HoonSmart.com>>ช็อค! “โดนัลด์ ทรัมป์” เซ็นยกเลิกการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) สินค้าไทย 573 รายการ ตีมูลค่า 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ บล.เอเซียพลัสคาดกระทบอาหารทะเล TU มีรายได้ส่งออกไปสหรัฐ 17% CPF ไม่มาก ส่วนเกษตร STA ส่งยางพาราไปขาย 5% ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ DELTA-HANA-KCE-SVI กระเทือน คาดธปท.ต้องลดดอกเบี้ย 0.25%ปลายปีนี้ บล.ไทยพาณิชย์คาดความเสี่ยงจำกัดเฉพาะธุรกิจ ไม่กระทบตลาดหุ้นรวม กระทรวงพาณิชย์จัดแถลงข่าว 28 ต.ค. นี้
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา ได้ลงนามในคำประกาศเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2562 ส่งถึงรองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ ซึ่งเป็นประธานวุฒิสภาโดยตำแหน่ง และนางแนนซี เปโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ระงับการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร ( จีเอสพี ) สินค้าส่งออกบางประเภทจากไทย อ้างเหตุผลจากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยยังไม่สามารถยกระดับสิทธิแรงงานให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล รวมถึงเสรีภาพในการชุมนุม เรียกร้องสิทธิเพื่ออำนาจการต่อรองของแรงงาน
ทั้งนี้เนื้อความในจดหมายของทรัมป์ ไม่ได้แจกแจงรายการสินค้าว่ามีอะไรบ้าง แต่ระบุว่า สินค้าดังกล่าวคิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ ประมาณ 40,000 ล้านบาท ที่ให้กับไทยในแต่ละปี มาตรการที่จะใช้กับไทยจะมีผลบังคับใช้ภายใน 6 เดือน จะครอบคลุมสินค้าของไทยที่ได้รับสิทธิพิเศษประมาณ 1 ใน 3 ในส่วนสินค้าอาหารทะเลทุกประเภทจะถูกระงับจีเอสพี เนื่อง จากปัญหาสิทธิและสวัสดิการแรงงานในภาคอุตสาหกรรมประมง
ทางด้านกระทรวงพาณิชย์ ในวันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม 2562 นายกีรติ รัชโน ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ จะแถลงรายละเอียดกรณีสหรัฐฯ ตัดสิทธิจีเอสพีไทย ณ กรมการค้าต่างประเทศ เวลา 10.30 น
บล.เอเซียพลัสเตือนตลาดหุ้นไทยเตรียมรับแรงกระแทก จากการถูกตัด GSP หุ้นส่งออกกระเทือน ประเมินเบื้องต้นกลุ่มเกษตรและอาหารได้รับผลกระทบ โดย TU คาดมีรายได้ส่งออกอาหารทะเลไปสหรัฐ ประมาณ 17% แบ่งเป็นทูน่า 12% และกุ้ง 5% แต่ธุรกิจกุ้ง กระทบไม่มาก บริษัทมีการซื้อมาขายไปในสหรัฐ ปกติจะซื้อจากหลายประเทศ เช่น อินเดีย เวียดนาม ไทย เอกวาดอร์ สามารถหาซื้อกุ่งจากประเทศอื่นไปส่งออกแทนได้
ส่วนกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ DELTA-HANA-KCE-SVI มีการส่งออกประมาณ 10-30% ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการไทยส่งออกไปสหรัฐไปประเทศอื่นก่อน เพื่อประกอบเป็นสินค้าสำเร็จรูปก่อนจึงส่งออกไปสหรัฐ
บล.ไทยพาณิชย์มองสหรัฐตัด GSP ไทย เป็นปัจจัยลบเชิงจิตวิทยาระยะสั้น กดดันความเชื่อม่ันการลงทุนในตลาดหุ้น โดยดฉพาะหุ้นกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งมีการส่งออกไปสหรัฐ แต่หุ้นกลุ่มนี้มีมาร์เก็ตแคปไม่มากนัก คาดว่าจะมีผลกระทบต่อดัชนีหุ้นไม่มาก
สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยดิ่งลงแรง ถึง 2.34% จากสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ดัชนีหุ้นปิดที่1,593.28 จุด รูดลง 27.69 จุดหรือ 1.71% เพราะนักลงทุนสถาบันขายออกมามากกว่า 7,673 ล้านบาท ส่วนต่างชาติพลิกกลับมาซื้อ 4,327 ล้านบาท และรายย่อยซื้อ 3,123 ล้านบาท นอกจากนี้ค่าเงินบาทแข็งมากที่สุดในรอบกว่า 6 ปี ครั้งใหม่ ปิดที่ 30.16บาท/ดอลลาร์
ตลาดหุ้นที่ปรับตัวแรง เนื่องจากมีปัจจัยลบหลายเรื่องเข้ามากระทบ ทำให้นักลงทุนขาดความมั่นใจ โดยเฉพาะกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ซึ่งบอร์ดธนาคารกสิกรไทยมีมติอนุมัติแผนธุรกิจในปี 2563 ซึ่งตัวเลขหลายตัวแย่กว่าที่คาด เช่น NPLS เพิ่มขึ้น เพราะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงมากกว่าที่คาด จะส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียนทุกธุรกิจ จึงมีการขายหุ้นกระจายในหลายกลุ่ม รวมถึงแรงทำกำไรหุ้นไฟฟ้าที่ราคาปรับตัวขึ้นมาแรงและเร็วมาก กดตลาดลงแรง
ขณะเดียวกันแรงขายหุ้นเกิดจากการชอร์ตเซล มีหลายตัวที่มีการขายล่วงหน้ามากกว่า 10% โดยกลุ่มแบงก์ SCB มีชอร์ตเซลกว่า 2 ล้านหุ้น คิดเป็น 12.69 % BBL ชอร์ตเซล 10.55 % หุ้นรับเหมาขนาดใหญ่ อาทิ ITDและ CK ส่วนหุ้นไฟฟ้า EA มีการขายล่วงหน้า 1 ล้านหุ้น คิดเป็น 11.49%
เมื่อวันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมากองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) ปรับลดประมาณการการเติบโตเศรษฐกิจไทยในปี 2562 จากที่เคยคาดไว้ที่ 3.5% เหลือ 2.9% และปี 2563 คาดเติบโต 3%
ทั้งนี้ นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ยืนยันมาตรการดังกล่าว ไม่มีผลกระทบกับการดำเนินงานของบริษัทฯ เนื่องจากสินค้าอาหารทะเลหรืออาหารสัตว์ที่ไทยยูเนี่ยนจำหน่ายในประเทศสหรัฐฯ ไม่ได้อยู่ภายใต้ GSP ดังนั้นมาตรการที่ประกาศในครั้งนี้ จึงไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัทไทยยูเนี่ยน
“การประกาศมาตรการจาก USTR ครั้งนี้ ไม่ได้มีผลกระทบใดๆ ต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท” นอกจากนี้ ไทยยูเนี่ยนยังคงมุ่งมั่นทำงานกับรัฐบาลต่างๆ ทั่วโลกเพื่อปรับปรุงเรื่องสิทธิแรงงานในห่วงโซ่อุปทานระดับโลก”
“ในปี 2558 ไทยยูเนี่ยนได้ประกาศกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน หรือ SeaChange® ซึ่งเป็นการรวบรวมแนวคิดริเริ่มต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันและสร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกในอุตสาหกรรมประมงทั่วโลก และหนึ่งในเสาหลักสำคัญของ SeaChange® คือความมุ่งมั่นในเรื่องสิทธิแรงงาน โดยแรงงานของเราต้องมีการจ้างงานที่ปลอดภัย ถูกกฎหมาย และมีเสรีภาพในการเลือกงานตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานขององค์กร ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของไทยยูเนี่ยนที่มุ่งมั่นจะเป็นผู้นำทางด้านอาหารทะเลที่น่าเชื่อถือที่สุดระดับโลก” นายธีรพงศ์ กล่าว
นอกจากนี้ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ไทยยูเนี่ยนได้รับการจัดอันดับจากดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ เป็นอันดับ 1 กลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอาหารของโลก เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน อีกทั้งได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิกในดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ เป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน โดยไทยยูเนี่ยนประสบความสำเร็จอย่างมากจากการได้คะแนนสูงสุดที่ 100 เปอร์เซ็นไทล์ ในด้านความยั่งยืนโดยรวม รวมถึงได้รับคะแนนสูงสุดในหัวข้อ จรรยาบรรณธุรกิจและแนวปฏิบัติด้านแรงงาน การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน และสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ไทยยูเนี่ยน ยังได้รับการจัดอันดับโดยดัชนี Seafood Stewardship Index (SSI) เป็นอันดับที่ 1 จาก 30 บริษัทด้านอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดทั่วโลก อีกทั้ง ดร.แดเรี่ยน แมคเบน ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมกิจการองค์กรและความยั่งยืนขององค์กร ยังได้รับรางวัลฟรีดอม อวอร์ด ออสเตรเลีย จากความพยายามต่อสู้เรื่องแรงงานทาสยุคใหม่ในอุตสาหกรรมอาหารทะเล เมื่อเร็วๆ นี้