“TISCO ESU” แนะจับตาประชุมเฟด หากประกาศขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด ต่างชาติเตรียมเทขายหุ้นประเทศตลาดเกิดใหม่ – ไทยอีกระลอก หลัง 5 เดือนแรกถล่มขายแล้วกว่า 1.1 แสนล้านบาท มากที่สุดในประวัติศาสตร์เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในอดีต
นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) เปิดเผยว่า ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2561 (ข้อมูล ณ วันที่ 24 พ.ค. 61 ) ต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยไปแล้วกว่า 1.1 แสนล้านบาท นับเป็นการขายมากที่สุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในอดีต ซึ่งการเทขายอย่างต่อเนื่องของนักลงทุนต่างชาติในครั้งนี้ สะท้อนถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น หลังการเติบโตของตลาดเกิดใหม่เริ่มมีอุปสรรคจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้นท่ามกลางการขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ขณะที่สภาพคล่องโลกมีแนวโน้มลดลงจากการลดขนาดงบดุลของ Fed และการลดนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของธนาคารกลางยุโรป (ECB) รวมไปถึงราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบ 50% ส่งผลกดดันกำลังซื้อและทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศตลาดเกิดใหม่ลดลง
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนควรติดตามการประชุม Fed ในวันที่ 13 มิ.ย. 2561 อย่างใกล้ชิด เพราะหาก Fed ส่งสัญญาณว่าจะขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาด จะจุดชนวนให้นักลงทุนต่างประเทศเกิดการเทขายหุ้นไทยและหุ้นในประเทศตลาดเกิดใหม่อีกรอบ ซึ่งประเด็นการขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดนี้จะกดดันการลงทุนในตลาดเกิดใหม่รวมถึงประเทศไทยไปตลอดทั้งปี 2561
“ขณะนี้นักลงทุนคาดว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ทั้งหมด 3 ครั้ง ซึ่ง Fed ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว 1 ครั้งในเดือน มี.ค. และคาดจะขึ้นอีกครั้งในการประชุมเดือน มิ.ย. แต่หากทั้งปี Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า 3 ครั้ง หรือเร็วกว่าที่คาดจะทำให้นักลงทุนเริ่มเทขายหุ้นในตลาดเกิดใหม่รวมถึงประเทศไทยอีกครั้ง ดังนั้น ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ ยังคงแนะนำให้นักลงทุนลงทุนด้วยความระมัดระวังในช่วงที่เหลือของปี และควรให้น้ำหนักการลงทุนในตลาดพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ และญี่ปุ่น มากกว่าตลาดเกิดใหม่ พร้อมทั้งแนะนำให้นักลงทุนถือเงินสดเพิ่มขึ้น เพราะจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 ” นายคมศร กล่าว
ทั้งนี้ ยังประเมินว่าความเสี่ยงจะมีมากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 4 โดยมีประเด็นต้องจับตามองอีกสองประการ ได้แก่ สภาพคล่องที่ลดลงจากการลดขนาดงบดุล (Balance Sheet) ของ Fed และการยุติ QE ของ ECB และความเสี่ยงจากการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ในเดือน พ.ย. ซึ่งพรรค Republican มีโอกาสสูญเสียเสียงข้างมากในทั้งสภาบนและสภาล่าง ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงอาจเป็นความเสี่ยงให้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถูกนำเข้ากระบวนการถอดถอน (Impeachment) ได้