AMATA หัวทิ่มต่อ สองวัน 10% ห่วงลงทุนฝืด กระทบกำไร

HoonSmart.com>> อมตะ คอร์ปอเรชัน ถูกทิ้งไม่ยั้ง ราคาร่วงต่อเป็นวันที่สอง 5.93% ห่วงเศรษฐกิจชะลอ  คะแนนเสียงรัฐบาลในสภาง่อนแง่น ฉุดการลงทุน กระทบผลการดำเนินงาน บริษัทยอมรับปีนี้ขายที่ดินต่ำเป้า ทำได้แค่ 700-800 ไร่ ส่วนปีหน้าหวังจะโต 10% คงต้องหั่นประมาณการลง เพิ่มรายได้ประจำ

นักลงทุนทิ้งหุ้นบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน(AMATA) สองวันรวม 10% โดยเฉพาะวันที่ 28 พ.ย. ทรุดลงแรง 5.93% หรือ 1.40 บาท ปิดที่ 22.20 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขายถึง 902 ล้านบาท โดยนายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการ บริษัทอมตะ คอร์ปอเรชัน (AMATA) ให้ข้อมูลนักลงทุนและนักวิเคราะห์ว่า ในไตรมาส 4 /62 ยอดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจะสูงกว่าปีก่อน คาดว่าจะสามารถเซ็นสัญญาขายที่ดินได้อีก 200 ไร่ จากลูกค้ารายใหญ่ 2-3 ราย แต่ทั้งปียอมรับว่ายอดขายที่ดินในไทยทำได้เพียง 700-800 ไร่ ต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 950 ไร่ โดย 9 เดือนแรกปีนี้ มียอดขายเพียง 526 ไร่ รวมยอดขายตามหนังสือแสดงเจตจำนง (LOI) ที่มีการชำระเงินมัดจำแล้วบางส่วนด้วย

ในช่วง  9 เดือนที่ผ่านมา บริษัทมียอดโอนที่ดินแล้ว 709 ไร่ มียอดขายที่ดินรอโอนกรรมสิทธิ์ (Backlog) กว่า 2,417 ล้านบาท โดยจะรับรู้เป็นรายได้ส่วนใหญ่กว่า 70% ในปี 2563

ปัจจุบันมีที่ดินพร้อมขาย ที่จ.ชลบุรี จำนวน 631 ไร่, ที่ดินจากระยอง 1,536 ไร่ รวมกว่า 2,167 ไร่ นอกจากนี้บริษัทยังมีที่ดินเปล่ารอการพัฒนา ในพื้นที่ชลบุรี 8,330 ไร่ และที่ดินในระยอง 607 ไร่ รวมเป็น 8,937 ไร่ และที่ดินสำหรับ Commercial Area เป็นที่ดินในชลบุรี 817 ไร่ และเป็นที่ดินในระยอง 381 ไร่ รวมเป็น 1,198 ไร่ รวมมีที่ดินในมือทั้งหมด 12,302 ไร่ ณ สิ้นไตรมาส 3/2562

ปัจจุบันคณะกรรมการบริษัทอนุมัติเพื่อลงทุนในโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) และนิคมอุตสาหกรรมในเขตย่างกุ้ง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาคาดว่าปีหน้าจะเริ่มห็นการพัฒนา และในอนาคตบริษัทวางแผนเพิ่มรายได้ประจำ จากการเข้าไปร่วมลงทุนโครงการโรงไฟฟ้า ,ระบบน้ำ ,คลังสินค้าเป็นต้น โดยตั้งเป้าว่ารายได้ส่วนนี้จะเติบโตปีละ 10%  ในอนาคตจะมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 80% จากปัจจุบันไม่ถึง 50%

สำหรับราคาหุ้น AMATA ที่ร่วงลงแรง และเป็นการปรับลดลงต่อเนื่องจากวันที่ 27 พ.ย. น่าจะเป็นผลจากบรรยากาศแนวโน้มการลงทุนที่ลดลงไปบ้าง ตามภาพรวมเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศที่ชะลอตัว โดยบริษัทต้องมีการปรับประมาณการปี 2563 จากเดิมที่คาดว่ายอดขายที่ดินจะเติบโตได้ 10% จะต้องรวมผลกระทบดังกล่าวเข้าไปในประมาณการใหม่ด้วย จึงทำให้นักลงทุนขายหุ้นออกมา

มาร์เก็ตติงกล่าวว่า แรงขายหุ้นอมตะฯ ผิดปกติ ราคาปรับตัวลงแรงเกินไป โดยปัจจัยพื้นฐานไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ บริษัทยังสามารถขายที่ดินได้ทุกปี แต่เหตุผลที่ทำให้นักลงทุนขายหุ้น AMATA ออกมามาก เพราะเกรงว่า โครงการ EEC อาจจะล่าช้า จากการอนุมัติโครงการขนาดใหญ่ เพราะเสียงของรัฐบาลในสภาเริ่มแสดงถึงความอ่อนแอ หลังจากการประชุมสภาผู้แทนราษฎรต้องล่มและปิดประชุม และแพ้การลงมติหลายครั้ง