CK น่าสนไหม? ลูกมีมาร์เก็ตแคปสูง สัมปทาน 29-30 ปี

 

หุ้นรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ ราคาไหลลงมาเร็วและแรงในเดือนส.ค.ที่ผ่านมา โดยเฉพาะหุ้นบริษัท ช.การช่าง (CK) เพียง 1 เดือน ร่วงลงมาประมาณ 13.70% จากระดับ 27 บาท มาอยู่ที่ 23.30 บาท คงเหลือมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) จำนวน 39,467 ล้านบาท ณ วันที่ 30 ส.ค. 2562

HoonSmart.com>>นักลงทุนและตลาดประเมินค่าหุ้น CK ต่ำกว่ามูลค่าเงินลงทุนในบริษัท 3 แห่ง ได้แก่ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) สัดส่วน 31.32% คิดเป็นมาร์เก็ตแคปประมาณ 53,615 ล้านบาท บริษัท ซีเค พาวเวอร์ (CKP) 27.22% มูลค่า 12,238 ล้านบาท และบริษัท ทีทีดับบลิว (TTW) 19.40% มูลค่า 10,836 ล้านบาท รวมมาร์เก็ตแคปทั้งสิ้น 76,689 ล้านบาท ทั้งนี้ยังไม่รวมมูลค่างานในมือ หรือ Backlog ของบริษัทช.การช่างเองอีกจำนวน 38,500 ล้านบาท แถมมีงานใหม่ที่ได้มาแล้ว แต่ยังไม่ได้เซ็นสัญญา ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้และกำไรอีกมากในอนาคต

เป็นที่ทราบกันดีว่า หุ้นช.การช่างแตกต่างจากบริษัทรับเหมาทั่วไป มีพอร์ตลงทุนแข็งแรง ในบริษัทที่ทำธุรกิจสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ของประเทศ  ช่วยลดความเสี่ยงและสร้างรายได้มั่นคง เพราะลูกๆสามารถจ่ายเงินปันผลได้ทุกปี  มีรายได้เติบโตต่อเนื่องระยะยาว ตามอายุสัมปทานจากภาครัฐที่มีความมั่นคง

กรณี CKP ถือหุ้นในบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำนวน 37.5% ดําเนินการโครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี เป็นระยะเวลา 29 ปี นับจากวันจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD)ในช่วงปลายปี 2562 เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าที่ผลิตได้ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว

BEM ในฐานะผู้ให้บริการทางพิเศษและระบบขนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้า รวมถึงการพัฒนาเชิงพาณิชย์ ได้รับสัมปทาน 30 ปีหรือมากกว่านั้น เช่นการทำสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินกับ รฟม. ระยะเวลา 33 ปี รวมถึงทางพิเศษอีกหลายเส้นทาง

นอกจากนี้ บริษัทลูกยังป้อนงานให้บริษัทแม่สม่ำเสมอ  ไม่ว่าจะเป็นทางด่วน หรือรถไฟฟ้า  โดยเฉพาะโครงการไฟฟ้าพลังน้ำของ CKP ซึ่งไม่มีบริษัทรับเหมาฯแห่งใดที่มีประสบการณ์ และความสามารถในพัฒนาโครงการได้แล้วเสร็จเร็วหรือตามกำหนดเหมือนช.การช่าง สามารถผูกขาดงานในอนาคตได้แน่นอน หาก บริษัท ซีเค พาวเวอร์ได้สัมปทานโครงการใหม่จากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

ขณะเดียวกัน บริษัทช.การช่างยังร่วมกับพันธมิตรในการประมูลโครงการใหญ่  เช่น ร่วมกับซีพีชนะประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 2.2 แสนล้านบาท

แม้ว่า บริษัทช.การช่างจะมีปัจจัยพื้นฐานแข็งแรง แต่ต้องยอมรับว่า ในช่วงนี้ ไม่ใช่เวลาของหุ้นรับเหมาฯ ราคายังมีโอกาสปรับตัวลงต่อเนื่อง เพราะความไม่แน่นอนในหลายเรื่อง

เหตุผลใหญ่ที่กดดันหุ้นรับเหมาฯ คือ ธุรกิจเปลี่ยนแปลง ไม่ได้แบ่งเค้กเหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว

ปัจจุบันมีคู่แข่งรายใหม่ที่ใหญ่กว่า คือ บริษัทรับเหมาจากประเทศจีนมาแย่งงานโครงการพื้นฐานขนาดใหญ่ จับมือกับบริษัทรับเหมาไทยขนาดกลาง ชนะไปหลายโครงการ ประเมินมูลค่าร่วม 2 แสนล้านบาท หากรัฐยังไม่เข้ามาแก้ไขปัญหา เชื่อว่า”รับเหมาฯจีนกินรวบอีกหลายโครงการ”  รับเหมาไทยรายใหญ่ จะต้องปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจให้เร็วทันสถานการณ์

บริษัทรับเหมาจีนขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ เข้ามาในจังหวะที่บริษัทรับเหมาไทยไม่แข็งแรงเหมือนอดีต

บริษัทช.การช่าง ผ่านยุคเฟื่องฟู เคยมี Backlog สูงถึง 1 แสนล้านบาท  แต่ปัจจุบันลดลงเหลือไม่ถึง 4 หมื่นล้านบาท เพียงพอในการรับรู้รายได้ประมาณ 1 ปีครึ่ง หากไม่มีของใหม่เข้ามาเติม แต่มีความหวังว่าจะไปต่อได้ มีงานค้างท่ออยู่หลายโครงการ เช่น กำลังจะลงนามก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 2,019 ล้านบาท ทางด่วนพระรามสาม-ดาวคะนอง สัญญา 4 จำนวน 6,200 ล้านบาท ศูนย์การแพทย์ขอนแก่น 4,061 ล้านบาท เพิ่มงานในมือเป็นประมาณ 5 หมื่นล้านบาท

ขณะนี้ยังต้องลุ้นว่างานใหม่จะเข้ามาเมื่อใด  เพราะงานที่รอมีขนาดใหญ่  เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 2.2 แสนล้านบาท  คาด CK จะได้งานก่อสร้างประมาณ 5-7 หมื่นล้านบาท ยังติดปัญหาการลงนาม การส่งมอบพื้นที่  รวมถึงโครงการของ BEM อีกหลายโครงการ ซึ่งมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะการรอให้ ครม.ไฟเขียว ต่ออายุสัญญาสัมปทานโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ซึ่งมี 2 ทางเลือก ที่ผ่านกระบวนการเจรจาต่อรองกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทยมาแล้ว  ขณะนี้ความหวังในการขยายเวลา 30 ปี โดยไม่มีอะไรแลกเปลี่ยน น่าจะริบหรี่ลง บริษัทยอมรับเงื่อนไข  ขอให้ความชัดเจน หากยังคงยืดเยื้อต่อไป จะรบกวนหุ้นไม่หยุด แต่เชื่อว่าราคาหุ้นจะไม่ถูกกระแทกมากเหมือนที่ผ่านมา ราคาย่อลง น่าจะเป็นโอกาสในการทยอยเก็บ เพื่อลงทุนระยะยาว  รับเงินปันผลปีละ 2 ครั้ง  กลางปีนี้จ่ายหุ้นละ 0.20 บาท  และราคาแถวนี้ยังต่ำกว่ามูลค่าที่นักวิเคราะห์ประเมินไว้ เช่นบล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ให้มูลค่าพื้นฐาน  31 บาท    อย่างไรก็ตามการลงทุนมีความเสี่ยงต้องศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน