HoonSmart.com>>เคทีซีเผยแผนกลยุทธ์มุ่งสร้างแพลทฟอร์มการเงินหลักที่เป็นเลิศ ทั้งแพลทฟอร์มการชำระเงิน (Payment Platform) และแพลทฟอร์มสินเชื่อรายย่อย (Retail Lending Platform) อีกทั้งสร้างกลไกขับเคลื่อนองค์กรสู่ความสำเร็จผ่าน 5 องค์ประกอบคือ กลยุทธ์ โครงสร้าง กระบวนการ คนและเทคโนโลยี เพื่อก้าวสู่การเป็น “องค์กรคล่องตัว“ (Agile Organism)
นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย (KTC) กล่าวว่า วิวัฒนาการของเทคโนโลยีดิจิทัลที่รวดเร็วได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงแนวทางการดำเนินธุรกิจ และวิถีชีวิตของผู้คนอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จากนี้ไปจะมุ่งสร้างธุรกิจให้เติบโตด้วยวิสัยทัศน์ใหม่สู่การเป็น แพลทฟอร์มการเงินหลักที่อยู่เคียงข้างสังคมไทยและเป็นมิตรกับผู้ใช้ ด้วย 2 แพลทฟอร์มคือ “แพลทฟอร์มการชำระเงิน” และ “แพลทฟอร์มสินเชื่อรายย่อย” ที่มุ่งเน้น 3 จุดแข็งหลักคือ ปลอดภัย รวดเร็ว และสร้างประสบการณ์ที่ดี ซึ่งจะทำให้เคทีซีสามารถนำเสนอสินเชื่อให้กับผู้บริโภคได้หลากหลายและครบวงจร ทั้ง “สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน” “พิโกพลัส” (สินเชื่ออเนกประสงค์ที่ให้กับรายย่อยระดับจังหวัด)” และธุรกิจ “นาโนไฟแนนซ์” (สินเชื่อรายย่อยสำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระหรือผู้มีรายได้ไม่แน่นอน) ซึ่งทยอยเปิดให้บริการแล้ว และคาดว่าทั้ง 3 ธุรกิจใหม่นี้ จะสามารถเริ่มรับรู้กำไรได้ประมาณ 18-24 เดือน นับตั้งแต่วันที่ดำเนินธุรกิจจริง
นอกจากนี้ จะเห็นเคทีซีปรับตัวครั้งใหญ่สู่การเป็น “องค์กรคล่องตัว” (Agile Organism) ผ่าน 5 องค์ประกอบหลักคือ กลยุทธ์ (Strategy) สร้างโอกาสและใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในการสร้างมูลค่าให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม โดยเฉพาะสมาชิกเคทีซีและสังคมไทย โครงสร้าง (Structure) กำหนดบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของบุคลากรให้ชัดเจน กระบวนการ (Process) คิดวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นในการทำงาน คน (People) ยึดโยงคนที่มีความสามารถโดดเด่นเข้าด้วยกัน เทคโนโลยี (Technology) เป็นส่วนหนึ่งของการทำงานที่ต้องผนวกเข้ากับทุกมิติขององค์กร
นางพิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร – ธุรกิจบัตรเครดิต KTC กล่าวว่า ถึงแม้ว่าในปีนี้เศรษฐกิจไทยจะชะลอตัว แต่ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเคทีซีโตได้ถึง 10% หรือประมาณ 150,000 ล้านบาท สำหรับปี 2020 แนวคิดการทำตลาดบัตรเครดิตเคทีซีที่กำหนดไว้คือ “Everyone, everyday, and everywhere” ด้วยเป้าหมายที่ต้องการให้บัตรเคทีซีเป็นบัตรที่สมาชิกเลือกใช้ทุกวันและทุกที่
ทั้งนี้ เคทีซีจะยังคงให้ความสำคัญกับการขยายเครือข่ายพันธมิตรร้านค้าให้ครอบคลุมไลฟ์สไตล์ของสมาชิกมากที่สุด อีกทั้งจะมีการเพิ่มประสิทธิภาพของช่องทางการสื่อสารมากขึ้น เพื่อให้สมาชิกบัตรได้รับทราบข้อมูลที่ตรงใจ มีประโยชน์ และไม่พลาดโปรโมชั่นดีๆ จากเคทีซี”
นางสาวพิชามน จิตรเป็นธรรม ผู้อำนวยการ – ธุรกิจสินเชื่อบุคคล KTC กล่าวว่า แผนกลยุทธ์ธุรกิจสินเชื่อบุคคลในปี 2020 คือ “มุ่งเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืน” โดยจะเพิ่มปริมาณสินเชื่อพร้อมกับการสร้างคุณภาพหนี้ที่ดีขึ้น ใน 4 แกนหลัก คือ 1) มุ่งหาสมาชิกใหม่ที่มีความต้องการสินเชื่อเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต 2) มุ่งรักษาฐานสมาชิกปัจจุบันให้มีความผูกพันกับเคทีซีและเป็นบัตรที่ลูกค้า นึกถึงเป็นใบแรก 3) มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อสร้างความพึงพอใจขั้นสูงสุด ด้วยบริการใหม่ เพิ่มวงเงินฉุกเฉินที่สามารถทำรายการผ่านแอปฯ “KTC Mobile” ได้ 24 ชั่วโมง และจะเพิ่มฟังก์ชั่นการใช้งานบัตรกดเงินสด “เคทีซี พราว” 4) มุ่งสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ลูกค้า เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน และเติบโตไปพร้อมกัน โดยสร้างวินัยทางการเงินผ่านกิจกรรมสัมมนาให้ความรู้ (Financial Literacy)
นายปิยศักดิ์ เตชะเสน รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส – ช่องทางจัดจำหน่ายและธุรกิจร้านค้า KTC กล่าวว่า กลยุทธ์การขยายฐานสมาชิกในปี 2020 น่าจะเป็นความท้าทายและสร้างโอกาสที่ดีให้กับเคทีซี ด้วยผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่มีความหลากหลายและครบวงจรมากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายสมาชิกบัตรเครดิตใหม่ 350,000 ใบ และบัตรกดเงินสด “เคทีซี พราว” 210,000 ใบ รวมทั้งกลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ล่าสุด “สินเชื่อเคทีซีพี่เบิ้ม” สำหรับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักของเคทีซีจะยังเป็นพนักงานที่มีรายได้ประจำตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไป โดยจะมุ่งเน้นช่องทางการรับสมัครผ่านทางออนไลน์มากขึ้น ส่วนช่องทางหลักในการสรรหาสมาชิกสินเชื่อผ่านธนาคารกรุงไทย และผู้แนะนำผลิตภัณฑ์ทางการเงินเคทีซีอิสระ (Outsource Sales) จะเน้นการเพิ่มจำนวนและศักยภาพตัวแทนขายให้สูงขึ้น ซึ่งเคทีซีให้ความสำคัญในการพัฒนาบุคลากรโดยตลอด
สำหรับกลยุทธ์การขยายพันธมิตรร้านค้าในปี 2020 จะมุ่งนำเสนอบริการรับชำระที่เหมาะสมและตอบโจทย์ความต้องการของร้านค้าในกลุ่มธุรกิจต่างๆ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีในการใช้บริการ และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับบริษัท โดยจะให้ความสำคัญกับตลาดการผ่อนชำระ “KTC FLEXI” ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงการขยายฐานร้านค้าในกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะร้านค้าอาลีเพย์ (Alipay) ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ เพื่อรองรับการจับจ่ายของกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนที่และกลุ่มชาวจีนที่พักอาศัยในไทย รวมทั้งจะนำเสนอ Payment Solutions ใหม่ๆ เพื่อรุกเข้าธุรกิจร้านค้าออนไลน์ โดยเน้นความปลอดภัยในการทำธุรกรรมที่ได้มาตรฐานสากล รวมถึงพัฒนาการให้บริการและนวัตกรรมการรับชำระใหม่ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมไร้เงินสด นอกจากนี้ บริษัทยังจะเดินหน้าความร่วมมือกับธนาคารกรุงไทย เพื่อต่อยอดการขยายโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้เพิ่มให้กับเคทีซีอีกทางหนึ่ง
นายชุติเดช ชยุติ ซีเอฟโอ KTC กล่าวว่า บริษัทยังคงมีสถานะทางการเงินที่เข้มแข็ง คาดว่าสิ้นปี 2019 จะสามารถทำกำไรได้ใกล้เคียงเป้าหมายที่เคยเปิดเผยไว้ สำหรับกลยุทธ์การบริหารเงิน ในปี 2020 บริษัทฯ จะมุ่งประกอบธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการบริหารต้นทุนเงินให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายน่าจะยังรักษาระดับทรงตัวไว้เช่นนี้ เคทีซีจึงมีแผนจะระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ระยะยาว 5-10 ปี เพื่อทดแทนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดและรองรับการขยายตัวของธุรกิจใหม่อีกประมาณ 11,000 ล้านบาท คาดว่าจะมีต้นทุนเงินอยู่ที่ประมาน 3.09%
ทั้งนี้ วงเงินสำหรับออกหุ้นกู้ที่เคยขอผู้ถือหุ้นไว้เมื่อปี 2017 คงเหลือเพียง 12,000 ล้านบาท ในปี 2020 จึงมีแผนที่จะขอมติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพิ่มวงเงินอีก 30,000 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังได้เตรียมพร้อมรับมือกับมาตรฐานการรายงานการเงินสากล (International Financial Reporting Standards: IFRS9) ที่กำลังจะนำมาใช้ โดยมีการตั้งสำรองเงินไว้แล้วในปริมาณที่มากพอ และสำรองส่วนที่เกินอยู่จะเก็บไว้เป็นสำรองต่อไป ทั้งนี้ ก่อนจะมีการประกาศงบการเงินในไตรมาสที่ 1/2020 บริษัทจะจัดประชุมร่วมกับนักวิเคราะห์เพื่ออธิบายความต่าง และจะแสดงรายงานตัวเลขตามงบการเงินเดิมเปรียบเทียบไว้ในบทวิเคราะห์และคำอธิบายของฝ่ายจัดการเกี่ยวกับการดำเนินงานและฐานะการเงิน (Management Discussion and Analysis: MD&A)”
ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2562 เคทีซีมีกำไรสุทธิ 4,205 ล้านบาท พอร์ตลูกหนี้การค้ารวมเท่ากับ 79,618 ล้านบาท (ขยายตัว 9%) ฐานสมาชิกรวม 3.43 ล้านบัญชี (เติบโต 6%) แบ่งเป็นบัตรเครดิต 2,460,595 บัตร (ขยายตัว 7%) พอร์ตลูกหนี้บัตรเครดิตรวม 51,137 ล้านบาท (ขยายตัว 10%) อัตราเติบโตของปริมาณใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต 9 เดือน อยู่ที่ 10.4% NPL รวม ลดลงต่อเนื่องอยู่ที่ 1.07% NPL บัตรเครดิตอยู่ที่ 0.96% สินเชื่อบุคคล 973,356 บัญชี (ขยายตัว 5%) ยอดลูกหนี้ สินเชื่อบุคคลรวม 28,219 ล้านบาท (เติบโต 9%) NPL ของสินเชื่อบุคคลอยู่ที่ 0.83%