HoonSmart.com>>”วิลล่า คุณาลัย” สอบผ่าน เข้าตลาด maiวันแรก เปิดต่ำ ปิดเหนือจองที่ 1.11 บาท โมเดลธุรกิจหนุนรายได้-กำไรปี 63 โตเท่าตัวจากปี 61 ส่วนโรงพยาบาลอินเตอร์เมดิคัล แคร์ แอนด์ แล็บ เตรียมเปิดจอง 18-20 ธ.ค.เทรด 26 ธ.ค. SCC ยื่นไฟลิ่ง “เอสซีจี แพคเกจจิ้ง” ขาย 1,370 ล้านหุ้น รวมกรีนชู
หุ้นบริษัทวิลล่า คุณาลัย (KUN) เข้าจดทะเบียนและซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ(mai) วันที่ 17 ธ.ค.2562 โดยเปิดที่ราคา 1.02 บาท และลงไปต่ำสุดที่ 0.94 บาทก่อนฟื้นกลับมาปิดที่ 1.11 บาท เพิ่มขึ้น 0.01 บาทหรือ 0.91% จากราคาจองที่ 1.10 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขายรวม 79 ล้านบาท ขณะที่ตลาดหุ้นโดยรวมลดลง 1.09 จุด ปิดที่ระดับ 1,548.65 จุด
นาง ประวีรัตน์ เทวอักษร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วิลล่า คุณาลัย (KUN) ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แนวราบเพื่อขาย อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี มากกว่า 10 ปี กล่าวว่า บริษัทฯมั่นใจว่ามีปัจจัยพื้นฐานที่ดี โดยตั้งเป้ารายได้และกำไรปี 2563 โตขึ้นเท่าตัวจากปี 2561ที่มีรายได้ 447.09 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 11.56 ล้านบาท วางแผนจะเปิด 1โครงการ ชื่อ คุณาลัย จอย 2 บางบัวทอง มูลค่าโครงการประมาณ 1,500 ล้านบาท พร้อมตั้งเป้าปิดการขาย 3 โครงการในต้นปี 2563
ปัจจุบันบริษัทมี 7 โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างและขาย มูลค่ารวมโครงการ 3,900 ล้านบาท รับรู้ไปแล้วกว่า 1,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะทยอยรับรู้เพิ่มในปี 2563-2564 ณ สิ้นเดือนก.ย.2562 มียอด Backlog ที่ 167 ล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัทมีการขยายพื้นที่ในการลงทุนไปจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยเมื่อวันที่ 9 พ.ย.2562 บริษัทได้เปิดโครงการใหม่ ชื่อ คุณาลัย จอย ออน 314 ซึ่งเป็นโครงการแรกในโซนพื้นภาคตะวันออก เนื่องจากบริษัทมองว่าทำเลมีศักยภาพอัตราการเติบโต และมีความต้องการของแหล่งที่อยู่อาศัย เช่นเดียวกับย่านบางบัวทอง ประกอบกับเขตพื้นที่บริเวณดังกล่าวอยู่ในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ด้วย พร้อมมีแผนการขยายให้ครบ 4 ทิศของกรุงเทพมหานคร เพื่อก้าวสู่ความเป็นผู้นำด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แนวราบในเขตปริมณฑล
” บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการขายหุ้น IPO จำนวน 150 ล้านหุ้น ที่ราคาหุ้นละ 1.10 บาทไปขยายการลงทุนและลดต้นทุนทางการเงิน ส่งผลให้ภาพรวมของเราดียิ่งขึ้น “นางประวีรัตน์ กล่าว
ทางด้านบริษัทโรงพยาบาลอินเตอร์เมดิคัล แคร์ แอนด์ แล็บ (IMH) กำหนดราคาเสนอขายหุ้นละ 6 บาท พาร์หุ้นละ 0.50 บาท เปิดให้จองซื้อหุ้นจำนวน 55 ล้านหุ้น ระหว่างวันที่ 18-20 ธ.ค.นี้ และคาดว่าจะเข้าซื้อขายในตลาด mai ในวันที่ 26 ธ.ค.62
นายกอบเกียรติ บุญธีรวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.เอเชีย เวลท์ ผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กล่าวว่า ความน่าสนใจของหุ้น IMH เป็นโรงพยาบาลที่ให้บริการแบบเชิงรุกนอกสถานที่ (Mobile Checkup) พร้อมด้วยประสบการณ์ให้บริการตรวจสุขภาพนอกสถานที่ 23 ปี จุดเด่นคือมีกลุ่มลูกค้าครอบคลุมในหลายอุตสาหกรรมทั่วประเทศ พร้อมบริการตรวจสุขภาพครบวงจรในแบบต่างๆ มีศักยภาพรองรับการตรวจสุขภาพลูกค้าได้มากถึง 5,000 คน ต่อวัน และให้บริการได้สูงสุดถึง 31 จุดบริการต่อวัน จึงครอบคลุมได้เกือบทุกพื้นที่
ด้านนายสิทธิวัตน์ กำกัดวงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร IMH กล่าวว่า ขณะนี้มีนักลงทุนสถาบันแสดงความสนใจจองซื้อหุ้นจำนวน 5.54 ล้านหุ้น ส่วนเงินที่ระดมทุน จำนวน 330 ล้านบาท นำไปใช้ปรับปรุงและขยายสาขาใหม่ พร้อมทั้งการจัดซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ และชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน
นายเอกจักร บัวหภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แคปปิตอล วัน พาร์ทเนอร์ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า ประเทศไทยถือเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของธุรกิจการให้บริการตรวจสุขภาพและธุรกิจการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อม จึงทำให้ธุรกิจนี้มีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่อง และบริษัทยังมีจุดแข็งในการแข่งขันด้านราคา โดยมีการบริหารรายได้เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของรายได้ตามฤดูกาลของธุรกิจตรวจสุขภาพประจำปี
ส่วนผลการดำเนินงานในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2559-2561) และงวด 9 เดือนแรกของปี 2562 มีรายได้รวม 285.51 ล้านบาท 273.20 ล้านบาท 320.25 ล้านบาท และ 237.32 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 37.58 ล้านบาท 14.85 ล้านบาท 14.06 ล้านบาท และ 6.72 ล้านบาท ตามลำดับ
บริษัทปูนซิเมนต์ไทย(SCC) เปิดเผยว่า วันที่ 17 ธ.ค. 2562 บริษัทย่อยคือ เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP)ได้ยื่นไฟลิ่ง โดยจะเสนอขายหุ้นไม่เกิน 1,374ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 1 บาท แบ่งเป็นหุ้นเพิ่มทุน 1,194.8 ล้านหุ้น และอาจมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกินจำนวนไม่เกิน 179.2 ล้านหุ้น รวมจะมีสัดส่วนไม่เกิน 30% ของทุนชำระแล้ว โดยมีบล.ไทยพาณิชย์ เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และบล.บัวหลวง เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการ วัตถุประสงค์การใช้เงิน เพื่อใช้ขยายกำลังการผลิตของ SCGP และ/หรือการควบรวมกิจการ (Inorganic) , ชำระคืนเงินกู้ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน
SCGP ประกอบธุรกิจโฮลดิ้ง เพื่อให้บริการโซลูชั่นด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นำเสนอทั้งบรรจุภัณฑ์จากเยื่อและกระดาษ (Fiber-Based Packaging) บรรจุภัณฑ์จากวัสดุสมรรถนะสูงและโพลิเมอร์ (Performance and Polymer Packaging : PPP) และภาชนะบรรจุอาหาร (Food Service Products) พร้อมบริการออกแบบ การพิมพ์และโซลูชั่นที่หลากหลายตามที่ลูกค้าต้องการ โดย SCGP เป็นผู้ผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์รายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีกำลังการผลิตรวม 4.0 ล้านตัน/ปี และเป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กล่องลูกฟูกรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีกำลังการผลิตรวม 1.1 ล้านตัน/ปี
ผลการดำเนินงานปี 2559-2561 บริษัทมีรายได้จากการขาย 74,542 ล้านบาท 81,455 ล้านบาท และ 87,255 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่มีกำไร 3,851 ล้านบาท 5,374 ล้านบาท และ 6,826 ล้านบาทตามลำดับ ขณะที่งวด 9 เดือนแรกปี 62 มีรายได้จากการขาย 65,975 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 65,972 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไร 4,571 ล้านบาท ลดลงจาก 5,218 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะอัตรากำไรได้รับผลกระทบค่าใช้จ่ายผลประโยชน์ของพนักงานจากการปรับปรุงเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานจำนวน 527 ล้านบาท และการเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมจาก SCC เพื่อเป็นเงินทุนในการควบรวมกิจการ และการบันทึกการรวมเงินกู้ยืมของบริษัทต่าง ๆ ที่ SCGP ควบรวมกิจการมา