HoonSmart.com>> “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลจากหนังสือชี้ชวนก่อนการตัดสินใจลงทุน” เป็นคำเตือนที่ยังใช้ได้ดี สำหรับหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน ไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัทที่กำลังจะออกมาเสนอขายประชาชนทั่วไปในเดือนพ.ย. 2562 มูลค่ามากกว่า 3 หมื่นล้านบาท เพราะอัตราดอกเบี้ยที่จะได้รับ 5% ต่อปี ในช่วง 5 ปีแรก สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับดอกเบี้ยเงินฝากในขณะนี้ หลังจากปีที่ 5 ผลตอบแทนยังมีการปรับขึ้นแบบขั้นบันได นักลงทุนย่อมจะต้องแบกรับความเสี่ยงมากขึ้นตามไปด้วย
นักลงทุนรู้ไหม “หุ้นกู้ด้อยสิทธิ” หมายถึงอะไร เป็นการด้อยสิทธิในเรื่องการได้รับการชำระหนี้หุ้นกู้ หลังเจ้าหนี้อื่น ๆ ของบริษัท ซึ่งที่ผ่านมา เมื่อบริษัทประสบปัญหาทางการเงิน เจ้าหนี้บุริมสิทธิและเจ้าหนี้สามัญ ยังไม่ได้เงินคืนเลย “หุ้นกู้ด้อยสิทธิ”จะหวังอะไรได้ โดยเฉพาะหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน ไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท
ดังนั้นจึงต้องศึกษาข้อมูลในหนังสือชี้ชวน หรือไฟลิ่ง ให้เข้าใจถึง“ความเสี่ยงที่สำคัญ” และ“สิทธิที่จะได้เงินต้นคืน” ซึ่งมีความเป็นไปได้น้อยมาก เป็นเพราะ..
ต้องเข้าใจก่อนว่าเหตุผลที่บริษัทยอมจ่ายดอกเบี้ยสูงถึง 5% ต่อปี สูงกว่าเงินปันผล เพราะตามมาตรฐานบัญชีแล้ว เปิด”หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน ไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท” นับเป็นทุนได้ทั้ง 100 % โดยบริษัทไม่ต้องเพิ่มทุนจดทะเบียน ไม่ต้องกังวลถึงภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นจนส่งผลกระทบต่ออันดับความน่าเชื่อถือ และต้นทุนทางการเงิน
การลงบัญชีกับการยอมรับของเจ้าหนี้เป็นคนละส่วนกัน ธนาคารยอมรับให้เป็นทุนได้ประมาณ 50% ตามกติกาของแบงก์แต่ละแห่ง หรือของผู้คุมกฎ คือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ซึ่งสภาวิชาชีพทางบัญชีเห็น”ความเสี่ยง”ที่เกิดขึ้น จึงมีการปรับปรุงมาตรฐานการบัญชี โดยเฉพาะฉบับที่ 32 (TAS32) ให้นับเป็นหนี้สินทั้ง 100% เช่นเดียวกับหุ้นกู้ทั่วไป ถ้าระบุการชำระเงินต้น หรือดอกเบี้ย ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ในอนาคตที่กิจการไม่สามารถควบคุมได้ เช่นต้องไถ่ถอนหุ้นกู้ทันที เมื่อมีผลขาดทุนจนทำให้ส่วนของทุนเหลือน้อยกว่า 50% ของทุนจดทะเบียน ยกเว้นกิจการได้ชำระบัญชี เพื่อเลิกกิจการ ไม่ว่าโดยสมัครใจหรือโดยผลของกฎหมายล้มละลาย ถึงจะถูกจัดเป็นทุน
ดังนั้นบริษัทที่ออกและที่ปรึกษาทางบัญชี ก็คือบริษัทผู้สอบบัญชีกลุ่มบิ๊กโฟร์ รู้จุดอ่อนตรงนี้ และปิดไปเรียบร้อยแล้ว
ตามไฟลิ่งของบริษัท 4 แห่งที่เตรียมเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน ไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท ได้แก่ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) และ บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) ได้ระบุเรื่องผู้ถือหุ้นกู้ชุดนี้จะมีสิทธิก่อนหน้าผู้ถือหุ้นสามัญของผู้ออกหุ้นกู้เมื่อเกิดกรณีดังต่อไปนี้ คือ 1.เมื่อบริษัท ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด คำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ หรือถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลายตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย หรือ 2.บริษัทฯ มีการชำระบัญชีเพื่อการเลิกกิจการ โดยตัดข้อความที่บริษัทไม่สามารถควบคุมได้ออกไป เช่น กรณีของบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ (ANAN) หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน ไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท ที่ออกเสนอขายในปี 2561 มีข้อ3.กรณีอื่นใดที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)
“มาตรฐานบัญชีใหม่ที่จะพลิกหุ้นกู้ด้อยสิทธิคล้ายทุน จากลงบัญชีเป็นทุน 100% พลิกเป็นหนี้ 100% เพราะเกมส์เปลี่ยนไป จากเดิม บริษัทเป็นคนคุมเกมส์ สามารถไถ่ถอนหุ้นกู้ หรือเลื่อนชำระดอกเบี้ยเมื่อไรก็ได้ ผู้ถือหุ้นกู้ไม่มีสิทธิเรียกร้อง หากมีเงื่อนไขที่ทำให้บริษัทมีความเสี่ยงที่จะต้องชำระเงินต้นและดอกเบี้ย เพราะผิดเกณฑ์สำนักงานก.ล.ต. หรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้ว ถือว่าเกมส์เปลี่ยน จะถูกเรียกเงินต้นคืนเมื่อไร คาดการณ์ไม่ได้จึงต้องลงบัญชีเป็นหนี้ก่อน แต่เมื่อบริษัทที่จะออกหุ้นกู้ฯตัดข้อความนี้แล้ว ก็รอดพ้นจากการถูกลงบัญชีเป็นหนี้ “ผู้สอบบัญชีกล่าว
สำหรับบริษัท 11 แห่งที่ออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน ไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท ก่อนหน้าที่จะปรับปรุง มาตรฐานTAS32 ควรจะได้รับการผ่อนผัน หรือยกเว้น แต่ยังไม่ข้อยุติว่าจะหาทางออกอย่างไร คงจะต้องรอการประชุมของสภาวิชาชีพบัญชี ในวันที่ 24 ต.ค.นี้ก่อน
ทางด้าน “ปรียนาถ สุนทรวาทะ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ กล่าวว่า หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนของ BGRIM ที่จะออกมูลค่า 6,000 ล้านบาท และสำรองเสนอขายอีกไม่เกิน 2,000 ล้านบาท รวม 8,000 ล้านบาท จะเสนอขายให้แก่นักลงทุนทั่วไปในวันที่ 19-21 พ.ย.นี้ บริษัทฯ ได้คำนึงถึงผลกระทบจากการนำมาตรฐานการบัญชีใหม่มาใช้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงจัดเป็นประเภทเป็นทุนทางบัญชีภายใต้มาตรฐานการบัญชีใหม่ได้ทั้งจำนวน นักลงทุนไม่ต้องกังวล
ส่วนการเสนอขายหุ้นกู้ชุดนี้ฯคาดว่าจะได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี โดยมีหลายปัจจัยสนับสนุน ได้แก่หุ้นกู้ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ BBB+ และอันดับความน่าเชื่อถือองค์กรที่ระดับ A แนวโน้ม “คงที่” จากบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ซึ่งเป็นระดับลงทุนได้ การกำหนดผลตอบแทนในช่วง 5 ปีแรกอยู่ที่ 5% ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราผลตอบแทนที่น่าพอใจ และการที่บริษัทฯ อยู่ในอุตสาหกรรมไฟฟ้าที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับภาครัฐระยะยาวและมีรายได้ที่มั่นคง มีโอกาสในการเติบโตในอนาคตอย่างไม่หยุดยั้งจากความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ
“บริษัทตัดสินใจออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนฯ เพราะจำเป็นต้องการใช้เงินในการขยายการลงทุนอีกหลายโครงการ แต่ไม่ต้องการเพิ่มทุนจดทะเบียน “ปรียนาถกล่าว
ปัจจุบัน BGRIM มีโครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและพัฒนาทั้งหมด 56 โครงการ กำลังการผลิตรวม 3,245 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทยอยเปิดให้ดำเนินการเชิงพาณิชย์ภายในปี 2568 โดยมีเป้าหมายที่จะขยายกำลังการผลิตเป็น 5,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2565