HoonSmart.com>> เฟดลดดอกเบี้ย 0.25% ครั้งที่ 3 ของปีนี้ตามคาด ส่งสัญญาณไม่ลดดอกเบี้ยลงอีก ส่งผลดีต่อตลาดหุ้น ลุ้นเงินไหลเข้าไทย หุ้นแบงก์ขึ้นแรงต่อเป็นวันที่ 2 เงินบาทแข็งค่า ญี่ปุ่นคงดอกเบี้ย ส่วนธปท.ขอไม่ออกความเห็นเรื่องเงินทุนเคลื่อนย้าย เกรงชี้นำการประชุมกนง.ในสัปดาห์หน้า คลังยันไม่แทรกแซง ส่วนก.ลต.เปิดข้อมูลตลาดทุนไตรมาส 3/62 พบตราสารหนี้ออกขายน้อยลง โดยเฉพาะระยะสั้นหายไป 66% เหลือเพียง 197,162 ล้านบาท
ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา(เฟด) มีมติ 8-2 เสียง ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นลง 0.25% อยู่ที่ระดับ 1.50-1.75% เป็นการปรับลดครั้งที่ 3 ของปีนี้ตามคาด พร้อมส่งสัญญาณพักวงจรปรับลดดอกเบี้ย โดยจะยังคงรักษาจุดยืนด้านนโยบายการเงินอย่างเหมาะสม ขณะที่ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น(BOJ) มีมติคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% และคงอัตราดอกเบี้ยระยะยาวไว้ใกล้ระดับศูนย์ ส่วนการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในวันที่ 6 พ.ย. ตลาดคาดว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะปรับลดอกเบี้ยลง 0.25% เหลือ 1.25%
นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)กล่าวว่า เฟดลดดอกเบี้ยลง 0.25%เป็นตามไปตามคาดการณ์ของ กนง. และไม่ได้เซอร์ไพร์สตลาด โดย ธปท.ไม่ขอให้ความเห็นกรณีเงินทุนเคลื่อนย้าย เพราะใกล้ช่วงประชุมกนง.จึงกังวลว่าอาจจะเป็นการชี้นำตลาด
ส่วนการขยายตัวเศรษฐกิจในไตรมาส 3/2562 มีแนวโน้มจะไม่ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 2.9% เนื่องจากการส่งออกและการบริโภคภาคเอกชนไม่ได้ขยายตัวตามที่คาด ส่วนแนวโน้มการส่งออกช่วง 9 เดือน ลดลง 2.7% หากจะโตตามเป้าทั้งปี -1% ไตรมาส 4 จะต้องมากกว่าไตรมาส 3 ซึ่งน่าจะดีกว่า เพราะได้อานิสงส์จากมาตรการรัฐ ส่วนเศรษฐกิจทั้งปีเป็นไปตามเป้าที่ 2.8% หรือไม่ จะต้องขอดูภาพรวมไตรมาส 4 อีกครั้ง
กรณีสหรัฐอเมริกาตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) สินค้าไทย คาดว่าไม่ได้มีผลต่อการส่งออกในภาพรวมมากนัก จากการวิเคราะห์ของกระทรวงพาณิชย์และธนาคารไทยพาณิชย์ พบว่าหากขึ้นภาษีโดยเฉลี่ย 5% จะกระทบการส่งออกไทยในปีนี้ลดลง 0.01% เท่านั้น ซึ่งเป็นสินค้าในกลุ่มอาหาร
นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ยืนยันจะไม่เข้าไปก้าวก่ายการทำงานและชี้นำการทำงานของกนง.และธปท. หลังจากเฟดมีมติปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งที่ 3 เชื่อว่าหน่วยงานเหล่านี้มีข้อมูลในการพิจารณาทั้งที่เป็นสถานการณ์เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก
สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า เฟดลดดอกเบี้ย ทำให้ความน่าสนใจในเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง จะส่งผลให้เงินทุนไหลกลับมายังประเทศเกิดใหม่ที่มีพื้นฐานที่ดี โดยเฉพาะประเทศไทย โดยเงินบาทแข็งค่า 0.2% มาอยู่ที่ 30.185 บาท/ดอลลาร์ในวันที่ 31 ต.ค.2562 และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ (Bond Yield) ลดลง ก็ทำให้มีเงินไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ของสหรัฐฯ มาได้อีกส่วนหนึ่ง ส่วนการประชุมกนง.วันที่ 6 พ.ย.นี้ ยังคงคาดว่า กนง. อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้อีก
ด้านตลาดหุ้นรับผลดีจากการปรับลดดอกเบี้ยของเฟด ดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ ปิดระดับสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ ส่วนดัชนีหุ้นไทยขึ้นไปถึง 1,610 จุด ก่อนเจอแรงขายทำกำไรปิดที่ 1,601 จุด ติดลบ 0.34 จุด มูลค่าการซื้อขายกว่า 64,461 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติขายมากถึง 3,867 ล้านบาท สถาบันซื้อสวนกว่า 5,019 ล้านบาท ในหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ และไฟฟ้าบางตัว ส่วน EA ยังปรับลดลงต่อ 0.50 บาทปิดที่ 41 บาท ไม่มากถึง 8% เหมือนวันก่อน
“เฟดลดดอกเบี้ยลง คาดว่าจะมีผลต่อเนื่องถึงดอกเบี้ยในประเทศ ตามทฤษฎีจะมีผลกระทบต่อหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ แต่ราคาหุ้นแบงก์ที่ปรับตัวลงแรงก่อนหน้านี้ รับข่าวนี้ไปแล้ว เมื่อเฟดส่งสัญญาณว่าจะไม่ปรับลดดอกเบี้ยลงอีก มองเป็นผลบวกต่อแบงก์ และมีโอกาสที่ราคาจะปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง “มาร์เก็ตติ้งกล่าว
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต. ) เปิดเผยข้อมูลสถิติรายไตรมาส 3 /2562 มีการเสนอขายตราสารหนี้ในประเทศมีทั้งสิ้น 414,228 ล้านบาท ลดลงถึง 461,166 ล้านบาท คิดเป็น 52.68% จากระยะเดียวกันปีก่อนเสนอขายจำนวน 875,394 ล้านบาท โดยตราสารหนี้ระยะสั้นลดลงมากที่สุด จากมูลค่า 579,936 ล้านบาท หายไปถึง 66% เหลือเพียง 197,162 ล้านบาท และตราสารหนี้ระยะยาวลดลงจาก 295,457 ล้านบาท ออกในงวดนี้จำนวน 217,066 ล้านบาท สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตราสารหนี้เสนอขายน้อยลง โดยเฉพาะที่ไม่มีเรทติ้ง เนื่องจากนักลงทุนเพิ่มความระมัดระวังการลงทุน และหากจะออกมาเสนอขายต้องมีหลักประกันที่คุ้มค่าด้วย
นอกจากนี้ตราสารหนี้ที่เสนอขายต่างประเทศก็ลดลงจาก จำนวน 980,202 ล้านบาทคงเหลือจำนวน 434,461 ล้านบาท
ส่วนการเสนอขายหุ้นต่อประชาชนครั้งแรก (IPO) จำนวน 8 บริษัท คิดเป็นมูลค่า 2,723 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีจำนวน 7 บริษัท มูลค่าเพียง 828 ล้านบาท
ขณะที่การขายหุ้นเพิ่มทุนมีจำนวน 36,231 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากจำนวน 12,470 ล้านบาทในไตรมาส 3/2561
สำหรับการออกและเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (DW) ในไตรมาส 3/2562 ออกจำนวน 990 รุ่น เพิ่มขึ้นจากจำนวน 751 รุ่นในงวดเดียวกันปีก่อน
การทำคำเสนอซื้อหุ้นเพื่อครอบงำกิจการ(เทนเดอร์ออฟเฟอร์) มี 6 บริษัท เสนอซื้อจำนวน 26,912 ล้านบาท แต่เกิดรายการซื้อขายจริงมูลค่า 19,222 ล้านบาท เทียบกับไตรมาส 3/2561 มีจำนวน 4 บริษัท เสนอซื้อจำนวน 8,501 ล้านบาท เกิดการซื้อขายจริง 2,378 ล้านบาท