HoonSmart.com>> “ดีแทค” อวดผลงานไตรมาส 3/62 กำไรสุทธิ 1,817 ล้านบาท เหตุค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่ายลดลง รายได้ค่าบริการไม่รวม IC เพิ่มขึ้น ด้าน “ฟิทช์” ปรับแนวโน้มเครดิต DTAC เป็น “ลบ” สะท้อนอัตราส่วนหนี้สินสูงขึ้นหลังมีค่าใช้จ่ายยุติข้อพิพาท CAT
บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) แจ้งผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2562 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.2562 มีกำไรสุทธิ 1,817.16 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.77 บาท พลิกจากงวดเดียวกันของปีก่อนขาดทุนสุทธิ 921.49 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 0.39 บาท
ส่วนงวด 9 เดือน ปี 2562 กำไรสุทธิ 4,919.97 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 2.08 บาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 572.37 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.24 บาท
บริษัทชี้แจงว่า ณ สิ้นไตรมาส 3/2562 ดีแทคมีจำนวนลูกค้าทั้งสิ้น 20.4 ล้านราย ลดลง 217,000 ราย ขณะที่รายได้จากการให้บริการที่ไม่รวมค่า IC เพิ่มขึ้น 2.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 0.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นผลจากการพัฒนาที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของรายได้จากกลุ่มลูกค้าระบบเติมเงินและการรักษาระดับการพัฒนารายได้จากกลุ่มลูกค้าในระบบรายเดือน ในส่วนของกำไรสุทธิในไตรมาสที่ผ่านมามีมูลค่า 1,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยเป็นผลจาก EBITDA หรือผลกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดจ่ายที่ดีขึ้น
นางอเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) กล่าวว่า ไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ดีแทคได้เพิ่มเสาสัญญาณเพื่อให้บริการบนคลื่น 2300 เมกะเฮิร์ซมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 16,400 เสา โดยมีเสาสัญญาณจำนวนมากที่มีการติดตั้งเทคโนโลยี 4G TDD Massive MIMO 64T64R ซึ่งดีแทคเป็นผู้ให้บริการรายแรกของไทยที่ให้บริการเทคโนโลยีดังกล่าว
นอกจากนี้ ดีแทคยังคงพัฒนาด้านเทคโนโลยีในการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ยุค 5G โดยการทดสอบเทสต์เบดที่อาคารจามจุรี รวมไปถึงการอัพเกรดอุปกรณ์ระบบเครือข่ายหลักไปเป็นแบบเสมือน
นายดิลิปปาล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการเงิน กล่าวว่า ดีแทคมีผลการดำเนินงานทางการเงินที่แข็งเแกร่ง โดยรายได้จากการให้บริการที่ไม่รวมค่า IC เติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และด้วยการควบคุมต้นทุนการดำเนินงานและค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร (SG&A) ที่ดี ทำให้เรามี EBITDA และกำไรสุทธิที่ดีขึ้นจากไตรมาสก่อน
ดีแทคยังคงคาดการณ์รายได้จากการให้บริการที่ไม่รวมค่า IC ในปีนี้จะลดลงในอัตราร้อยละที่เป็นเลขหลักเดียวในระดับต่ำ โดยจะมี EBITDA อยู่ในช่วง 2.4-2.5 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ดีแทควางแผนที่จะใช้เงินลงทุนในปี 2562 จำนวนประมาณ 1.3-1.5 หมื่นล้านบาท
ด้านบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของ DTAC ซึ่งเป็นผู้ประกอบการโทรคมนาคมไทย เป็น “ลบ” จาก “มีเสถียรภาพ” พร้อมทั้งประกาศคงอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (Long-Term Foreign-Currency Issuer Default Rating) และอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินในประเทศ (Long-Term Local-Currency Issuer Default Rating) ของ DTAC ที่ ‘BBB’ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ที่ ‘AA(tha)’ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นของ (National Short-Term Rating) ที่ ‘F1+(tha)’
การปรับแนวโน้มเครดิตเป็นลบ สะท้อนถึงการคาดการณ์ของฟิทช์ว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO Adjusted Net Leverage) ของ DTAC จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับสูงกว่า 2.5 เท่า ณ สิ้นปี 2562 ซึ่งเป็นระดับที่ไม่สอดคล้องกับอันดับเครดิตปัจจุบันของบริษัท หลังจากที่มีการชำระค่าตอบแทนเพื่อระงับข้อพิพาทจำนวน 9.5 พันล้านบาท ให้กับ บริษัท กสท โทรคมนาคม ในช่วงต้นปี 2562 อัตราส่วนหนี้สินของ DTAC น่าจะอยู่ในระดับสูงกว่า 2.5 เท่าในช่วง 2 ปีข้างหน้า เนื่องจากฟิทช์คาดว่าบริษัทต้องเผชิญกับความท้าทายในกลับมามีส่วนแบ่งทางการตลาดที่เพิ่มขึ้น และรักษาระดับกำไร
ด้าน EBITDA ของ DTAC ต้องมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมาสู่ระดับ 3 หมื่นล้านบาท ในช่วง 2 ปีข้างหน้า (EBITDA ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา สิ้นสุดไตรมาสที่ 2 ของปี 2562 อยู่ที่ 2.6 หมื่นล้านบาท) จากรายได้ที่เติบโตในอัตราที่สูงขึ้น การลดลงของผู้ใช้บริการที่ย้ายไปยังผู้ให้บริการรายอื่น และอัตราส่วนกำไรต่อรายได้ที่สูงขึ้น เพื่อทำให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิปรับตัวลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 2.5 เท่า ซึ่งจะส่งผลให้แนวโน้มอันดับเครดิตถูกปรับมาเป็นมีเสถียรภาพ
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต การเติบโตของรายได้ที่ต่ำ ฟิทช์ประมาณการว่า EBITDA ของ DTAC จะกลับมาเติบโตในระดับที่ต่ำในปี 2563-2564 มาอยู่ที่ระดับประมาณ 2.6-2.7 หมื่นล้านบาท จากระดับที่คาดไว้ที่ 2.5 หมื่นล้านบาท ในปี 2562 (ครึ่งปีแรกของปี 2562 อยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านบาท) ฟิทช์มองเห็นถึงประโยชน์ในระยะยาวจากการที่บริษัทมุ่งเน้นที่จะปรับปรุงคุณภาพและความครอบคลุมของเครือข่าย เพื่อที่จะเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการ อย่างไรก็ตามการดำเนินการดังกล่าวอาจต้องใช้เวลาที่จะส่งผลให้ EBITDA ของบริษัทปรับตัวดีอย่างมีนัยสำคัญ
รายได้จากการให้บริการของ DTAC ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง 5.3% ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2562 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ในขณะที่ EBITDA ได้รับผผลกระทบจากจากค่าเช่าอุปกรณ์ที่จ่ายให้ กสท. และค่าใช้จ่ายในการใช้คลื่นความถี่ 2.3 GHz แก่ บมจ. ทีโอที ฟิทช์คาดว่ารายได้จากการให้บริการของ DTAC จะปรับตัวลดลง 2-3% ในปี 2562 และอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย ต่อรายได้ (EBITDA Margin) ลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณะมาณ 36% จาก 37.8% ในปี 2561
นอกจากนี้ฟิทช์คาดว่ากระแสเงินสดสุทธิของ DTAC จะเป็นลบในปี 2563 และ 2564 เนื่องจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (Funds from Operation) ที่ระดับประมาณ 2.3-2.5 หมื่นล้านบาทต่อปี อาจไม่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนในแต่ละปีที่ 1.4-1.5 หมื่นล้านบาท และค่าคลื่นความถี่ที่ 9 พันล้านบาท-1.3 หมื่นล้านบาท ต่อปี ในช่วงเวลาดังกล่าว อัตราส่วน FFO Adjusted Net Leverage น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 2.7 เท่าในปี 2563 และ 2564 จากระดับ 2.6 เท่า ที่คาดไว้ใน ณ สิ้นปี 2562 (ณ สิ้นปี 2561: 2.0 เท่า) อัตราการลดลงของอัตราส่วนหนี้สินขึ้นอยู่กับ กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากความสามารถของบริษัทที่จะกลับมามีส่วนแบ่งทางการตลาดที่เพิ่มขึ้น และจำนวนผู้ใช้บริการที่เติบโต
ด้านการครอบครองคลื่นความถี่มากขึ้น ฟิทช์คาดว่า DTAC น่าจะได้รับประโยชน์จากการชนะการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz และ 1.8 GHz ในช่วงปลายปี 2561 และคลื่น 700 MHz ในเดือนมิถุนายน 2562 ซึ่งน่าจะลดความเสียเปรียบในด้านคลื่นความถี่ที่ถือครองอยู่ และคุณภาพของเครือข่ายเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ซึ่งเป็นปัจจัยทำให้ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทด้อยกว่าคู่แข่งในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ส่วนแบ่งทางการตลาดของ DTAC ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจากการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง และบริษัทได้กลายเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่อันดับที่ 3 โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดตามรายได้จากการให้บริการของธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่ำกว่าของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ของปี 2560 ฟิทช์คาดว่า DTAC จะสามารถรักษาสัดส่วนทางการตลาดตามรายได้จากการให้บริการที่ระดับ 23-24% ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า (2018 อยู่ที่ 24%) เนื่องจากคุณภาพของเครื่อข่ายให้ดีขึ้น และการแข่งขันในตลาดที่ลดลง
การแข่งขันที่ปรับตัวดีขึ้น ส่วนแบ่งทางการตลาดจากรายได้จากการให้บริการของผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่แต่ละรายไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนักตั้งแต่ปี 2561 เนื่องจากผู้ประกอบการหันมาให้ความสำคัญกับกำไรมากกว่าส่วนแบ่งทางการตลาด และลดการให้ส่วนลดค่าเครื่องตั้งแต่ต้นปี 2561 ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2562 ผู้ประกอบการได้เริ่มยกเลิการเสนอแพ็กเกจเติมเงินแบบใช้งานข้อมูลได้ไม่จำกัด ซึ่งเริ่มมีการให้บริการในปี 2561 ฟิทช์เชื่อว่ามาตรการดังกล่าวที่มุ่งเน้นการเติบโตของกำไรของผู้ประกอบการและแผนธุรกิจที่มุ่งเน้นการให้บริการข้อมูล จะทำผู้ประกอบค่อยๆเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างรายได้จากการเติบโตของการใช้บริการด้านข้อมูล
ค่าเช่าดำเนินการที่อยู่ในระดับสูง ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ ฟิทช์ได้ทำการปรับปรุงหนี้สินที่เกิดจากค่าเช่าดำเนินการ โดยอัตราส่วนหนี้สินที่ปรับปรุงแล้วของ DTAC มีความอ่อนไหวต่อค่าเช่าดำเนินการ โดยหนี้สินที่เกิดจากค่าเช่าดำเนินการคิดเป็นสัดส่วน 48% ของประมาณการหนี้สินที่ปรับปรุงแล้วทั้งหมดในปี 2562
ความสัมพันธ์กับผู้ถือหุ้นใหญ่ ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก ฟิทช์จัดอันดับเครดิตของ DTAC โดยเริ่มจากการพิจารณาอันดับเครดิตของ DTAC โดยลำพัง (Standalone Rating) แล้วจึงพิจารณาถึงปัจจัยเสริมจากความสัมพันธ์ดังกล่าว (Bottom-Up Approach) โดยฟิทช์ได้ให้อันดับเครดิตเพิ่มขึ้นหนึ่งอันดับจากอันดับเครดิต Standalone ของ DTAC เพื่อสะท้อนถึงความเกี่ยวเนื่องในระดับปานกลางระหว่าง DTAC กับ Telenor โดย Telenor มีอำนาจควบคุมคณะกรรมการและผู้บริหารของ DTAC ดังนั้นหากมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการถือหุ้นของ Telenor หรือความสัมพันธ์กับ DTAC ฟิทช์จะทำการพิจารณาความสัมพันธ์และการสนับสนุนดังกล่าวจาก Telenor ใหม่อีกครั้ง