SINGER รุกเปิดแฟรนไชส์คาดปี 63 รายได้โต 10-15%

HoonSmart.com>> “ซิงเกอร์” กางแผนปี 63 รุกเปิดแฟรนไชส์ 925 อำเภอ ขยายฐานลูกค้าหนุนรายได้เติบโต 10-15% คาดได้ใบอนุญาตสินเชื่อบุคคลเดือนก.ย.-ต.ค.นี้ พร้อมปล่อยสินเชื่อปีนี้ 1 พันล้านบาท ตั้งเป้าปี 65 พอร์ตลูกหนี้รวมแตะ 8,000 ล้านบาท สาขา 7,300 แห่ง

นายกิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER) เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่ารายได้ในปี 63 จะกลับมาเติบโตประมาณ 10-15% จากปีนี้คาดว่าจะทรงตัวจากปี 61 มีรายได้ 2,880 ล้านบาท ผลจากเศรษฐกิจชะลอตัวและน้ำท่วมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับในปีนี้บริษัทไม่ได้มีการขยายสาขาเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งปกติรายได้จะเติบโตตามการขยายสาขาและพอร์ตลูกหนี้ที่เพิ่มขึ้น

สำหรับแผนการดำเนินงานปี 2563 บริษัทจะเดินหน้าขยายเครือข่ายการขายแบบเจาะลึกทุกอำเภอเข้าถึงในทุกตำบล เพื่อขยายฐานลูกค้าให้เติบโตมากขึ้น โดยตั้งเป้าขยายธุรกิจแฟรนไชส์หรือสาขาย่อยของบริษัทให้ครอบคลุม 925 อำเภอ ในปี 2563 และครบ 7,300 สาขา ครอบคลุม 7,000 กว่าตำบลทั่วประเทศภายในปี 2565 และคาดว่ารายได้จะเติบโตขึ้น 7 เท่าจากปัจจุบัน SINGER มีสาขารวม 1,051 สาขา แบ่งเป็นร้านสาขาหลัก 182 สาขา ร้านแฟรนไชส์หรือสาขาย่อย 869 สาขา ครอบคลุม 763 ตำบล จาก 475 อำเภอทั่วประเทศ

ในส่วนของสาขาแฟรนไชส์ของบริษัทฯ กำหนดเป็น 3 รูปแบบคือ แบบ Standard, แบบ Premium และแบบ Partner โดยในแต่ละโมเดลจะใช้ยอดขายเป็นเกณฑ์ในการแบ่ง ซึ่งจะส่งผลต่อการจัดรูปแบบร้าน การวางสินค้า และการคิดคำนวณค่าตอบแทนการขายที่ไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่ทุกโมเดลได้รับเหมือนกันคือ จะไม่มีการเก็บค่าแรกเข้า ค่าธรรมเนียมรายปี ไม่ต้องลงทุนในการซื้อสินค้าไปสต๊อก ได้เป็นเจ้าของกิจการของตนเอง มีรายได้จากการขาย การสร้างทีมขาย รวมถึงรายได้จาการบริหารบัญชีลูกค้าของตนเองแบบไร้ขีดจำกัด

ทั้งนี้ยังสามารถขายสินค้าได้ทั้งในรูปแบบของระบบเงินสดและเงินผ่อน โดยบริษัทจะเป็นผู้ดูแลด้วยการนำระบบรองรับการจำหน่ายสินค้าที่ทันสมัย เรียนรู้ง่าย สามารถใช้งานได้ทันทีผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ และมีทีมงานบริหารหลังบ้าน (back office) คอยสนับสนุน อำนวยความสะดวกในทุกขั้นตอนของกระบวนการขายตลอดเวลา

สำหรับการให้บริการสินเชื่อบุคคลนั้น บริษัทอยู่ระหว่างรอใบอนุญาตในการให้บริการสินเชื่อบุคคล จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งคาดว่าจะได้รับใบอนุญาตในช่วงเดือนก.ย.-ต.ค.นี้ โดยตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลปีนี้ 1,000 ล้านบาท ขณะที่สินเชื่อรวมในปีนี้ตั้งเป้าไว้ 4,000 ล้านบาทและเพิ่มเป็น 6,000 ล้านบาท ภายในปี 63 แบ่งเป็นสัดส่วนสินเชื่อที่ปล่อยให้กับสินค้าภายใต้แบรนด์ (SINGER) 35% และปล่อยสินเชื่อให้กับสินค้าอื่นๆ ที่ไม่ใช่แบรนด์ (NON-SINGER) ที่แบ่งเป็นรายย่อย(ส่วนบุคคล) และจำนำทะเบียนรถ(C4C) สัดส่วน 65% และในปี 2565 มีพอร์ตสินเชื่อเพิ่มเป็น 8,000 ล้านบาท แบ่งสัดส่วน SINGER 25% และ NON-SINGER เป็น 75%

พร้อมทั้งมีแผนลดสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ลงเหลือไม่เกิน 10% จากปัจจุบันอยู่ที่ 12% โดยเพิ่มสินเชื่อใหม่มีคุณภาพและขายหนี้เสียออกทุกไตรมาส ขณะที่การตั้งสำรองหนี้ในปัจจุบันอยู่ในระดับที่เหมาะสม