กองทุนฟื้นฟูฯ ยันหนุน BAM ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่หลัง IPO

HoonSmart.com>> กองทุนฟื้นฟูฯ ยันหลัง BAM ขายหุ้นไอพีโอเข้าตลาด ยังสนับนุนต่อเนื่องในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ เชื่อมั่นฐานะการเงิน BAM พร้อมความสามารถแข่งขัน

ตามแผนการเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไป (IPO) ของบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (BAM) กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (“กองทุนฟื้นฟูฯ”) จะร่วมเสนอขายหุ้นสามัญที่ตนถืออยู่ใน BAM โดยคาดว่าจะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 45.6% (กรณีผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินมีการใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนจากบริษัทฯ ทั้งจำนวน) ถึง 49.1% (กรณีผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินไม่มีการใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนจากบริษัทฯ) โดยกองทุนฟื้นฟูฯ จะถือหุ้นทั้งหมดดังกล่าวต่อไปไม่ต่ำกว่าระยะเวลา 1 ปี 6 เดือน ตามข้อจำกัดห้ามขาย (Silent Period) ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และกองทุนฟื้นฟูฯ จะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุดของ BAM และยังไม่มีนโยบายที่จะขายหุ้น BAM เพิ่มเติม

ภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO ครั้งนี้ กองทุนฟื้นฟูฯ จะยังคงสนับสนุน BAM ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ และคาดหวังเงินปันผลจาก BAM เหมือนกับผู้ถือหุ้นรายอื่นต่อไป นอกจากนี้ ด้วยขนาดของสินทรัพย์ ประสิทธิภาพและศักยภาพในการประกอบธุรกิจ BAM จะยังคงเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่เป็นกลไกสำคัญแห่งหนึ่งในระบบเศรษฐกิจของประเทศทั้งช่วงภาวะเศรษฐกิจปกติ หรือโอกาสที่อาจเกิดวิกฤติทางการเงินในอนาคต จากผลการดำเนินงานของ BAM ในอดีตที่ผ่านมา กองทุนฟื้นฟูฯ เชื่อมั่นในฐานะการเงินและความสามารถในการแข่งขันและการทำธุรกิจของ BAM ต่อไปในอนาคต

ที่ผ่านมา BAM ได้ดำเนินธุรกิจโดยอาศัยศักยภาพในการแข่งขันเหมือนธุรกิจบริหารสินทรัพย์ทั่วไป การขายหุ้นสามัญของกองทุนฟื้นฟูฯ ในครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายภาครัฐในการลดภาระหนี้สินของกองทุนฟื้นฟูฯ และสนับสนุน ให้ BAM มีศักยภาพในการประกอบธุรกิจให้เทียบเท่าบริษัทเอกชน มีความคล่องตัว โปร่งใส มีประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น และมีธรรมาภิบาลที่ดี

BAM ตอกย้ำความมั่นใจในความแข็งแกร่งของธุรกิจในฐานะบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย พร้อมทั้งได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากแหล่งเงินทุนที่หลากหลาย ทั้งจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน เงินกู้ยืมธนาคาร และหุ้นกู้ เป็นต้น และพื้นฐานการดำเนินธุรกิจของ BAM ที่ไม่เปลี่ยนแปลง ปัจจุบัน BAM มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินทั้งสิ้น 11 แห่ง ซึ่ง BAM ล้วนมีสัมพันธ์ที่ดีกับสถาบันการเงินต่าง ๆ พร้อมทั้งโครงสร้างธุรกิจที่ยืดหยุ่นซึ่งสามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจได้ในทุกสภาวะเศรษฐกิจและสามารถเป็นกลไกในการดูดซับ NPL และ NPA จากสถาบันการเงินไทย

อีกทั้ง กองทุนฟื้นฟูฯ และ BAM เชื่อว่า BAM จะได้รับประโยชน์จากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินงาน ซึ่งรวมถึงจะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย ที่มีต้นทุนทางการเงินที่เหมาะสมซึ่งจะส่งผลดีต่อการดำเนินธุรกิจของ BAM ในระยะยาว

การกำหนดราคาขาย IPO ของ BAM ในครั้งนี้เป็นไปอย่างโปร่งใส และยุติธรรม โดยได้คำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ในการที่ BAM จะเป็นบริษัทเอกชนอย่างเต็มรูปแบบ และเสียภาษีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

อ่านข่าว

ฟิทช์ให้เครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบ BAM กองทุนฟื้นฟูฯถือต่ำกว่า 50%