หุ้นพุ่ง 16 จุด อิหร่านผ่อนคลาย โพลชี้เป้าดัชนีสิ้นปี 1,679

HoonSmart.com>> หุ้นไทยรีบาวด์ตามภูมิภาค เปิดผลสำรวจนักวิเคราะห์-ผู้จัดการกองทุน คาดปีนี้หุ้นขึ้นแค่ 100 จุด กำไรต่อหุ้นโต 7.79% แนะนำ 5 หุ้นเด่น AOT-BBL-CPF-PTT-PTTEP ทิสโก้คาดอิหร่านตอบโต้ แต่ไม่รุนแรง ทุ่มลงทุนทอง หุ้นเน้นกลุ่มเฮลธ์แคร์ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ รับปันผล ผู้ว่าธปท.จับตาสถานการณ์ตะวันออกกลาง ห่วงราคาน้ำมันเพิ่มดันอัตราเงินเฟ้อเข้าสู่กรอบเป้าหมายเร็วขึ้นกว่ากลางปี 2564 ยันดำเนินนโยบายการเงินรอบคอบ

วันที่ 7 ม.ค.2563 หุ้นไทยรีบาวด์ตามตลาดภูมิภาค หนุนดัชนีปิดที่ 1,585.23 จุด เพิ่มขึ้น 16.73 จุด หรือ +1.07% มูลค่าการซื้อขาย 61,992.82 ล้านบาท จากสถานการณ์ตะวันออกกลางผ่อนคลายลง หลังจากที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐจะพิจารณาลงมติในญัตติการจำกัดอำนาจในการทำสงคราม เพื่อกำจัดการใช้ปฏิบัติการทางทหารของประธานาธิบดีทรัมป์ เกี่ยวกับอิหร่าน

นักลงทุนต่างชาติซื้อ 820 ล้านบาท บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ซื้อ 269 ล้านบาท ส่วนรายย่อยขาย 872 ล้านบาท สถาบันในประเทศขาย 216 ล้านบาท ส่วนฟิวเจอร์ส ต่างชาติกลับมาซื้อ 9,654 สัญญา สถาบันขาย 2,351 และนักลงทุนทั่วไปขาย 7,303 สัญญา

นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน แถลงผลการสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนจำนวน 26 บริษัท คาดการณ์เป้าหมายดัชนีหุ้นสิ้นปี 2563 เฉลี่ยที่ 1,679 จุด เพิ่มขึ้น 100 จุดจากสิ้นปีที่ผ่านมา  คาดกำไรต่อหุ้น (EPS) เฉลี่ย  100.71 บาท จากปี 2562 ที่ 93 บาท หรือเติบโตเฉลี่ย 7.79% และกนง. ควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25 % ส่วนทิศทางตลาดในไตรมาส 1 เสียงส่วนใหญ่คาดทิศทางบวก จุดสูงสุดอยู่ที่ 1,641 จุด และค่าเฉลี่ยต่ำสุดอยู่ที่ 1,537

ส่วน 5 หุ้นเด่นที่นักวิเคราะห์แนะนำตรงกันตั้งแต่ 5 สำนักขึ้นไป ได้แก่ AOT ,BBL ,CPF ,PTT และPTTEP

สำหรับปัจจัยลบต่อการลงทุนได้แก่ เศรษฐกิจไทย การเมืองภายในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศสหรัฐฯกับอิหร่าน อาจจะมีความรุนแรงมากขึ้นอีกระดับ แต่ไม่ถึงขึ้นการเกิดสงคราม

ทางด้านปัจจัยบวกคือเศรษฐกิจต่างประเทศทั้ง สหรัฐฯ ยุโรป เอเชีย รองลงมาคืออัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกา ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน ส่วนข้อเสนอแนะภาครัฐควรเร่งกระตุ้นการลงทุนภาครัฐและเอกชน การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และกระตุ้นการบริโภคการใช้จ่าย

ด้านนายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) เปิดเผยในรายการ “LIVE with Guru เจาะลึกกับผู้รู้เรื่องการลงทุน” ในเพจเฟซบุ๊ก TISCO Advisory ถึงมุมมองต่อเหตุการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกาและอิหร่านนั้น ส่วนตัวมองว่ามีโอกาสค่อนข้างน้อยที่จะลุกลามไปเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 แต่มีโอกาสสูงที่อิหร่านจะออกมาตอบโต้สหรัฐฯ แต่คงไม่รุนแรง ย่อมส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่คงตัวอยู่ในระดับสูงที่ประมาณ 60-65 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล แต่หากเกิดเหตุการณ์สู้รบรุนแรงอาจเห็นราคาทะลุไป 70 ดอลลาร์สหรัฐฯ

ในช่วงนี้แนะนำลงทุนในทองคำเป็นหลัก แต่ราคาปรับขึ้นมามาก อาจจะรอจังหวะเข้าซื้อ ส่วนหุ้นแนะนำกลุ่มเฮลธ์แคร์ แม้ว่าในระยะสั้นอาจได้รับผลกระทบจากการหาเสียงของผู้เข้าชิงประธานาธิบดีสหรัฐฯ บ้าง แต่ในระยะยาวยังเติบโตดีจากเมกะเทรนด์ของโลกที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ นอกจากนี้ยังแนะนำลงทุนในทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เพราะมีอัตราการจ่ายปันผลในระดับที่น่าสนใจ

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและอิหร่านเป็นเรื่องที่จะต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่นำเข้าน้ำมันในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงในแต่ละปี ย่อมทำให้การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลง และราคาพลังงานในตลาดโลกที่สูงขึ้น มีผลมาถึงอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น มีความเป็นไปได้ที่อัตราเงินเฟ้อจะเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้เร็วขึ้นกว่ากลางปี 2564 แต่ยังไม่เปลี่ยนแนวการทำนโยบายการเงิน เพราะต้องดูปัจจัยอื่นด้วย

นายวิรไท กล่าวว่า ในระยะหลัง เงินบาทเริ่มไม่ได้เป็น Safe Haven ในสายตาของนักลงทุนต่างชาติแล้ว ถ้าเทียบกับเงินสกุลที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย จะเห็นว่ามีความต่างกันมาก เพราะภาวะเศรษฐกิจไทยชะลอตัว  เมื่อเงินบาทแข็งค่ามาก นักวิเคราะห์ต่างชาติหลายรายจึงมองในทิศทางกลับด้านว่าเงินบาทควรจะปรับอ่อนค่าลง

“นักลงทุนไม่มองประเทศไทยเป็น safe haven เราเริ่มเห็นมาตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีที่แล้ว รวมทั้งมาตรการหลายอย่างที่เราได้ทำ จับตามองนักลงทุนต่างประเทศใกล้ชิดมากขึ้น เขาก็รู้ว่าการจะเอาเงินเข้ามาพักในไทยทำได้ยากขึ้น ถ้าดูอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรของเราก็ต่ำมาก จากที่เราลดดอกเบี้ยนโยบายไป 2 ครั้ง เราไม่เห็นเงินเข้ามาในตลาดบอนด์ในช่วงไตรมาส 4 ที่ผ่านมา เห็นแต่ออกไปด้วยซ้ำ” ผู้ว่าธปท.กล่าว

ส่วนมาตรการควบคุมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ธปท.ได้มีการประเมินผลและหารือกับผู้ประกอบการในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่อง  พร้อมจะทบทวนหลักเกณฑ์ หากเห็นว่ามีความเข้มงวดมากเกินไป หรือทำให้เกิดผลข้างเคียงที่มากเกินควร ซึ่งหากจะมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ ธปท.จะชี้แจงให้ทราบต่อไป

บล.เคทีบี(ประเทศไทย) มีมุมมองเป็นบวกต่อกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่เน้นคอนโดมิเนียม (ORI, ANAN) หาก ธปท.มีการผ่อนเกณฑ์ LTV บ้านหลังที่ 2 จะช่วยคลายความกดดันกระตุ้นยอดขายได้ดีขึ้น เพราะสัดส่วนการซื้อบ้านหลังที่ 2 อยู่ที่ประมาณ 10% จากยอดขายรวม ส่วนใหญ่จะเป็นคอนโดมากกว่าประมาณ 60 -65% ของยอดขายบ้านหลังที่ 2

ที่ผ่านมาราคาหุ้นผู้ประกอบการคอนโดปรับลงค่อนข้างมาก ได้แก่ ORI (-59%), LPN (-56%), ANAN (-51%) ขณะที่หุ้นกลุ่มอื่นลดลงมากเช่นกัน PSH (-31%), QH (-25%), SPALI (-25%)

“หากธปท.ผ่อนเกณฑ์ LTV คาดว่าราคาหุ้น ORI, ANAN จะมีการปรับขึ้นมากสุด ส่วน LPN เรายังมองมีความเสี่ยงจากผลการดำเนินงานปี2563 ที่ยังชะลอตัวจาก backlog ที่ต่ำมาก ให้น้ำหนักการลงทุนกลุ่มอสังหาฯเท่ากับตลาด หุ้น top pick ได้แก่ SPALI (ซื้อ / เป้า 20  บาท) จากแนวโน้มกำไรปี 2563 ที่จะเติบโตได้ดีกว่ากลุ่ม และคาดว่าจะได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นภาครัฐมากสุด และ ORI (ซื้อ / เป้า 8.50 บาท) จากราคาถูกสุดในกลุ่ม  P/Eปีนี้ที่ 6.1 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ 7.1 เท่า และ  ANAN (ถือ / เป้า 3.10 บาท) ” บล.เคทีบีฯ ระบุ