HoonSmart.com>> ก.ล.ต. เปิดเผยความคืบหน้าการส่งเสริมให้เอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพมีทางเลือกในการระดมทุนผ่านตลาดทุน ปัจจุบันอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นการระดมทุนในตลาดแรก ส่วนหลักเกณฑ์การจัดตั้งตลาดรองในการซื้อขายหลักทรัพย์ของเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ คาดว่าจะได้ข้อสรุป 19 ธ.ค.นี้ พร้อมมีแนวทางปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้เหมาะสมเพื่อลดอุปสรรคในกระบวนการระดมทุน อาทิ การจัดส่งงบการเงิน และคุณสมบัติ CFO และผู้สอบบัญชี
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุนไทยให้ความสำคัญในการส่งเสริมให้เอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพมีทางเลือกในการระดมทุนผ่านตลาดทุน โดยการออกหุ้นหรือตราสารหนี้ได้ตามความเหมาะสมของภาคธุรกิจ โดย ก.ล.ต. ได้เปิดให้สามารถระดมทุนผ่านคราวด์ฟันดิง (crowdfunding) ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากพัฒนาการด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อทำให้กระบวนการระดมทุนสำหรับเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพเป็นไปด้วยความง่าย สะดวก และรวดเร็ว
นอกจากนี้ ตั้งแต่มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้ศึกษาแนวทางเพิ่มเติมในการส่งเสริมให้เอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพสามารถเข้าถึงแหล่งทุนในตลาดทุน โดยได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันประเมินปัญหาและอุปสรรคของเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพอย่างเป็นระบบ และในเดือนกันยายน 2562 ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานเสริมสร้างวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วิสาหกิจเริ่มต้นกิจการเงินร่วมลงทุน นิติบุคคลร่วมลงทุนสู่ตลาดทุนไทย หรือ คณะทำงาน SMEs Startup PE VC ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย* เพื่อกำหนดมาตรการสนับสนุนการระดมทุนของเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ ในตลาดทุนทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยคำนึงถึงความสมดุลของกฎเกณฑ์ ทั้งในฝั่งผู้ระดมทุนและผู้ลงทุนที่มีความสนใจลงทุนในกิจการในระดับดังกล่าว โดยในช่วงที่ผ่านมา สามารถสรุปการดำเนินการของ ก.ล.ต. ได้ดังนี้
1. ในการระดมทุนในตลาดแรก: ในเดือนสิงหาคม 2562 ก.ล.ต. ได้เสนอคณะกรรมการ ก.ล.ต. พิจารณาเปิดช่องทางให้บริษัทจำกัดสามารถระดมทุนในตลาดแรกผ่านการเสนอขายหุ้นและหุ้นกู้แปลงสภาพต่อผู้ลงทุนและพนักงานโดยตรงได้เป็นครั้งแรก ทั้งนี้ ไม่เกิน 10 ราย 20 ล้านบาท เพื่อช่วยให้เอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพสามารถระดมทุนได้สะดวกมากขึ้นและจูงใจพนักงานที่มีศักยภาพให้เข้ามาร่วมงานกับเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ดังกล่าวจนถึงวันที่ 25 ธันวาคม 2562 ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถออกหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ภายในต้นปี 2563
2. ในการซื้อขายผ่านตลาดรอง: ก.ล.ต. ได้มีการหารือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เกี่ยวกับแนวทางในการวางหลักเกณฑ์การซื้อขายหุ้นของเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพในตลาดรองมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายเปิดให้ผู้ลงทุนในตลาดรองสามารถลงทุนและซื้อขายเปลี่ยนมือหุ้นของเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพได้ โดยต้องเป็นผู้ลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจในธุรกิจเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ โดย ก.ล.ต. จะหารือคณะทำงาน SMEs Startup PE VC ในการประชุมวันที่ 19 ธันวาคม 2562 นี้ เกี่ยวกับเกณฑ์การรับหลักทรัพย์ เพื่อนำมาใช้กำหนดหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องต่อไป
3. การปรับปรุงกฎเกณฑ์ให้มีความเหมาะสม: เพื่อมิให้เอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพมีต้นทุนในการระดมทุนที่สูงจนเกินไป ก.ล.ต. มีแนวคิดที่จะส่งเสริมให้เอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีโดยจัดทำรายงานทางการเงินโดยใช้แอปพลิเคชัน รวมทั้งจะพิจารณาความเหมาะสมในการเปิดให้จัดส่งงบการเงินเฉพาะงบครึ่งปีและงบปี (จะยกเว้นการจัดส่งงบไตรมาส 1 และไตรมาส 3) และไม่กำหนดคุณสมบัติ CFO และไม่บังคับให้ใช้ผู้สอบบัญชีที่อยู่ในรายชื่อที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. ได้ หากปฏิบัติงานในสำนักงานสอบบัญชีที่ ก.ล.ต. ให้ความเห็นชอบ
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า “ในเดือนมิถุนายน 2562 เป็นครั้งแรกที่ ก.ล.ต. ได้ริเริ่มมีแนวคิดที่จะพิจารณาทบทวนเกณฑ์การออกและเสนอขายหลักทรัพย์ของเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพในตลาดแรกและตลาดรอง เพื่อเพิ่มช่องทางให้ธุรกิจที่มีศักยภาพ มีโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนในตลาดทุนได้ และต่อมาในเดือนกันยายน ก็ได้ริเริ่มจัดตั้งคณะทำงาน SMEs Startup PE VC ซึ่งมีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาระบบนิเวศที่เกี่ยวข้อง ระบุปัญหาและอุปสรรค รวมทั้งกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกัน โดยคาดว่าวันที่ 19 ธันวาคม 2562 นี้ จะได้ข้อสรุปเบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดตั้งตลาดรองในการซื้อขายหลักทรัพย์ของเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ รวมทั้งการกำหนดคุณสมบัติของผู้ลงทุนที่สามารถลงทุนได้”