HoonSmart.com>> บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ พร้อมเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ 16 ธ.ค.นี้ นักลงทุนเชื่อมั่นศักยภาพ ผู้นำธุรกิจบริหาร NPLs-NPAs ประสบการณ์กว่า 20 ปี นักลงทุนสถาบันชั้นนำทั้งใน-ต่างประเทศตอบรับ ไอพีโอที่ราคาสูงสุด 17.50 บาท โชว์ผลงาน 9 เดือน/62 กำไรโต 47.5% แตะ 4.9 พันล้านบาท
นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยินดีต้อนรับบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) เข้าจดทะเบียนและเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)ในกลุ่มอุตสาหกรรมธุรกิจการเงิน หมวดเงินทุนและหลักทรัพย์ ในวันที่ 16 ธ.ค.2562
นางทองอุไร ลิ้มปิติ ประธานกรรมการ บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) กล่าวว่า BAM เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นโอกาสสำหรับประชาชนและนักลงทุนที่สนใจสามารถเป็นเจ้าของบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ และมีเครือข่ายสาขาและสำนักงานมากที่สุดครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาค พร้อมศักยภาพในการสร้างโอกาสในทุกภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงการเติบโตจากสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPLs) และทรัพย์สินรอการขาย (NPAs) ในระบบธนาคารที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง
สำหรับผลการดําเนินงานงวด 9 เดือน/ 2562 บริษัทมีรายได้รวม 9,206 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43.4% จากงวดเดียวกันของปี 2561 และมีกำไรสุทธิ 4,882 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 47.5% จากงวดเดียวกันของปี 2561
“การเข้าจดทะเบียนและซื้อขายหุ้นในวันที่ 16 ธ.ค.2562 เป็นก้าวแห่งความสำเร็จที่บุคคลากรของ BAM ทุกคนภาคภูมิใจ เพราะจะเป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารงานให้เทียบเท่าบริษัทเอกชน เพิ่มแหล่งเงินทุนที่หลากหลายสำหรับการขยายธุรกิจในอนาคต และลดภาระหนี้ ตลอดจนใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มความคล่องตัวในการประกอบธุรกิจ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ตอบสนองต่อสถานการณ์และสภาพแวดล้อมธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป บริษัทฯ พร้อมรับมือผลกระทบทางภาษี มาตรฐานบัญชีฉบับใหม่ (TFRS 9) และมั่นใจถึงผลประกอบการที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง คาดว่าบริษัทฯ จะสามารถจ่ายเงินปันผลได้จากกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งและมั่นคง เพื่อสร้างผลตอบแทนระยะยาวให้แก่ผู้ถือหุ้น”นางทองอุไร กล่าว
หลังการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ BAM ยังคงเป็นกลไกที่สำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการแก้ปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ และทรัพย์สินรอการขายจากสถาบันการเงินต่างๆ ให้กลับมาเป็นสินทรัพย์ที่มีคุณภาพ และหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ โดยนับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัทฯ จนถึงวันที่ 30 ก.ย. 2562 BAM สามารถปิดบัญชีเงินให้สินเชื่อจากการซื้อลูกหนี้ NPLs คำนวณจากมูลค่าต้นทุนจากการซื้อไปแล้วจำนวนกว่า 90,000 ล้านบาท
นายสมพร มูลศรีแก้ว กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) เปิดเผยว่า หลังขายหุ้นต่อประชาชนเป็นครั้งแรกรวม 1,765 ล้านหุ้น โครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ของ BAM มีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ถือหุ้น 41.46% บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ยูบีเอส (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายหุ้นในต่างประเทศ 10.69% กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นระยะยาว 1.53% ส่วนราคาเสนอขายหุ้นละ 17.50 บาท พาร์หุ้นละ 5 บาท กำหนดจากวิธีการสำรวจความต้องการซื้อหุ้นของผู้ลงทุนสถาบันในแต่ละระดับราคา (Book building) คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อมูลค่าตามบัญชีต่อหุ้น (P/BV) ที่ 1.73 เท่า หลังจ่ายปันผลระหว่างกาลจากงบการเงินงวด 9 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 62
ทั้งนี้ BAM มีนโยบายการจ่ายเงินปันผล ในอัตราไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิหลังหักภาษีเงินได้ตามงบการเงินเฉพาะกิจการ และภายหลังการจัดสรรทุนสำรองตามกฎหมาย
BAM มีทุนชำระแล้ว 15,075 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 5 บาท เสนอขายหุ้นต่อประชาชนเป็นครั้งแรกรวม 1,765 ล้านหุ้น ประกอบด้วยหุ้นเดิมของกองทุนฟื้นฟูฯ 1,255 ล้านหุ้น หุ้นเพิ่มทุน 280 ล้านหุ้น และจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (กรีนชู) 230 ล้านหุ้น หากไม่รวมการจัดสรรหุ้นส่วนเกินจำนวน 230 ล้านหุ้น มูลค่าเสนอขาย 26,862.50 ล้านบาท มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ณ ราคา IPO เท่ากับ 52,762.50 ล้านบาท โดยมีบล.กสิกรไทย และบล. ทรีนีตี้ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่าย
BAM จัดตั้งขึ้นในปี 2542 ภายใต้พระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 เพื่อบริหารจัดการ NPLs และ NPAs ของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ (BBC) ซึ่งเป็นผลจากวิกฤตการณ์ทางการเงินปี 2540 และขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจให้ครอบคลุมการบริหารจัดการ NPLs และ NPAs ที่ได้มาจากสถาบันการเงินอื่น ด้วยประสบการณ์ที่ยาวนานกว่า 20 ปี จึงทำให้เป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุด และมีเครือข่ายมากที่สุดครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ