“ประภาส ตั้งอดุลย์รัตน์” APP ผู้นำอาเซียน ซอฟต์แวร์ 3 มิติ ครบวงจร

HoonSmart.com>>”แอพพลิแคด” จิ๋วและแจ๋ว เบอร์ 1 ของอาเซียน ผู้จัดจำหน่ายซอฟต์แวร์ สำหรับการออกแบบอุตสาหกรรม-การก่อสร้าง 3 มิติ ครบวงจร 

บริษัท แอพพลิแคด (APP) หุ้นน้องใหม่ป้ายแดง ที่กำลังจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย ์ เอ็มเอไอ วันที่ 22 พ.ย.นี้

แน่นอนว่า ภาวะตลาดที่ซบเซา ไม่เอื้อต่อการลงทุน-เก็งกำไร หุ้นน้องใหม่ที่เข้าตลาดวันแรกราคาต่ำจองกันส่วนใหญ่ แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกตัว ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย  ตั้งแต่การตั้งราคาที่เหมาะสม , การเติบโตของธุรกิจ ที่สำคัญความโดดเด่นของธุรกิจที่ไม่เหมือนใครจะไม่มีใครเหมือน เป็นจุดเฉือนให้หุ้นตัวนั้นชนะตลาด ชนะใจนักลงทุน APP เป็นหุ้นอีกตัวที่อยู่ในข่ายนี้

ประภาส ตั้งอดุลย์รัตน์

ประภาส ตั้งอดุลย์รัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ผู้ถือหุ้นใหญ่ ที่ก่อตั้ง APP อธิบายว่า บริษัท ฯ ตั้งมา 25 ปี  ทำธุรกิจจำหน่ายซอฟต์แวร์ เฉพาะทางสำหรับการออกแบบ 3 มิติ ให้กับ อุตสาหกรรม  การก่อสร้าง และสถาบันการศึกษา-หน่วยงานภาครัฐ ให้กับแบรนด์ดังของสหรัฐ  มีข้อดีที่สำคัญคือ ไม่มีการสต็อกสินค้า ไม่ต้องแบกต้นทุนตุนสินค้า จึงไม่มีหนี้

25 ปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบันนี้ ได้รับความไว้วางใจให้เป็นตัวแทนจำหน่ายซอฟต์แวร์สำหรับอุตสาหกรรม (MEC) ของ SolidWorks ในประเทศไทย  จาก Dassault Systemes SolidWorks ประเทศสหรัฐ ฯ  ,  เป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องพิมพ์ 3 มิติ Stratasys  ในประเทศไทย จาก Stratasys AP Ltd. ประเทศสหรัฐ ฯ

อุตสาหกรรมขนาดใหญ่เช่น อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ อุตสาหกรรมก่อสร้าง และสถาบันศึกษา ชื่อดัง ล้วนแต่เป็นลูกค้าของ APP ทั้งสิ้น ลูกค้าหลักอยู่ในกลุ่มการผลิต เป็นหลัก ฐานจำนวนลูกค้าทั้งใน-ต่างประเทศ กว่า 4,000 ราย กว่า 50 % เป็นลูกค้าเก่า

ประภาส จากลูกพ่อค้าขายชุดนักเรียน ในเมืองบุรีรัมย์  1 ใน 3 ของเด็กบุรีรัมย์ ที่สอบเทียบเข้าศึกษาเทคโนบางมด (สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ) คณะวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จบแล้วทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ซัพพอร์ต ดูแลลูกค้า ให้กับบริษัทขายฮาร์ดแวร์ ทำได้ 1 ปี บริษัทขาดเซลล์ (พนักงานขาย) เลยถูกปั้นให้เป็นเซลล์เอ็นจิเนีย ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

ด้วยเซลล์สกิล (ค้าขาย) ที่มีอยู่ในสายเลือด เขาจึงมั่นใจว่าทำได้ จึงได้เริ่มชีวิตการขายของตั้งแต่นั้น แต่ทำได้ไม่นาน ถูกแม่เรียกตัวกลับบุรีรัมย์ และอยู่ได้ไม่นาน เห็นลู่ทางรวย ไปคุยกับต่างชาติเป็นตัวแทนขายซอฟต์แวร์ กู้เงินแม่มาลงทุนซื้ออุปกรณ์สำนักงาน ปี 2537 ตั้งบริษัทห้องแถว เช่าชั้น 2 ของบริษัททัวร์ ย่านพระราม 4 ลูกค้ารายแรกที่ให้โอกาสคือ บริษัท ปตท. ( PTT )

เขาเล่าอีกว่า ปี 2540 วิกฤตลดค่าเงินบาท โชคดีบนความโชคร้ายของเศรษฐกิจคือ กิจการยังเล็ก มีพนักงาน 10 คน บริษัทไม่มีหนี้ ไม่มีสต็อกสินค้า ความโชคดีอีกอย่างคือ ปีเดียวกันนี้ได้เซ็นสัญญาตัวแทนขายซอฟต์แวร์กับ SolidWorks

ปี  2546 เริ่มเห็นความมั่นคงของ APP หลังจากได้รางวัล ผู้นำขาย SolidWorks เบอร์ 1 ของอาเซียน เมื่อกิจการเริ่มดี ได้ย้ายไปซื้อตึก ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ในปัจจุบัน จากนั้นได้ขยายกิจการไปยังประเทศเวียดนาม และอินโดนีเซีย แม้ว่าในเวียดนามไปมาได้ 6 ปีเลือดหยุดไหลแล้ว แต่ก็ไม่ได้ดำเนินการต่อ โดย APP เลือกที่จะไปอินโดนีเซีย มากกว่า ด้วยเหตุผล ค่าแรงต่ำ รอการเติบโต คู่แข่งธุรกิจไม่เก่ง และความหนาแน่นของประชากรมากกว่า ที่สำคัญคือ APP ได้รับแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนขายเครื่องสแกน 3 มิติ GOM จาก Gom GmbH. ประเทศเยอรมัน เมื่อต้นปี 2562 ซึ่ง GOM ไม่มีตัวแทนที่อินโด ฯ

ปัจจุบัน APP ไม่ใช่แค่ “คนค้าซอฟต์แวร์” 3 มิติ แต่พัฒนาไปสู่ “โฮม โซลูชั่น” ให้กับ SCG พัฒนาเพิ่มซอฟต์แวร์ การตีราคา-เสนอราคา ช่วยเพิ่มความแม่นยำในการคำนวณที่ถูกต้องกับลูกค้า

ผลิตภัณฑ์การออกแบบซอฟต์แวร์

ประภาส บอกอีกว่า แนวทางการเติบโตของ APP ในปี 2563  รายได้เติบโตไม่ต่ำกว่า 2 หลัก หรือ 10 % โดยมีธุรกิจในอินโด ฯ เป็นพระเอก โตจากตัวแทนขายเครื่องสแกน 3 มิติของ GOM  สินค้าใหม่ปรินเตอร์เหล็ก และบริการดูแลซ่อมบำรุง

” การเติบโตของ APP มาจาก 3 ทาง คือ 1. การขายของเก่า (ซอฟต์แวร์ ) ในตลาดเก่าให้ดีขึ้น เพิ่มเซลล์ขายขยายตลาด 2. ขายของใหม่ (เครื่องสแกน 3 มิติ ปริ้นเตอร์เหล็ก ) ในตลาดเก่า นำซอฟต์แวร์ใหม่ ๆ เข้ามาขาย และ 3. ขายของเก่าในตลาดใหม่ เช่น อินโดนีเซีย วิชั่นของบริษัทขยายการโตไปยังภูมิภาค และทุกที่ที่มีโอกาสโต”

จบท้ายการพูดคุยครั้งนี้ ประภาส บอกว่า การค้าขายเทคโนโลยี มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ไม่เป็นความเสี่ยงกับบริษัท ยิ่งเปลี่ยนเร็ว จะเป็นตัวเร่งให้ลูกค้ามีการเปลี่ยนแปลงซอฟต์แวร์มากขึ้น เป็นผลดีกับบริษัท

สำหรับหุ้น APP เสนอขาย IPO หุ้นละ 2.46 บาท จำนวน 80 ล้านหุ้น หรือ 28.57 % ของทุนชำระแล้ว 140 ล้านบาท โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส เป็นที่ปรึกษาการเงินและแกนนำขายหุ้น รายได้หลัก 9 เดือนสัดส่วน 44 % มาจากยอดขายซอฟต์แวร์อุตสาหกรรมการผลิต

 

ผลิตภัณฑ์การออกแบบซอฟต์แวร์