HoonSmart.com>> ‘จีสตีล’ จัดประชุมวิสามัญ 11 ต.ค. นี้ เสนอผู้ถือหุ้นไฟเขียวแปลงหนี้เป็นทุน พลิกส่วนทุนเป็นบวกกว่า 5 พันล้านบาท รักษาสถานะบจ. ปลุกความเชื่อมั่น เดินเครื่องผลิต 65,000 ตัน/เดือน หนุนอิบิทดาเป็นบวก-รายได้ 1.1-1.2 หมื่นล้านบาทปี 63 จับมือญี่ปุนพัฒนาเหล็กรีดเย็นเพิ่มมูลค่า ส่วน 8 เจ้าหนี้ลงทุนหุ้น โดยเฉพาะกองทุน ACO I กอดยาว 49.99% อัดฉีดเงินกู้ด้วย บริษัทนัดส่งงบ 11 พ.ย. ปลดป้าย SP หุ้นกลับมาเทรด
นางสาวสุนทรียา วงศ์ศิริกุล กรรมการบริหาร บริษัท จี สตีล (GSTEEL) เปิดเผยว่า บริษัทจะจัดการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 2/2562 ในวันที่ 11 ต.ค.2562 นี้ เพื่อขอมติอนุมัติโครงการแปลงหนี้เป็นทุนให้เจ้าหนี้จำนวน 8 ราย ในราคาหุ้นละ 0.19 บาท ช่วยลดภาระหนี้สินประมาณ 9,277 ล้านบาท คิดเป็น 48.99 % ของหนี้ทั้งหมด ส่วนดอกเบี้ยคงค้างและภาษีหัก ณ ที่จ่าย จะได้รับการปลดหนี้ จำนวน 5,032 ล้านบาท หลังแปลงหนี้เป็นทุน ทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นจากติดลบ 3,850 ล้านบาท พลิกกลับมาบวก 5,377 ล้านบาท มูลค่าหุ้นทางบัญชีจากติดลบ 56 สตางค์/หุ้น เพิ่มเป็นบวก 19 สตางค์ และอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนจากติดลบ 4.89 เท่า พลิกกลับมาบวก 1.79 เท่า
กรรมการบริหาร กล่าวว่า บริษัทมีหนี้สินสูงมาก 18,833 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้น ติดลบ 3,850 ล้านบาท ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2562 ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นบริษัทไม่เหมาะสมที่จะดำรงสถานะเป็นบริษัทจดทะเบียน(บจ.)ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์ฯ อาจพิจารณาให้บริษัทเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนจากการเป็นบริษัทจดทะเบียน หากบริษัทสามารถแปลงหนี้เป็นทุนได้สำเร็จ ภาระหนี้คงเหลือ 9,556 ล้านบาท ส่วนทุนเป็นบวก มีสภาพคล่องในการดำเนินงาน สามารถเรียกความมั่นใจของลูกค้ามากยิ่งขึ้น
“หุ้น GSTEEL ปิดครั้งหลังสุดอยู่ที่ราคาหุ้นละ 0.09 บาท ที่ปรึกษาทางการเงินตีมูลค่ายุติธรรมเพียง 0.07 บาท จากส่วนทุนและมูลค่าหุ้นทางบัญชีติดลบ เราเห็นว่าต่ำเกินไป จึงมาสรุปที่ 0.19 บาท ซึ่งเจ้าหนี้และกองทุนต่างประเทศ ACO I เข้ามาช่วยแปลงหนี้เป็นทุน ถือสัดส่วน 49.99% โดยเฉพาะ ACO I ได้ให้กู้ยืมมาซื้อวัตถุดิบเพื่อเปิดโรงงานผลิตอีกครั้ง แม้ว่าจะจ่ายดอกเบี้ยสูงประมาณ 10% ต่อปี แต่ก็มีการยกเว้นจ่ายคืนเงินต้นนาน 3 ปี จากสัญญาเงินกู้ทั้งหมด 5 ปี ขณะที่กองทุนมีอายุ 7 ปี ก็จะถือลงทุนในหุ้น GSTEEL ระยะยาว มั่นใจว่าฐานะการเงินดีขึ้น และแนวโน้มธุรกิจเติบโต เพราะเหล็กรีดร้อนเป็นสารตั้งต้นในการผลิตสินค้าอื่นๆอีกมากมาย “นางสาวสุนทรียากล่าว
อย่างไรก็ตามในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งนี้ ทางเจ้าหนี้ได้ขอให้ผู้ถือหุ้นจี สตีล พิจารณาทั้ง 3 เงื่อนไข ได้แก่ การแปลงหนี้เป็นทุนในราคา 0.19 บาทต่อหุ้น, การขอผ่อนผันการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของกิจการโดยอาศัยมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นของกิจการ (whitewash) และการแต่งตั้งกรรมการใหม่ 5 คนเข้าร่วมบริหารงาน เพื่อให้โครงการแปลงหนี้เป็นทุนประสบความสำเร็จ
สำหรับการดำเนินงาน บริษัทเริ่มกลับมาเปิดโรงงานผลิตเหล็กรีดร้อนได้ในช่วงปลายไตรมาส 2 มีการใช้กำลังการผลิตประมาณ 50,000 ตัน/เดือน หลังจากที่ได้รับการสนับสนุนวงเงินกู้ประมาณ 89 ล้านเหรียญฯ จากกองทุนต่างประเทศ ACO I และเข้ามาถือหุ้นด้วย 49.99% ทำให้ผลการดำเนินงานดีขึ้น คาดว่าสิ้นปีนี้จะมีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ยและค่าเสื่อม (อิบิทดา) ใกล้ศูนย์ และปี 2563 จะกลับมาเป็นบวกได้ หลังสามารถเดินเครื่องผลิตได้ตามเป้าหมายที่ 65,000 ตัน/เดือน
“การปรับโครงสร้างครั้งนี้ จะมีกำไรทางบัญชีอย่างน้อย 5,000-6,000 ล้านบาท จากครึ่งปีแรกมีผลขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 605 ล้านบาท คาดว่ารายได้ปีนี้ประมาณ 4,000 ล้านบาท ปีหน้าจะเพิ่มเป็น 11,000-12,000 ล้านบาท ราคาขายประมาณ 16,500-17,000 บาท/ตัน และการขยายตลาดใหม่ๆโดยเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีการนำเข้าจากต่างประเทศ และพัฒนาสินค้าให้กับกลุ่มผลิตถังบรรจุก๊าซ รวมถึงการร่วมมือกับพันธมิตรประเทศญี่ปุ่นในการพัฒนาสินค้าเหล็กรีดเย็น คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ช่วงต้นปี 2563″นางสาวสุนทรียา กล่าว
ส่วนการนำหุ้นกลับเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์อีกครั้ง นางสาวสุนทรียา กล่าวว่า บริษัทถูกขึ้นเครื่องหมาย SP เพราะส่งงบไตรมาส 3 ไม่ทันกำหนด ไม่ใช้เหตุส่วนทุนติดลบ บริษัทคาดว่าจะส่งงบได้ในวันที่ 11 พ.ย.นี้ คาดว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีการพิจารณาปลดเครื่องห้ามการซื้อขายหุ้นช่วคราวได้หลังจากได้รับข้อมูล ทั้งนี้ หุ้นถูก SP ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค.2561 ที่ผ่านมา