เคจีไอเชียร์ซื้อ KBANK-SCB พอร์ตหนุนกำไรไตรมาส 4 โต

HoonSmart.com>>บล.เคจีไอแกะงบดุลกลุ่มแบงก์เดือนพ.ย. พบโยกเงินออกจากปล่อยกู้ผ่านตลาดเงินเพิ่มพอร์ลงทุน ธนาคารกรุงเทพ-กรุงไทย-ไทยพาณิชย์ขยายการลงทุนมากที่สุด

บล.เคจีไอ(ประเทศไทย) แนะนำเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากราคาหุ้นถูก และเลือกธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กับธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เป็นหุ้นเด่น

ประเด็นน่าสนใจลงทุนหุ้นแบงก์มาจากงบดุลเดือนพ.ย. 2562 ที่มีการขยายพอร์ตการลงทุน โดยพบว่า ธนาคารกรุงเทพ (BBL),ธนาคารกรุงไทย( KTB ) และ SCB มีการขยายพอร์ตลงทุนอย่างแข็งขัน โดยพอร์ตของ KTB และ SCB เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาสองเดือนแล้ว โดยเฉพาะ KTB โตถึง 33% จากเดือนต.ค. และ 96% ระยะเดียวกันปีก่อน ในขณะที่พอร์ตของ SCB ก็โตถึง 34% จากเดือนก่อน และ 33% ระยะเดียวกันปีก่อน คิดว่าสัดส่วนการปล่อยกู้ ในตลาดเงินที่ลดลง จะหนุนให้อัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ในไตรมาส 4 เพิ่มขึ้น เพราะอัตราผลตอบแทนจากตลาดเงินตามปกติจะอยู่ที่ประมาณ 1.5% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนจะอยู่ที่ประมาณ 2%

ธนาคารส่วนใหญ่มีการโยกสินทรัพย์จากการปล่อยกู้ในตลาดเงินมาลงในพอร์ตลงทุนแทน ทำให้พอร์ตลงทุนรวมของกลุ่มธนาคารขยายตัว 11% จากเดือนต.ค. และ 30% จากเดือนพ.ย.2561

แต่อีกด้านหนึ่งพอร์ตลงทุนของ KBANK,ธนาคารเกียรตินาคิน ( KKP) และ บริษัท ทุนธนชาต(TCAP) ในเดือนพ.ย.กลับลดลง ทั้งนี้พอร์ตลงทุนของ BBL ทำสถิติสูงสุดในเดือนพ.ย.ที่ 6.49 แสนล้านบาท คิดเป็นประมาณ 21% ของสินทรัพย์รวมของธนาคาร ซึ่งมาจากการโยกสภาพ คล่องส่วนเกินจากตลาดเงิน ในขณะที่สินเชื่อไม่ขยายตัว

ในเดือนพ.ย.กิจกรรมการปล่อยกู้ยังซบเซา สินเชื่อรวมยังแทบไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อนหน้า โดยขยายตัวเพียงแค่ 0.3% จากเดือนต.ค. และเพิ่มขึ้น1% จากช่วงเดียวกันปีก่อนโดยแนวโน้มภาพรวมของแต่ละธนาคารก็คล้ายคลึงกัน ทั้งนี้ KBANK ยังสามารถขยายสินเชื่อได้อย่างต่อเนื่องที่ 1.2% จากเดือนต.ค., +3% จากสิ้นปีก่อน และ +4% จากระยะเดียวกันปีก่อน ในขณะที่สินเชื่อของ BBL โตขึ้นเพียง 1%จากเดิอนต.ค. ซึ่งยังไม่สามารถจะช่วยให้ยอดสินเชื่อที่ติดลบอยู่ที่ -4% จากสิ้นปี ให้กลับมาเป็นบวกได้

ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินยังคงไม่เปลี่ยนไปจากเดิม ความต้องการสินเชื่อยังคงชะลอตัว ในขณะที่ธนาคารส่วนใหญ่โยกสินทรัพย์ไปลงในพอร์ตการลงทุนเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของตราสารหนี้ ทั้งนี้การนำมาตรฐาน IFRS9 มาใช้ในปี 2563 ทำให้ธนาคารต่างๆ พากันปรับพอร์ตการลงทุน และรับรู้กำไรจากการลงทุนบางส่วน ทำให้เกิดกำไรจากการลงทุนมากกว่าปกติในไตรมาส 4

ปัจจัยเสี่ยงการลงทุนในหุ้นแบงก์ คือ เศรษฐกิจโตน้อยกว่า 2.8% ต่อเนื่องในปี 2563 ทำให้ NPL เกิดใหม่เพิ่มขึ้น และต้องกันสำรองเพิ่ม