HoonSmart.com>> บลจ.บัวหลวง ปลื้มนักลงทุนตอบรับ กองทุน “ฟันด์ออฟฟันด์บัวหลวงโครงสร้างพื้นฐานและอสังหาริมทรัพย์” ยอดขาย IPO สูงเกินคาดกว่า 2,800 ล้านบาท ทางเลือกลงทุนท่ามกลางดอกเบี้ยต่ำ กระจายลงทุนอสังหาริมทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศ พร้อมเปิดจขายอีกครั้ง 6 ก.ย.นี้
นายวศิน วัฒนวรกิจกุล กรรมการผู้จัดการ Head of Business Distribution บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) บัวหลวง จำกัด เปิดเผยว่า กองทุนเปิดฟันด์ออฟฟันด์บัวหลวงโครงสร้างพื้นฐานและอสังหาริมทรัพย์ หรือ กองทุน B-IR-FOF ที่เสนอขายครั้งแรก (IPO) เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม – 3 กันยายน ที่ผ่านมา นักลงทุนให้ความสนใจจองซื้อหน่วยลงทุนเข้ามาเป็นจำนวนมาก ด้วยยอดจองซื้อที่เกินความคาดหมาย รวมทั้งสิ้นกว่า 2,800 ล้านบาท
“กองทุนบัวหลวง ขอขอบคุณนักลงทุนทุกท่าน ที่มอบความไว้วางใจ และให้การสนับสนุนด้วยดีตลอดมา และที่สำคัญ คือ ความร่วมมือจากช่องทางจัดจำหน่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเครือข่ายสาขาธนาคารกรุงเทพทั่วประเทศ รวมทั้งผู้สนับสนุนด้านช่องทางจำหน่ายทุกแห่ง ที่มีส่วนในการจัดจำหน่ายกองทุนของกองทุนบัวหลวงมาโดยตลอด” กรรมการผู้จัดการ กล่าว
อย่างไรก็ตามกองทุนบัวหลวง ยังคงเชื่อมั่นว่า ไม่ว่าสถานการณ์แวดล้อมจะเป็นเช่นไร หากนักลงทุนยังคงยืนหยัดลงทุนต่อเนื่อง (Staying Invested) ด้วยกลยุทธ์ลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย ก็จะสามารถรับมือกับความไม่แน่นอนในอนาคตได้ และทำให้ผู้ลงทุนมีโอกาสรับผลตอบแทนที่ดี ขณะเดียวกัน จะยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาและนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ เพื่อเติมเต็มพอร์ตการลงทุน ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง อีกทั้งเพื่อรองรับความต้องการของนักลงทุนที่ต้องการจัดสรรเงินลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก ที่มีลักษณะแตกต่างจากหุ้นและตราสารหนี้
กรรมการผู้จัดการ กล่าวเพิ่มเติมว่า การกระจายลงทุนในทรัพย์สินที่มีช่องทาง หรือโอกาสสร้างรายได้ที่ค่อนข้างสม่ำเสมอ เช่น รายได้จากค่าเช่าสำนักงาน ศูนย์การค้า โรงแรม คลังเก็บสินค้า ศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่ แม้กระทั่งโครงสร้างพื้นฐานก็เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งการลงทุนในกองทุน B-IR-FOF ก็ถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยให้เข้าถึงโอกาสดีๆ แบบนี้ได้เช่นกัน
ทั้งนี้ กองทุน B-IR-FOF เป็นกองทุนรวมประเภทฟันด์ออฟฟันด์ ที่จะไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและอสังหาริมทรัพย์ ผ่านหน่วยลงทุนของกองทุนรวมหลายกองทุน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่เป็นกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund) ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) และกองทุนรวมอีทีเอฟ (ETF) ที่เน้นลงทุนหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หรือกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน