หุ้นไฟฟ้าแรงสูง จับตา RATCH วอลุมหนุน

HoonSmart.com>>หุ้นไฟฟ้าแรงดีไม่มีตก มีข่าวดีข่าวใหญ่สนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2563 บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ราคาปิดที่จุดสูงสุดของวัน 177 บาท บวก 3 บาท หลังประกาศคว้างานช้าง มูลค่า 3,570 ล้านบาท ด้วยการร่วมทุนขายไฟฟ้า 240 เมกะวัตต์ (MW) และระบบผลิตน้ำเย็นแบบรวมศูนย์ 36,000 ตันความเย็นให้กับโครงการใหญ่ One Bangkok  ของกลุ่ม”สิริวัฒนภักดี” นานถึง 30 ปี 

บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) วิ่งแรงมากกว่า 3% ในฐานะหนึ่งในผู้ร่วมทุนกับซีพี จัดตั้ง’กลุ่มธนโฮลดิ้ง’ รับข่าวเซอร์ไพรส์ ศาลปกครองสูงสุดคืนสิทธิประมูลสนามบินอู่ตะเภา มูลค่าโครงการสูงกว่า 2.9 แสนล้านบาท สัมปทาน 50 ปี จากที่ผ่านถูกปรับตก เพราะยื่นเอกสารช้าไป 9 นาที

บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ถูกจุดพลุเล่นได้หลายรอบ อาศัยข่าวกำไรพุ่งชัวร์ หลังซื้อกิจการ บริษัท โกลว์ พลังงาน (GLOW) ราคาวิ่งมาไกลถึง 93.75 บาทและมีโอกาสสูงที่จะทะลุ 100 บาท สร้างกำไรก้อนโตให้กับผู้ถือหุ้นทุกราย โดยเฉพาะบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุด จำนวน 340 ล้านหุ้น หรือ 22.73 % บริษัท ปตท. (PTT) 338 ล้านหุ้นหรือ 22.58% ตามด้วย บริษัท ไทยออยล์เพาเวอร์ 311ล้านหุ้นหรือ 20.79% และบริษัท ไทยออยล์ (TOP)133 ล้านหุ้นหรือ 8.91%

ตอนนี้ เริ่มเห็นพระเอกคนใหม่ บริษัท ราช กรุ๊ป (RATCH) ราคากระโดดพรวดเดียวขึ้นไปปิดที่ 71.50 บาท บวก 3 บาท คิดเป็น 4.38% ด้วยมูลค่าการซื้อขายถึง 917 ล้านบาท วอลุมมากผิดปกติจากที่เคยเปลี่ยนมือวันละ 200-300 ล้านบาทเท่านั้น

นักลงทุนเห็นอะไรดี…

หุ้น RATCH ได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น นับตั้งแต่ “กิจจา ศรีพัฑฒางกุระ” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป ประกาศพัฒนาโมเดลธุรกิจ เพิ่มความยิ่งใหญ่ในธุรกิจไฟฟ้า และขยายโอกาสออกไปสู่ธุรกิจสาธารณูปโภคกว้างขึ้นเรื่อยๆ โดยเห็นการลงทุนเป็นรูปธรรมหลายโครงการ โรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เป้าหมายสร้างกำไรเติบโตสูง เพิ่มมูลค่ากิจการรวมถึง 200,000 ล้านบาทในปี 2566 ซึ่งไม่ไกลเกินฝันสำหรับการเติบโตอีก 1 เท่าตัว จากปัจจุบันบริษัทมีมาร์เก็ตแคปอยู่ที่ประมาณ 103,675  ล้านบาท

บริษัท ราช กรุ๊ป เป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจไฟฟ้ามานาน  ในปี 2561 ได้เปิดตัวเข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน  และเข้าร่วมลงทุนโครงการน้ำประปาแสนดิน ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  หรือสปป. ลาว

ในปี 2562 บริษัทได้เร่งสปีดการลงทุน ร่วม 10 โครงการ ทั้งลงทุนเองและร่วมกับพันธมิตรหลายราย โรงไฟฟ้าบางแห่งถึงเวลาเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) อีกหลายโครงการวางแผน COD ในปี 2563 และ 2564 นอกจากนี้บริษัทได้ลงทุนโครงการโครงข่ายสายใยแก้วนำแสงใต้ดิน ถือหุ้นสัดส่วน 51% ขณะที่เจ้าของโครงการคือ บริษัท เอแอลที เทเลคอม (ALT) ยอมถือหุ้นเพียง 49% เป้าหมายเติบโตในระยะยาว

ต้นปี 2563 RATCH ได้สร้างดีลฮือฮา ขายหุ้น บริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง  49% ให้กับบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ร่วมกันพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมหินกอง ในจ.ราชบุรี กำลังผลิตติดตั้ง 2 ชุด ชุดละ 700 เมกะวัตต์ รวม 1,400 เมกะวัตต์ สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะเวลา 25 ปี กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีกำหนดการเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในปี 2567 สำหรับหน่วยผลิตไฟฟ้าชุดที่ 1 และปี 2568 สำหรับหน่วยผลิตไฟฟ้าชุดที่ 2

“กิจจา” กล่าวว่า บริษัท ราช กรุ๊ป และ กัลฟ์ เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ของประเทศที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในธุรกิจผลิตไฟฟ้า การจับมือกันจะทำให้โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมหินกองสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมได้ดียิ่งขึ้น และยังตอบสนองนโยบายความมั่นคงด้านพลังงานและการส่งเสริมให้ประเทศเป็นศูนย์กลางด้านพลังงานของอาเซียนด้วย นอกจากนี้ยังช่วยให้ระบบไฟฟ้าในภาคตะวันตกและภาคใต้ของประเทศมั่นคงและตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 ราช กรุ๊ป และกัลฟ์ มีทิศทางและเป้าหมายธุรกิจที่สอดคล้องกันจึงมีโอกาสขยายความร่วมมือเป็นพันธมิตรลงทุนโครงการอื่นๆ ในอนาคต ซึ่งจะเสริมหนุนการสร้างมูลค่ากิจการของบริษัทฯ ให้เติบโตบรรลุเป้าหมาย 200,000 ล้านบาทในปี 2566 การสร้างพันธมิตรธุรกิจตอบสนองยุทธศาสตร์การเติบโต  สู่เป้าหมายการเป็นผู้นำด้านพลังงานและระบบสาธารณูปโภคที่มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอีกด้วย”

สิ่งที่ “กิจจา” วางแผนไว้มีความเป็นไปได้สูง เพราะ RATCH เมื่อตัดสินใจร่วมพันธมิตรกับบริษัทใดแล้ว มักจะหาโอกาสขยายโครงการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เหมือนกรณีร่วมทุน ALT ในโครงข่ายสายใยแก้วนำแสงใต้ดิน  ALT ยังเป็นคนกลางเชื่อมให้ RATCH ร่วมลงทุนกับพันธมิตรคือ บริษัท นวนคร จำกัด (NNCL) และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสริมทัพด้วย Graduate School of Design มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด พัฒนาพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร จังหวัดปทุมธานี ให้เป็นเมืองอุตสาหกรรรมอัจฉริยะเต็มรูปแบบ นับเป็นธุรกิจแห่งอนาคต รับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีและนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โครงการนี้จะช่วยบริหารต้นทุนของภาคอุตสาหกรรมและยังตอบสนองไลฟ์สไตล์แบบดิจิทัลของคนในสังคมปัจจุบันได้ดียิ่งขึ้น คาดว่าต้นแบบจะแล้วเสร็จภายในกลางปี 2563

ที่สำคัญ การขายเงินลงทุน ยังเกิดกำไรพิเศษทางบัญชี ทำให้เติบโตก้าวกระโดด สะท้อนถึงราคาหุ้น ทั้งนี้ในช่วง 52 สัปดาห์ที่ผ่านมา RATCH เคยขึ้นไปสูงสุดถึง 83.25 บาท และปัจจุบันปิดที่ระดับ  71.50 บาทซื้อขายระดับ P/E ประมาณ 18 เท่า ดูเหมือนว่าจะไม่จูงใจให้”ลุย” เมื่อเปรียบเทียบกับเป้าหมายเฉลี่ย 77 บาท ที่นักวิเคราะห์ให้ไว้ และมีเพียงบล.ธนชาต เท่านั้นที่ให้คำแนะนำซื้อ มูลค่าเหมาสม 80 บาท ส่วนบล.เอเซียพลัสให้ขาย เป้าหมาย 78 บาท ขณะที่บล.กสิกรไทยและบล.โนมูระพัฒนสินให้น้ำหนักปกติ ราคา 75.70 บาทและ 76 บาท

การขยายการลงทุนยังมีความเสี่ยงที่โครงการไม่เข้าเป้า จนต้องตัดสินใจปิดบริษัทร่วมทุน เช่น  บริษัทราชฯร่วมทุน 25% ในบริษัทไฟฟ้า น้ำงึม 3 ได้จดทะเบียนเลิกบริษัทและชำระบัญชี บริษัทราชฯยังมีคดีใหญ่  บริษัทไทยลาวลิกไนท์ ฟ้องละเมิดความลับทางการค้าโครงการไฟฟ้าพลังความร้อนหงสา ในสปป.ลาว  เรียกทุนทรัพย์เป็นเงินก้อนใหญ่  6,457 ล้านบาท  นับเป็นความเสี่ยงที่นักลงทุนจะต้องระมัดระวังและติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด