HoonSmart.com>>บริษัท บัตรกรุงไทยโชว์กำไรโต 7.5% ทุบสถิติใหม่ต่อเนื่อง 7 ปีซ้อน ลูกหนี้บัตรเครดิตสูงสุดในรอบ 3 ปี คุม NPL อยู่ในอัตราต่ำต่อเนื่อง ส่วนเป้าหมายปี 2563 ประกาศเติบโตคุณภาพทุกด้านอย่างยั่งยืน พร้อมรับมาตรฐาน TFRS9
นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย (KTC) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในปี 2562 บริษัทมีกำไรสุทธิ 5,524 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 384 ล้านบาท คิดเป็น 7.5% เทียบกับปี 2561 ที่มีกำไรสุทธิ 5,139 ล้านบาท นับเป็นกำไรสุทธิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 โดยบริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นในอัตราไม่ต่ำกว่า 40% ของกำไรสุทธิหลังหักภาษีและสำรองตามกฎหมาย
ในปี 2562 บริษัทมีรายได้รวม 22,625 เพิ่มขึ้น 6.7% มาจากพอร์ตลูกหนี้การค้ารวมเติบโต 9.8% เป็น 85,834 ล้านบาท และฐานสมาชิกรวม 3.4 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้น 2% จากธุรกิจบัตรเครดิตจำนวน 2,510,914 บัตร ขยายตัว 5.2% พอร์ตลูกหนี้ 56,653 ล้านบาท เติบโต 10.9% อัตราการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต เท่ากับ 10.6% สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPL รวมลดลงต่อเนื่องอยู่ที่ 1.06% NPL บัตรเครดิตอยู่ที่ 0.93% ส่วนธุรกิจสินเชื่อบุคคลมีทั้งสิ้น 888,342 บัญชี ลดลง 6.7% ยอดลูกหนี้รวม 28,933 ล้านบาท เติบโต 7.9% NPL ของสินเชื่อบุคคลอยู่ที่ 0.92%
สำหรับรายได้รวมที่เติบโต 6.7% มาจากดอกเบี้ยบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น 7.5% ดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคลเพิ่มขึ้น 7.9% ค่าธรรมเนียม (ไม่รวมค่าธรรมเนียมในการใช้วงเงิน) เพิ่มขึ้น 4.9% และรายได้อื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากหนี้สูญได้รับคืนคิดเป็น 87.7% ของรายได้อื่นๆ ในขณะที่ค่าใช้จ่ายการบริหารงานเท่ากับ 7,722 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.6% โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านการตลาดที่สูงขึ้น 11.5% ตามการเพิ่มขึ้นของสมาชิกใหม่ทั้งบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล และการเพิ่มโปรโมชันการตลาดเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านบุคคล การบริหารงานอื่นๆ และค่าธรรมเนียมจ่ายเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 3.2% 0.5% และ 0.3% ตามลำดับ บริษัทฯ มีหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น 12.8% จากการตั้งสำรองและตัดหนี้สูญเพื่อคัดกรองให้พอร์ตลูกหนี้มีคุณภาพ ส่วนค่าใช้จ่ายทางการเงินทรงตัวจากความสามารถควบคุมต้นทุนการเงินได้ดี ทำให้บริษัทมีกำไรเติบโตต่อเนื่อง และการมุ่งเพิ่มฐานลูกค้าให้มากขึ้นจะเป็นการสร้างผลกำไรที่ยั่งยืนในอนาคต
นายระเฑียรกล่าวว่า ในปี 2562 ผู้ประกอบการต่างปรับตัวรับมือเศรษฐกิจโลกชะลอจากสงครามการค้าที่ยืดเยื้อย่อมมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และการปรับตัวรับกับกระแสดิจิทัล ทั้งการปรับปรุงกฎหมาย กฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เอื้อให้มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ประโยชน์ ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางการตลาดอย่างชัดเจน สำหรับ KTC ได้ปรับเปลี่ยนแผนงานระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะเศรษฐกิจที่คาดว่าจะชะลอตัวต่อเนื่องถึงปี 2563 การกำหนดแผนกลยุทธ์ควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพบุคลากร จึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นที่ทำให้บริษัทมีกำไรสุทธิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 และยอดลูกหนี้บัตรเครดิตสูงเป็นประวัติการณ์ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งมีพอร์ตลูกหนี้รวมและยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่สูงขึ้น และมีการควบคุมคุณภาพพอร์ตลูกหนี้ที่ดีต่อเนื่อง
“ปี 2563 คาดว่าจะได้รับแรงกดดันจากสภาพเศรษฐกิจโดยรวมที่สูงมาก ตั้งเป้าหมายธุรกิจบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคลและสินเชื่อที่มีทะเบียนรถยนต์เป็นประกันภายใต้ใบอนุญาตของสินเชื่อบุคคล ได้แก่ ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรโดยรวมไม่ต่ำกว่า 15% พอร์ตลูกหนี้รวมเพิ่มขึ้นประมาณ 10% คุม NPL อย่างรัดกุมแต่อาจจะมีอัตราสูงขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย และรักษาระดับกำไรให้ไม่น้อยกว่าเดิม”นายระเฑีนรกล่าว
ส่วนการดำเนิน 3 ธุรกิจใหม่ คือ ธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถยนต์เป็นประกัน ธุรกิจสินเชื่อพิโก ไฟแนนซ์ และธุรกิจสินเชื่อนาโน ไฟแนนซ์ เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ แต่ยังเร็วเกินกว่าที่จะกำหนดเป้าหมายการเติบโตที่ชัดเจน แต่ตั้งใจพัฒนาธุรกิจให้เป็นฐานของบริษัทที่เข้มแข็งในอนาคต การทดสอบและการเข้าสู่ตลาดจึงเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่เร่งรัด โดยเฉพาะท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่มีความท้าทายสูง บริษัทต้องประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตให้ชัดเจนระหว่างทำการทดสอบทุกครั้ง สำหรับการบังคับใช้มาตรฐานบัญชี TFRS9 ในปี 2563 บริษัทฯ มีความพร้อมรับมือไว้แล้ว โดยจะไม่มีผลกระทบต่อการปฏิบัติงานจริงของบริษัทฯ เพียงแต่จะมีการรายงานตัวเลขทางการเงินที่แตกต่างไปจากเดิม