HoonSmart.com>> กกพ. ประกาศรายชื่อ 34 บริษัทมีสิทธิเข้าร่วมโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน (ERC Sandbox) โปรเจกต์น่าสนใจทั้งนั้น บีซีพีจี-พลังงานบริสุทธิ์ได้รับเลือก 3 โครงการเท่ากัน กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง ได้ 2 โครงการ ส่วน ปตท. เอสพีซีจี และกัลฟ์ เอ็นเนอร์จีฯได้อย่างละ 1 โครงการ บริษัทไหนทดสอบได้ผลสำเร็จก่อน สามารถนำไปลงทุนต่อยอดเชิงพาณิชย์โกยเงินเข้ากระเป๋าได้มหาศาล
สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน (ERC Sandbox) ทั้งหมด 34 โครงการ เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2562 โดยบริษัท บีซีพีจี (BCPG) ได้รับเลือก 3 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการบริหารจัดการพลังงาน Town 77 2.โครงการพัฒนาต้นแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางการศึกษาและพัฒนา และ 3.โครงการ Sun Share Smart Green Energy Community
บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ (EA) ก็ได้รับเลือก 3 โครงการ ได้แก่ โครงการระบบกักเก็บพลังงานแบบแบตเตอรี่เพื่อการจัดเก็บพลังงานหมุนเวียน 2. โครงการศึกษาโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าที่เหมาะสมสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้า จากพฤติกรรมผู้ใช้ร่วมกับการลำดับความสำคัญและควบคุมโหลดไฟฟ้าและแหล่งผลิตไฟฟ้าอย่างเหมาะสม และ 3.โครงการ พื้นที่ทดสอบมหาวิทยาลัยอัจฉริยะด้านพลังงานของจุฬา: การซื้อขายไฟฟ้าแบบ Peer to Peer และอาคารอัจฉริยะ โดยดำเนินโครงการร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และการไฟฟ้านครหลวง
โครงการของบริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) คือ โครงการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าด้วยพลังงานลมร่วมกับระบบสะสมพลังงาน เพื่อปรับปรุงคุณภาพ ไฟฟ้า และเพิ่มเสถียรภาพในระบบจำหน่าย ขนาด 22,000 โวลด์ และโครงการที่ 2 การสร้างต้นแบบระบบการซื้อขายไฟฟ้าลักษณะ Peer to Peer ภายใต้ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเอกชน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้านครหลวง
สำหรับบริษัท ปตท. บริษัท เอสพีซีจี และบริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ได้บริษัทละ 1 โครงการ โดย GULF เสนอโครงการ Smart Battery Energy Storage in Samui Island นอกจากนี้ โครงการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้เข้ามาร่วมทดสอบด้วย 4 โครงการ
ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ จะต้องจัดทำแผนปฎิบัติการร่วมกับสำนักงานกกพ. เพื่อให้โครงการเกิดประสิทธิภาพและประโยชน์สูงสุด เมื่อแผนผ่านการอนุมัติแล้ว ผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องตกลงดำเนินโครงการแเล้วเสร็จ โดยขอสงวนสิทธิในการยกเลิก หากการดำเนินโครงการเป็นสาเหตุให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานของส่วนรวม หรือไม่ปฎิบัติตามเงื่อนไข
ทางด้านบริษัทเอ็ม ดี เอ็กซ์ (MDX) และ บริษัท ราช กรุ๊ป (RATCH) แจ้งว่า บริษัท ไฟฟ้า น้ำงึม 3 จำกัด บริษัทร่วมทุนใน สปป. ลาว ที่MDX ถือหุ้นในอัตรา 27% ผ่าน บริษัท จี เอ็ม เอส ลาว และ RATCH ถือหุ้น 25% ได้จดทะเบียนเลิกบริษัทและชำระบัญชีตามกฎหมายของ สปป. ลาว เรียบร้อยแล้ว เนื่องจากบริษัทร่วมทุนไม่มีการทำธุรกรรมใดๆ และการเลิกบริษัท ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทฯ แต่อย่างใด
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 37 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง วันที่ 4 ก.ย. 2562 มีการหารือการขยายปริมาณการซื้อขายไฟฟ้าเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้าพหุภาคีในโครงการลาว-ไทย-มาเลเซีย (LTM-PIP) จากเดิม 100 เมกะวัตต์ (MW) เป็น 300 เมกะวัตต์ คาดว่าจะมีการลงนามได้ก่อนเดือน ธ.ค.2562 ขณะที่กรอบความร่วมมือจะมีระยะเวลา 2 ปีนับตั้งแต่เดือนม.ค.2563
โครงการนี้นับเป็นโครงการต้นแบบของอาเซียนในการใช้ ASEAN Grid Connectivity เพื่อที่จะเชื่อมโยงพลังงานระหว่างอาเซียนร่วมกัน นอกจากนี้ยังได้หารือเพิ่มเติมว่าจะมีสิงคโปร์ที่แสดงความสนใจเข้ามาเป็นประเทศที่สี่ที่จะเข้ามาร่วมมือแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้ากัน ซึ่งจะก่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างประเทศ หากเกิดเหตุในจุดใดจุดหนึ่งก็สามารถใช้พลังงานจากประเทศเพื่อนบ้านมาช่วยแก้ปัญหาได้ เป็นการใช้จุดแข็งของแต่ละประเทศมาบริหารเรื่องความมั่นคงและเรื่องราคาพลังงานในอนาคต จะทำให้การบริหารจัดการมีความหลากหลาย และนำไปสู่ต้นทุนพลังงานในภูมิภาคที่สามารถแข่งขันได้
นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า มาเลเซียซื้อไฟฟ้าจากลาว 300 เมกะวัตต์ โดยใช้ไทยเป็นทางผ่านเชื่อมโยงโครงข่าย นับว่ายังมีปริมาณน้อยมากเมื่อเทียบกับความต้องการใช้ของมาเลเซียที่มีมากถึง 24,000 เมกะวัตต์
ด้านการซื้อขายหุ้นไฟฟ้าวันที่ 4 ก.ย. นักลงทุนยังคงสนใจหุ้น GULF ต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาปรับตัวขึ้นสูงสุด 160 บาท แต่กลับมาปิดที่ 156 บาท ลดลง 1 บาทหรือ 0.64% มูลค่าเหลือ 2,473 ล้านบาท EA ปิดที่ 48.75 บาท บวก 1 บาทหรือ 2.09% บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) ปิดที่ 42.25 บาท เพิ่มขึ้น 0.25 บาท บริษัทผลิตไฟฟ้า (EGCO) ปรับตัวขึ้นโดดเด่น ปิดที่ 357 บาท เพิ่มขึ้น 14 บาทหรือ 4.08% มูลค่าซื้อขาย 1,231 ล้านบาท เนื่องจากมีข่าวเรื่องบริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่องการเปลี่ยนแปลงมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (แตกพาร์) ปัจจุบันอยู่ที่ 10 บาท/หุ้น