HoonSmart.com>>สภาพัฒน์แถลงตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 4 โต 1.6% ต่ำสุดในรอบ 21 ไตรมาส รวมทั้งปี 62 ขยายตัว 2.4% ส่วนปี 63 ปรับลดคาดการณ์เหลือโต 1.5-2.5% ต่ำกว่าเป้าเดิม 2.7-3.7% ยันส่งออกบวก 2% สวนทางเอ็กซิมแบงก์คาดติดลบ 2-3% ฝั่งญี่ปุ่น เยอรมนี ยูโรปเปิดจีดีพีชะลอตัวลงไตรมาส 4 /62
สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ แถลงตัวเลขเศรษฐกิจ (GDP) ในไตรมาส 4/2562 ขยายตัว 1.6% เทียบกับการขยายตัว 2.6% ในไตรมาสก่อนหน้า เมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เหลือขยายตัว 0.2% จากไตรมาสที่ 3/62
ภาพรวมของปี 2562 เศรษฐกิจขยายตัว 2.4% จาก 4.2% ในปี 2561 โดยมูลค่าการส่งออกลดลง 3.2% การบริโภคภาคเอกชน 4.5% และการลงทุนรวม 2.2% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 0.7% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 6.8% ของจีดีพี สาเหตุที่เศรษฐกิจไทยย่อตัวลงมาจากทั้งปัจจัยภายนอกและภายใน ได้แก่ ผลกระทบสงครามการค้าและการส่งออกที่ลดลง ขณะที่งบประมาณรายจ่ายปี 63 ล่าช้า เกิดปัญหาภัยแล้ง และเงินบาทแข็งค่า
ส่วนเศรษฐกิจปี 2563 สภาพัฒน์ปรับลดคาดการณ์ลงเหลือ 1.5-2.5% หรือค่าเฉลี่ยที่ 2.0% ต่ำกว่าคาดการณ์เดิมที่ 2.7-3.7% โดยมีปัจจัยหลักกดดัน คือ การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ปัญหาภัยแล้ง และความล่าช้าของงบรายจ่ายปี 2563
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สภาพัฒน์ เปิดเผยว่า สภาพัฒน์ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจในปี 2563 จาก 3 สาเหตุสำคัญ คือ 1.การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) คาดว่านักท่องเที่ยวลดลง 4.8 ล้านคน จากเป้าหมาย 41.8 ล้านคน เหลือประมาณ 37 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 2.3 แสนล้านบาท แต่หากสถานการณ์กลับมาเป็นปกติได้ภายในเดือนเม.ย.นี้ ก็คาดว่าเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงเดือนมิ.ย. 2.ปัญหาภัยแล้ง อาจจะทำให้จีดีพีภาคเกษตรในปีนี้ลดลง 5% 3.ความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณรายจ่ายปี 2563 ซึ่งคาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายได้ในช่วงต้นเดือน เม.ย.จากเดิมคาดเดือน ก.พ. ทำให้เม็ดเงินลงทุนลดลงจากประมาณการเดิม 32,000 ล้านบาท
“3 เดือนแรกปีนี้ เราได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา เราจะต้องกระตุ้นให้ส่งออกปีนี้โตได้ 2% หาโอกาสที่สินค้าไทยจะเข้าไปทดแทนสินค้าจากจีน เร่งสรุปการเจรจาภายใต้ข้อตกลงทางการค้าที่สำคัญๆ ต้องเร่งรัดเบิกจ่ายทั้งในส่วนของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ดูแลผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวม” เลขาธิการสภาพัฒน์ระบุ
นายวิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไตรมาส 4 ที่ขยายตัวเพียง 1.6% ถือว่าต่ำสุดในรอบ 21 ไตรมาส ไม่เพียงเกิดขึ้นเฉพาะกับประเทศไทยเท่านั้น ในหลายประเทศทั่วโลกก็ขยายตัวที่ชะลอลงเช่นกัน ยกเว้นเพียงญี่ปุ่น สหรัฐ เกาหลี ไต้หวัน และฟิลิปปินส์ที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย
ส่วนปี 2563 เชื่อว่าเศรษฐกิจในไตรมาส 1 น่าจะเป็นช่วงที่ต่ำสุดของปีนี้ โดยโอกาสจะติดลบเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2562 แต่คงไม่มาก เนื่องจากไตรมาส 4 ขยายตัวที่ไม่สูงมากทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจจะค่อยปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ ในไตรมาส 2 และเริ่มดีขึ้นในไตรมาส 3 และจะดีขึ้นอย่างชัดเจนในไตรมาส 4
” เศรษฐกิจคงไม่อยู่ในสภาวะถดถอยทางเทคนิค เนื่องจากภาวะถดถอยจะต้องเห็นการติดลบของจีดีพีที่เทียบไตรมาสต่อไตรมาสต่อเนื่องกัน 2 ไตรมาส แต่ของไทยคงจะติดลบเพียงไตรมาสเดียวเท่านั้น ซึ่งอาจจะได้เห็นในช่วงไตรมาส 1/2563″นายวิชญายุทธกล่าว
สภาพัฒน์ เห็นว่า การบริหารนโยบายเศรษฐกิจในปี 2563 ควรให้ความสำคัญกับ1. การประสานนโยบายการเงินการคลัง เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจในครึ่งปีแรก และสนับสนุนการฟื้นตัวและการขยายตัวในครึ่งปีหลัง 2.การฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวให้สามารถกลับมาขยายตัวในครึ่งปีหลัง โดยมีจำนวนและรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีไม่ต่ำกว่า 37 ล้านคน และ 1.73 ล้านล้านบาท ตามลำดับ โดยให้ความสำคัญกับ การยกเว้นค่าธรรมเนียมและค่าปรับให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ไม่สามารถเข้ามาในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัส, การรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวไทยหันมาท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น
3. การขับเคลื่อนการส่งออกให้สามารถกลับมาขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 2.0% (ไม่รวมทองคำ) 4.รักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ เร่งรัดการเบิกจ่าย และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ 5. การสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน และ 6. การดูแลผู้มีรายได้น้อย ผู้ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง การลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยว และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจในปีนี้ยังได้รับปัจจัยบวกจากการปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ ของเศรษฐกิจและการค้าโลกตามการลดลงของแรงกดดันจากมาตรการกีดกันการค้าและความเสี่ยงจากการแยกตัวของสหราชอาณาจักร การขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน และการลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐ แรงขับเคลื่อนจากมาตรการภาครัฐ และฐานการขยายตัวที่ต่ำในไตรมาสสุดท้ายของปี 2562
ทางด้านนายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(เอ็กซิมแบงก์) แถลงว่า ปี 2563 เป็นปีแห่งการปรับสมดุลของโลก เพื่อลดความเสี่ยงในหลายมิติที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ทั้งมิติเศรษฐกิจ มิติการเมืองและสังคม และมิติสิ่งแวดล้อม ทั้งภัยธรรมชาติและโรคระบาด
ทั้งนี้มติเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสงครามการค้าที่ยังคงมีแรงกดดันต่อบรรยากาศการค้าของโลกลและของไทยในปีนี้ รวมถึงความผันผวนของค่าเงินที่เกิดขึ้นทั่วโลก จากสภาพคล่องและนโยบายการเงินกลับทิศทางเป็นดอกเบี้ยขาลง ของไทยเหลือ 1% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำส่งผลให้ราคาสินค้าหลายชนิด รวมถึงราคาสินค้าเกษตรปรับตัวลงเช่นเดียวกัน
“เศรษฐกิจไทยมีขนาดเล็กและเป็นระบบเปิด พึ่งพาตลาดต่างประเทศสูง มีอำนาจต่อรองไม่สูงมาก มูลค่าการส่งออกถูกขับเคลื่อนด้วยปริมาณมากกว่าราคา เห็นได้จากมูลค่าส่งออกในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โตเฉลี่ย 0.7% เกิดจากปริมาณขยายตัวเฉลี่ย 2% ทำให้อ่อนไหวและส่งผลกระทบอย่างรุนแรง คาดว่าในปี 2563 ส่งออกติดลบ 2 ถึง 3% ซึ่งปรับลดจากเดิมที่คาดว่าจะโต 0%ถึงบวก 2% ขณะที่นำเข้าสินค้าเพื่ออุปโภคบริโภคมากกว่าเครื่องจักรและเทคโนโลยี “นายพิศิษฐ์กล่าว
สำหรับเศรษฐกิจต่างประเทศ ญี่ปุ่นแถลงตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/2562 ติดลบ 1.6% จากไตรมาส 3 ชะลอตัวลงจากไตรมาส 3 เติบโต 0.1% ทั้งนี้ไตรมาส 4 ขยายตัวต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ -0.9%
ฝั่งยุโรป เยอรมนี เปิดตัวเลขจีดีพี ไตรมาส 4/2562 ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 0.4% จาก 0.5% ในไตรมาสก่อนหน้า แต่สอดคล้องกับที่ตลาดคาดไว้ที่ 0.4% ยูโรโซน ไตรมาส 4 ขยายตัว 0.9% หลังจากที่มีการเติบโต 1.2% ในไตรมาส 3 ยอดเกินดุลการค้าเดือนธ.ค. มูลค่า 2.31 หมื่นล้านยูโร เพิ่มขึ้นจากระดับ 1.63 หมื่นล้านยูโรจากช่วงเดียวกันของปี 2561