็ดพลาสติก เนื้อที่ 9 หมื่นตารางเมตร
“ตอนเราเข้ามาใหม่ๆ เราก็ผลิตปุ๋ยเหมือนที่ NFC ทำ แต่ก็ยังขาดทุน ในปี 2552 เราจึงหยุดการขาดทุนด้วยการเลิกผลิตปุ๋ย แล้วเปลี่ยนมาทำธุรกิจ Trading เคมีภัณฑ์ และให้บริการเช่าพื้นที่คลังสินค้า โดยใช้ทรัพย์สินเดิมที่ NFC มีอยู่ คือ คลังสินค้าเหลว และคลังเก็บสินค้า จึงหยุดขาดทุนและเริ่มมีกำไรต่อเนื่อง ขณะที่ NFC เป็นบริษัทที่มีศักยภาพที่จะสร้างรายได้จากธุรกิจใหม่ คือ ธุรกิจโลจีสติกส์และบริการ โดยใช้ทรัพย์สินและที่ดินที่ยังว่างอยู่หลายร้อยไร่”นายณัฐภพระบุ
นายณัฐภพ ย้ำว่า ด้วยที่ตั้งของ NFC ที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งเป็นฐานการผลิตสินค้าปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่สำคัญ และติดกับทางรถไฟที่เชื่อมไปยังนิคมและท่าเรือแหลมฉบัง ทำให้ NFC สามารถพัฒนาที่ดินว่างเปล่าที่เหลืออยู่ 200-300 ไร่ เป็นคลังเก็บสินค้าและศูนย์กระจายสินค้าได้ (ICD) โดยปัจจุบันบริษัทเป็นเจ้าของท่าเรือที่มีพื้นที่ 60 ไร่ มีหน้าท่าขนาด 256 เมตร ระดับน้ำลึก 12.5 เมตร ซึ่งรับเรือขนาด 6 หมื่นตัน และที่ดินหลังท่าอีก 541 ไร่ รวมทั้งได้สิทธิในการบริหารท่าเรือระยองที่อยู่ข้างๆด้วย
“ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า เราตั้งเป้าว่าธุรกิจเทรดดิ้งจะมีรายได้เติบโตอยู่ โดยเรามีโครงการจะสร้างคลังสินค้าเหลวเพิ่มเติม แต่สัดส่วนรายได้จากธุรกิจนี้จะลดเหลือ 10% โดยธุรกิจที่จะสร้างรายได้ส่วนใหญ่หรือ 90% ให้กับ NFC จะมาจากธุรกิจโลจีสติกส์และบริการ โดย NFC จะพัฒนาที่ดินที่ถือครองให้เป็นศูนย์ขนส่งและกระจายสินค้าหรือ ICD ครบวงจร อีกทั้ง NFC ยังเป็นผู้บริหารท่าเรือระยองที่อยู่ข้างๆอีกด้วย และแน่นอนว่าบริษัทต้องลงทุนเพิ่ม”นายณัฐภพกล่าว
สำหรับความเสี่ยงสัญญาเช่าพื้นที่ของ NFC ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดนั้น นายณัฐภพ กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีระยะเวลาสัญญาเช่าที่ดินหลังท่าเรือ 541 ไร่ จากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ไปจนถึงปี 2565 และในสัญญากำหนดให้กนอ.ต้องต่อสัญญากับ NFC อีก 20 ปีสัญญาละ 10 ปี หรือสิ้นสุดในปี 2585 ส่วนพื้นที่ท่าเรือมีสัญญาเช่าถึงปี 2569 และต่อสัญญาได้อีก 20 ปี สัญญาละ 10 ปี เช่นกันหรือไปจนถึงปี 2589
“สัญญาเดิมกำหนดอัตราค่าเช่าที่ดิน 2.8 แสนบาทต่อไร่ต่อปี ซึ่งถือว่าถูกเมื่อเทียบกับราคาซื้อขายที่ดินบริเวณนั้น และเมื่อมีการต่อสัญญาใหม่ กนอ.ต้องให้เราต่อสัญญา เพราะสัญญากำหนดไว้อย่างนั้น ส่วนอัตราค่าเช่าใหม่จะเป็นไปตามอัตราที่ กนอ.ประกาศเป็นการทั่วไป ซึ่งปกติค่าเช่าจะเพิ่มเฉลี่ยปีละ 3% ดังนั้น เราจึงมั่นใจว่าไม่มีความเสี่ยงว่าจะไม่ได้ต่อสัญญาเช่าท่าเรือและที่ดินหลังท่าเรือ”นายณัฐภพกล่าว
นายณัฐภพ กล่าวว่า ในส่วนโครงการลงทุนใหม่ของบริษัทนั้น ขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ โดยหลังจาก NFC เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯแล้ว จะมีการประกาศแผนการลงทุนต่อไป และขอยืนยันว่า บริษัทจะไม่มีการเพิ่มทุน ขณะที่แหล่งเงินลงทุนของบริษัทจะมาจากการยืมเงินจากสถาบันการเงินในลักษณะโปรเจกต์ไฟแนนซ์