HoonSmart.com>>กัลฟ์ฯคาดกำไรต่อเนื่อง ปี 2563 COD เพิ่ม 140 MW อีก 620 MW รับรู้รายได้เต็มปี ส่วนการลงทุนในโอมานเฟสสอง โรงไฟฟ้าก๊าซฯ 6,000 เมกะวัตต์ในเวียดนาม และ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ 2,500 เมกะวัตต์ ในลาว ยังต้องใช้เวลาศึกษา โครงการใน EEC กลุ่มกัลฟ์เซ็นสัญญาร่วมทุน กนอ. พัฒนาโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) มูลค่า 47,900 ล้านบาท คาดเปิดให้บริการปี 2568
นายรัฐพล ชื่นสมจิตต์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 2563 จะมีกำไรเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากโรงไฟฟ้าเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) เพิ่มขึ้นอีก 140 เมกะวัตต์ (MW) และจะรับรู้ผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าที่ COD จำนวน 620 MW ในปี 2562 ได้เต็มปี
ปัจจุบัน บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าในมือ 12,000 เมกะวัตต์ COD แล้ว 5,919 เมกะวัตต์ คิดเป็นกำลังการผลิตตามสัดส่วนร่วมทุน 6,500-6,700 เมกะวัตต์ COD แล้ว 2,670 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าที่จะ COD ขนาด 140 MW ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าไบโอแมส 20 เมกะวัตต์ ใน อ.จะนะ จ.สงขลา, โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในโอมาน เฟสแรก 40 เมกะวัตต์ จากที่มีอยู่ทั้งหมด 5 เฟส กำลังการผลิตรวม 326 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทยอยเข้าระบบทั้งหมดภายในปี 2565 และโรงไฟฟ้าพลังงานลม 30-80 เมกะวัตต์ในเวียดนาม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Mekong Wind Power ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาดประมาณ 30 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานลมในทะเล ประมาณ 310 เมกะวัตต์
ส่วนโครงการใหญ่การพัฒนาโรงไฟฟ้าก๊าซ 6,000 เมกะวัตต์ในเวียดนาม และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ขนาด 2,500 เมกะวัตต์ ในลาว คาดว่าจะใช้เวลาหาข้อสรุปภายใน 1 ปีจากนี้ ซึ่งโรงไฟฟ้าพลังน้ำในลาวจะมีทั้งหมด 3 โครงการ ผลิตไฟฟ้าเพื่อขายกลับมายังประเทศไทย ยังอยู่ระหว่างการเจรจาคาดว่าจะต้องมีการแข่งขันเรื่องค่าไฟฟ้าด้วย แต่หากไม่ได้ขายไฟฟ้ากลับมาไทยแล้วจะพัฒนาโครงการต่อไปหรือไม่นั้น ก็ต้องดูความสามารถของลูกค้าที่จะมาซื้อแทนว่ามีความแข็งแกร่งเพียงพอหรือไม่
โครงการโรงไฟฟ้าก๊าซฯในโอมาน เฟสแรก คืบหน้าแล้ว 60-70% น่าจะสามารถ COD ได้ตามแผนงาน และกำลังศึกษาโครงการที่สองในโอมาน ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน คาดว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 500-1,000 เมกะวัตต์ เพื่อป้อนให้กับกลุ่มโรงงาน ลงทุนร่วมกับพันธมิตรคาดว่าจะสรุปในปี 2563 ส่วนการศึกษาธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในโอมานคาดว่าจะยังต้องใช้เวลาพิจารณาระยะหนึ่ง
ด้านนายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ GULF กล่าวว่า บริษัทกำลังพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) ในประเทศ 2 แห่ง ได้แก่โครงการ GSRC ตั้งอยู่ใน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี กำลังการผลิตรวม 2,500 เมกะวัตต์ มีความคืบหน้าแล้ว 30% และโครงการ GPD ที่ตั้งอยู่ใน จ.ระยอง กำลังการผลิต 2,500 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสามารถลงนามสัญญากู้เงินราว 4 หมื่นล้านบาท ในเดือนพ.ย.นี้
สำหรับการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภค คาดว่าจะมีการลงนามร่วมทุนกับกรมทางหลวงได้ในปีนี้ ในงานบริหารและซ่อมบำรุง (O&M) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81)
ส่วนโครงการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 1 ต.ค. 2562 เห็นชอบการลงทุนโครงการขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งเป็นพื้นที่ถมทะเล 1,000 ไร่ ในการพัฒนาโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) ซึ่ง GULF ในฐานะผู้ร่วมทุนสัดส่วน 70% และบริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ถือ 30%ใน บริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล ลงนามกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ) เพื่อร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าว โดยนายสารัชถ์กล่าวว่า เอกชนเตรียมที่จะจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อดำเนินการ โครงการทั้งหมด 47,900 ล้านบาท จะแบ่งเป็นการกู้เงินสัดส่วน 70% หรือประมาณ 33,500 ล้านบาท และส่วนทุนอีก 30% หรือ 14,300 ล้านบาท คาดว่าจะทยอยกู้เงินได้ในปีหน้า
น.ส.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า กนอ.ร่วมลงนามในสัญญาร่วมลงทุนกับบริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล ในรูปแบบ Public Private Partnership (PPP) NET Cost หรือร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนโดยให้เอกชนได้รับสิทธิ์ในการประกอบกิจการบนพื้นที่ จำนวน 200ไร่ และ จัดสรรผลตอบแทนบางส่วนให้แก่ภาครัฐตามข้อตกลง โครงการนี้ นับเป็น 1 ใน 5 โครงสร้างพื้นฐานหลักใน อีอีซี ถือเป็นโครงการแรกในการเซ็นสัญญาร่วมทุน กนอ.คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในปี 2568 และมั่นใจว่าจะมีส่วนสำคัญต่อการสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น เกิดการเชื่อมต่อระบบขนส่งแบบไร้รอยต่อของไทยเพื่อเชื่อมไปสู่ประตูเศรษฐกิจกลุ่มประเทศ CLMVT
โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 รวมการลงทุนทั้งสิ้น 55,400 ล้านบาท ช่วงที่ 1 เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน จะได้สิทธิในการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือ ประมาณ 200 ไร่ รวมมูลค่าการลงทุน ประมาณ 47,900 ล้านบาท แบ่งเป็น กนอ.ร่วมลงทุนไม่เกิน 12,900 ล้านบาท และเอกชน 35,000 ล้านบาท ได้แก่ การขุดลอกและถมทะเล 1,000 ไร่ แบ่งเป็น พื้นที่ใช้ประโยชน์ 550 ไร่ และพื้นที่เก็บกักตะกอน 450 ไร่ การก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานการติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมการเดินเรือ ท่าเทียบเรือบริการ และท่าเรือก๊าซรองรับปริมาณการขนถ่ายก๊าซได้ 10 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2568
ส่วนช่วงที่ 2 จะเป็นการลงทุนพัฒนาก่อสร้างในส่วนของท่าเรือ กนอ.จะออกทีโออาร์ ประกาศเชิญชวนภาคเอกชน ที่สนใจเข้าร่วมพัฒนา โดยเอกชนเป็นผู้ลงทุนพัฒนาท่าเทียบเรือสินค้าเหลวรองรับปริมาณขนถ่ายสินค้าเหลวได้ 4 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2566 และเปิดให้บริการได้ภายในปี 2568 จะใช้เงินลงทุนประมาณ 4,300 ล้านบาท และงานก่อสร้างพื้นที่หลังท่า จำนวน 150 ไร่ เงินลงทุน 3,200 ล้านบาท เพื่อรองรับธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เนื่องจากปัจจุบันการใช้งานท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด มีการใช้งานใกล้เต็มศักยภาพรองรับแล้ว จึงจำเป็นต้องขยายเป็นระยะที่ 3 เพื่อรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และสินค้าเหลวสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี คาดว่าจะสามารถรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและสินค้าเหลวได้เพิ่มอีก 14 ล้านตันต่อปีในอีก 30 ปีข้างหน้า
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) นับเป็นโครงการแรกใน 5 โครงการขนาดใหญ่พื้นที่ EEC ที่สามารถลงนามสัญญาร่วมลงทุนได้ โครงการจะสามารถรองรับการลงทุนและการเป็นศูนย์กลางธุรกิจปิโตรเคมีในอนาคต หลังจากนี้คาดว่าจะมีการลงนามในโครงการที่สองในพื้นที่ EEC คือโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) คาดว่าจะเกิดขึ้นก่อนวันที่ 15 ต.ค.
ส่วน 3 โครงการที่เหลือ ได้แก่ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ,โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา และโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ยังไม่ทราบว่าลงยามได้เมื่อไร โครงการทั้งหมดจะเป็นโครงการที่สร้างอนาคตให้กับประเทศและก่อให้เกิดการสร้างงานมากขึ้น และผลักดันให้เศรษฐกิจประเทศเติบโต