ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ประเทศไทยจะเริ่มใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงิน (TFRS) กลุ่มเครื่องมือทางการเงิน* ตามที่สภาวิชาชีพบัญชีกำหนด ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทย ที่จะช่วยยกระดับการรายงานทางการเงินของไทยให้เป็นมาตรฐานสากลมากขึ้น ทำให้งบการเงินของบริษัทจดทะเบียนในตลาดทุนไทยมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น และสามารถเปรียบเทียบกับงบการเงินในตลาดทุนต่างประเทศได้
ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล จึงสนับสนุนการใช้มาตรฐานการบัญชีที่สอดคล้องกับสากล เพื่อให้งบการเงินของบริษัทจดทะเบียนมีความน่าเชื่อถือและนักลงทุนนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนได้อย่างมั่นใจ รวมทั้งยังพัฒนาการเชื่อมโยงระหว่างตลาดทุนไทยกับตลาดทุนโลกอย่างยั่งยืน
“กิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ” เช่น บริษัทมหาชน บริษัทจดทะเบียน บริษัทที่ยื่นขอเสนอขายตราสารทุนหรือตราสารหนี้ต่อประชาชน สถาบันการเงิน บริษัทประกันชีวิต ประกันวินาศภัย บริษัทหลักทรัพย์ และกองทุนรวม เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจาก TFRS กลุ่มเครื่องมือทางการเงินโดยตรง รวมถึงบริษัทย่อยของบริษัทที่ต้องใช้ TFRS เช่น บริษัทย่อยของบริษัทจดทะเบียน (แม้ว่าตัวบริษัทย่อยนั้นจะไม่ได้เป็นกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ) ก็ต้องจัดเตรียมข้อมูลตาม TFRS เพื่อใช้ในการจัดทำงบการเงินรวมของบริษัทแม่
เมื่อพูดถึงกิจการที่ได้รับผลกระทบจาก TFRS โดยเฉพาะมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) ซึ่งเกี่ยวกับการจัดประเภทและการวัดมูลค่าของเครื่องมือทางการเงิน การรับรู้ด้อยค่า และการบัญชีป้องกันความเสี่ยง หลายท่านอาจจะประเมินว่ากลุ่มธุรกิจการเงินน่าเป็นห่วงมากที่สุด เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงหลักการคำนวณการตั้งสำรองเงินให้สินเชื่อ โดยกำหนดให้ต้องประมาณและบันทึกตั้งแต่วันแรกที่ปล่อยสินเชื่อ และประเมินความเสี่ยงที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย ส่งผลให้การตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ (NPL) จะเกิดเร็วขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันธนาคารพาณิชย์และบริษัทจดทะเบียนในธุรกิจการเงินส่วนใหญ่ได้เตรียมระบบงานและทยอยตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพื่อรองรับการใช้ TFRS 9 กันบ้างแล้ว ดังนั้น งบการเงินในงวดแรกที่จะใช้ TFRS 9 คงไม่ได้มีผลกระทบที่รุนแรง แต่กลับจะทำให้สามารถสะท้อนฐานะการเงินและผลการดำเนินงานที่แท้จริงของกิจการได้ดีมากขึ้น
ขณะที่ธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่ธุรกิจการเงิน จะได้รับผลกระทบจาก TFRS 9 เช่นเดียวกัน แต่จะแตกต่างกันออกไปตามลักษณะธุรกิจ เช่น
บริษัทที่มีลูกหนี้การค้า ต้องบันทึกค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญตั้งแต่วันแรกที่เกิดหนี้การค้า และคำนึงถึงการประเมินความเสี่ยงที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย
บริษัทที่ลงทุนในหุ้นของบริษัทนอกตลาดฯ ต้องวัดมูลค่าด้วยวิธีมูลค่ายุติธรรม จากปัจจุบันที่บันทึกบัญชีด้วยวิธีราคาทุน
บริษัทที่มีเงินลงทุนในตราสารหนี้ หากการลงทุนนั้นได้รับกระแสเงินสดจากรายการอื่น ที่ไม่ใช่เพียงเงินต้นและดอกเบี้ย บริษัทต้องวัดด้วยวิธีมูลค่ายุติธรรมแทนวิธีราคาทุนตัดจำหน่าย
บริษัทที่ซื้อสัญญาแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า เพื่อปิดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนจะต้องบันทึกบัญชีตราสารอนุพันธ์ด้วยวิธีมูลค่ายุติธรรม หรือบันทึกบัญชีเพื่อการป้องกันความเสี่ยงกรณีที่เข้าเงื่อนไขตามที่ TFRS 9 กำหนด จากปัจจุบันที่ไม่มีมาตรฐานเฉพาะสำหรับตราสารอนุพันธ์ ดังนั้นหลังจากวันที่ 1 มกราคม 2563 การบันทึกบัญชีเกี่ยวกับตราสารอนุพันธ์จะสะท้อนความเสี่ยงและวัตถุประสงค์ของการใช้ตราสารอนุพันธ์ของแต่ละบริษัท และยังช่วยให้เปรียบเทียบกันได้มากขึ้น
นอกจากผลกระทบต่องบการเงินแล้ว บริษัทยังต้องเตรียมความพร้อมในหลาย ๆ ด้าน เช่น บุคลากร ระบบงาน ตลอดจนฐานข้อมูล ซึ่งจากการสำรวจพบว่าบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ได้เตรียมความพร้อมแล้ว โดยที่ผู้สอบบัญชี คณะกรรมการตรวจสอบ และคณะกรรมการบริษัท ก็มีส่วนร่วมด้วย ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีที่ทุกฝ่ายให้ความสำคัญและร่วมมือกันในการเตรียมความพร้อม เพื่อให้การทำงานเป็นไปได้อย่างราบรื่นและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุนอย่างแท้จริง
หมายเหตุ* TFRS กลุ่มเครื่องมือทางการเงิน ประกอบด้วย มาตรฐานการรายงานทางการเงิน 3 ฉบับ ได้แก่ มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 32 เรื่อง การแสดงรายการสำหรับเครื่องมือทางการเงิน (TAS 32) มาตรฐาน การรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 7 เรื่อง การเปิดเผยข้อมูลสำหรับเครื่องมือทางการเงิน (TFRS 7) และ มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 เรื่อง เครื่องมือทางการเงิน (TFRS 9) และ การตีความมาตรฐานการรายงานทางการเงิน 2 ฉบับ ได้แก่ การตีความมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 16 เรื่อง การป้องกันความเสี่ยงของเงินลงทุนสุทธิในหน่วยงานต่างประเทศ (TFRIC 16) และ การตีความมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 19 เรื่อง การชำระหนี้สินทางการเงินด้วยตราสารทุน (TFRIC 19)