โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP
เริ่มปีใหม่แล้ว หลายท่านคงดีใจกับเงินเดือนใหม่ โบนัสใหม่ เมื่อรายได้เพิ่ม แน่นอนสิ่งที่เพิ่มด้วยอีกอย่าง ก็คือ ภาษี เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว ทำอย่างไรกันดี ถึงจะเสียภาษีน้อยลง การวางแผนภาษีจึงเป็นเรื่องที่ทุกคนที่เสียภาษีควรศึกษา
การวางแผนภาษี คือการเตรียมการเพื่อเสียภาษีให้ถูกต้อง ครบถ้วน และประหยัด การทำให้ไม่ต้องชำระภาษีหรือการทำให้เสียภาษีน้อยที่สุดโดยวิธีการที่ถูกต้องตามกฎหมาย
การวางแผนภาษีจึงไม่ใช่การหลบหรือหนีภาษี แต่เป็นการวางแผนเพื่อลดภาระภาษีตามสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ภาครัฐได้มอบให้ ดังนั้น กฎข้อแรกของการวางแผนภาษี คือ ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย และอย่าลืมยื่นแบบภาษี
เนื่องจากการคิดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของกรมสรรพากรจะคิดจากเงินได้สุทธิ ยิ่งเงินได้สุทธิสูง อัตราภาษีก็ยิ่งสูง (ตามตาราง) เราก็จะยิ่งเสียภาษีแพงมากขึ้นเท่านั้น
การวางแผนภาษีจึงมีเป้าหมายคือ ทำให้เงินได้สุทธิต่ำให้มากที่สุด จะทำได้ยังไง ก็ดูจากสมการของเงินได้สุทธิ คือ
เงินได้สุทธิ = เงินได้พึงประเมิน – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน
กลยุทธ์การวางแผนภาษีเพื่อลดเงินได้สุทธิจึงมี 3 กลยุทธ์หลักๆ คือ
1. กลยุทธ์ทำลายเงินได้พึงประเมิน
2. กลยุทธ์เพิ่มค่าใช้จ่าย
3. กลยุทธ์เพิ่มค่าลดหย่อน
การวางแผนภาษีจึงมีสามารถแบ่งได้ง่ายๆ 4 วิธี ดังนี้
1. การใช้สิทธิหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนให้ครบถ้วน
เรามาเริ่มกันที่วิธีแรกกันเลยครับ คือ “การใช้สิทธิหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนให้ครบถ้วน“ ทำไมถึงต้องสนใจเรื่องนี้ เหตุผลเพราะ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะคำนวณจากฐานเงินได้สุทธิ ซึ่งเท่ากับ เงินได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน ดังนั้น หากต้องการเสียภาษีให้น้อย ก็ต้อง เพิ่ม ค่าใช้จ่าย เพิ่มค่าลดหย่อน ให้มากที่สุด
ค่าใช้จ่ายจะขึ้นอยู่กับประเภทเงินได้ ซึ่งมีอยู่ 8 ประเภท โดยเงินได้ประเภทที่ 1 – 4 เป็นเงินได้ที่หักค่าใช้จ่ายได้น้อย ส่วนเงินได้ประเภทที่ 5 – 8 จะหักค่าใช้จ่ายได้มาก เราจึงควรวางแผนให้เงินได้ของเราเป็นเงินได้ประเภท 5 – 8
ค่าลดหย่อนที่กรมสรรพากรให้สิทธิกับเรามีมากมาย เช่น เบี้ยประกันชีวิต เงินบริจาค เงินลงทุนใน RMF หรือ LTF ฯลฯ เราจึงควรใช้สิทธิประโยชน์ด้านค่าลดหย่อนดังกล่าวอย่างเต็มเงื่อนไข
2.การย้ายรายได้ไปยังบุคคลที่มีฐานรายได้ต่ำกว่า หรือ การแยกหน่วยภาษี
หลักของวิธีนี้ คือ การลดภาษี เนื่องจากระบบภาษีของไทยเป็นแบบอัตราก้าวหน้า ยิ่งมีรายได้สูง ยิ่งต้องเสียภาษีสูงดังนั้นเพื่อเป็นการประหยัดภาษี เราจึงควรทำให้เงินได้ที่จะประเมินภาษีให้น้อยที่สุด ในวิธีแรก วิธีแรกเราาทำโดยการเพิ่มค่าใช้จ่ายหรือค่าลดหย่อนอย่างที่คุยไปแล้ว ส่วนวิธีที่สอง เราจะทำโดยการกระจายรายได้ให้บุคคลอื่นที่มีฐานรายได้ต่ำกว่า หรือ แยกหน่วยภาษี เช่น ตั้งบริษัท ซึ่งมีประโยชน์ด้านภาษีมากโดยเฉพาะผู้ที่รายได้มากๆ ยิ่งคนที่มีเงินได้สุทธิมากกว่า 2 ล้านบาทขึ้นไป เพราะต้องเสียภาษีในอัตรา 30% เทียบกับภาษีที่เจ้าของธุรกิจเสียจริงๆเพียง 28% ฯลฯ ซึ่งเมื่อคำนวณภาษีที่ต้องเสียแล้ว เราก็จะเสียภาษีน้อยกว่าการรวมรายได้นั้นเป็นฐานรายได้ของเราเอง
3. การหาเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษี
มีเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีหลายอย่าง เช่น ดอกเบี้ยจากการฝากเผื่อเรียกไว้กับธนาคารออมสิน หรือดอกเบี้ยสลากออมสิน ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ที่ได้รับจากสหกรณ์ หรือ ธกส กำไรจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ฯลฯ หากเราสามารถมีเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเหล่านี้ยิ่งมาก เราก็ยิ่งประหยัดภาษีได้มาก
4.การลงทุนในหลักทรัพย์เพื่อได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี
คือ การแสวงหาเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีหรือได้ลดหย่อนภาษีจากการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างๆ โดยผู้ลงทุนจะได้รับประโยชน์ทางภาษี 2 ขั้น คือ
• เงินลงทุนได้ลดหย่อนภาษี
• ผลตอบแทนของเงินลงทุนได้รับยกเว้นภาษี
ตัวอย่างของการลงทุนที่ได้รับประโยชน์ทางภาษีแบบนี้ ได้แก่ การซื้อประกันชีวิต RMF LTF หรือ ประกันบำนาญ
หากทำตามวิธีที่แนะนำเหล่านี้ เราก็สามารถลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ต้องเสียได้บ้างแม้ว่าจะไม่มากนัก แต่ก็เราสบายใจ หลับสบาย เพราะทำถูกกฎหมายครับ