HoonSmart.com>>บริษัทพลังงานเดินหน้าลงทุนนวัตกรรมต่อยอดธุรกิจ กลุ่มปตท.เตรียมงบ 20 ล้านเหรียญ วิจัยสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบ ขนาด 10 เมกะวัตต์ชั่วโมงในสหรัฐ คาดเสร็จไตรมาส 2/2563 บ้านปูเตรียมงบลงทุนมากกว่า 500 ล้านเหรียญ ให้บรรลุเป้าหมายธุรกิจปี 2568 ด้านหุ้นพลังงาน ยังมีแรงขายต่อเนื่อง เลือกซื้อหุ้นไฟฟ้ารายตัว GULF นิวไฮ ดัชนีติดลบ 4.68 จุด ต่างชาติขายต่อ 3,227 ล้านบาท ทิ้งตราสารหนี้ 5,355 ล้านบาท
วันที่ 22 ส.ค. 2562 บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ร่วมลงนามกับบริษัทปตท. (PTT) ในสัญญาร่วมวิจัยและพัฒนาโรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบ (Pilot Plant) ด้วยเทคโนโลยีเซมิ-โซลิค (Semi-Solid) คาดการศึกษาแล้วเสร็จในปี 2564 เพื่อต่อยอดและเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันในธุรกิจแบตเตอรี่และเทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน
นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัทปตท. (PTT) เตรียมใช้เงินประมาณ 20 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าปีแรกจะใช้ประมาณ 13-15 ล้านเหรียญสหรัฐ และใช้เงินเพิ่มอีก 5 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วงปีที่สอง เพื่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบ ขนาด 10 เมกะวัตต์ชั่วโมง (MWh) ในสหรัฐอเมริกา ด้วยเทคโนโลยีเซมิ-โซลิค ซึ่งเป็นนวัตกรรมกระบวนการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนแบบใหม่ของ 24M Technology ที่ GPSC เข้าไปร่วมลงทุน 25% คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในไตรมาส 3 และแล้วเสร็จในไตรมาส 2/2563 ก่อนจะต่อยอดตั้งโรงงานผลิตเชิงพาณิชย์ในประเทศไทยต่อไป
“24M เป็นผู้ออกแบบโรงงาน ตั้งอยู่ในพื้นที่เจ้าของเทคโนโลยีและมีสภาพอากาศที่เหมาะสม คาดว่าจะสามารถเกิดขึ้นได้รวดเร็ว แต่เงินที่ใช้ในการประกอบและเดินเครื่องโรงงานต้นแบบจะใช้เงินมากกว่านี้ เรากำลังเจรจาให้ผู้ถือหุ้น 24M มาร่วมแชร์ค่าใช้จ่าย คาดว่าข้อเสนอของปตท.จะได้รับความสนใจ เพราะกลุ่ม ปตท.ได้เตรียมความพร้อมเรื่องการจัดหาอุปกรณ์ที่จะนำไปติดตั้งในโรงงานได้ทันที เราใช้แนวทางนี้เพื่อเร่งให้กระบวนการเกิดเร็วขึ้น เพื่อให้เข้าสู่เชิงพาณิชย์เร็ว “นายชวลิต กล่าว
ปัจจุบันราคาแบตเตอรี่ในตลาดอยู่ที่ 160-170 เหรียญสหรัฐ/กิโลวัตต์ชั่วโมง (KWh) ขณะที่ราคาเหมาะสมควรจะอยู่ในระดับ 100 เหรียญสหรัฐ/KWh จึงต้องตั้งโรงงานต้นแบบเพื่อพิสูจน์ว่าเทคโนโลยีของ 24M สามารถผลิตในเชิงพาณิชย์ได้หรือไม่
ส่วนโซลูชั่นการให้บริการระบบกักเก็บพลังงาน ทางบริษัทไม่ได้รอโรงงานต้นแบบ 24M แต่ใช้ระบบแบตเตอรี่ของแบรนด์อื่นมาทดสอบการให้บริการสำหรับที่อยู่อาศัย เบื้องต้นได้ติดตั้งแบตเตอรี่ ขนาด 10 KWh สามารถเก็บพลังงานไฟฟ้าได้ 4 ชั่วโมง สำหรับบ้านที่อยู่อาศัยประมาณ 4 คน ต้นทุนเบื้องต้นจะอยู่ที่ 2.5 แสนบาท
ทางด้านนางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบ้านปู (BANPU) กล่าวว่า บริษัทยังมีการลงทุนต่อเนื่องในธุรกิจพลังงานครบวงจร ทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนพร้อมมองหาโอกาสเข้าไปลงทุนในธุรกิจแหล่งก๊าซธรรมชาติ คาดว่าน่าจะเห็นความชัดเจนในครึ่งปีหลัง ตั้งงบลงทุนไว้ 500 ล้านเหรียญสหรัฐ จากก่อนหน้านี้เข้าไปลงทุนในธุรกิจก๊าซฯในสหรัฐแล้ว 522 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จะรับรู้รายได้เต็มปีในปี 2563 และธุรกิจ Energy Technology ที่จะใช้เงินไม่มากนัก ประมาณ 100 ล้านเหรียญ ทั้งนี้ไม่รวมการเข้าไปถือหุ้น
“เราไม่หยุดการลงทุน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่ากำไรก่อนดอกเบี้ย ,ภาษี,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในปี 2568 จะมาจากธุรกิจถ่านหิน 40% จากเดิม 65%, ธุรกิจพลังงานหมนุเวียน จะเพิ่มเป็น 30% จากเดิม 10%, ธุรกิจแก๊ส จะเพิ่มขึ้นเป็น 20% จากปัจจุบัน 10-12% และธุรกิจ Energy Technology เพิ่มเป็น 10% โดยในปี 2561 มี EBITDA ประมาณ 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐ”
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บ้านปู กล่าวว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในครึ่งปีหลังจะดีขึ้น เนื่องจากราคาถ่านหินเริ่มฟื้นตัวจากไตรมาส 2 ที่ลดลงเหลือเฉลี่ย 67 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ขณะที่ความต้องการใช้ถ่านหินเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงไฮซีซั่น จากสงครามการค้าผ่อนคลายลง รวมถึงปริมาณการผลิตน่าจะลดลง หลังจากผลิตมากในช่วงหน้าแล้งที่ผ่านมา ส่วนผลผลิตถ่านหินจากออสเตรเลียจะมียอดจำหน่ายสูงขึ้นตามเป้าหมายที่ 12.70 ล้านตัน ทั้งนี้ดัชนีราคาถ่านหินดัชนีราคาถ่านหินนิวคาสเซิลปีนี้จะอยู่ที่ 75 เหรียญสหรัฐ/ตัน โดยบริษัทยังคงเป้าหมายปริมาณการขายถ่านหินทั้งปีไว้ที่ 47.3 ล้านตัน จากครึ่งปีแรกทำได้แล้ว 22 ล้านตัน นอกจากนี้บริษัทยังมีรายได้จากธุรกิจไฟฟ้าเข้ามาเพิ่มขึ้นในครึ่งปีหลัง
สาเหตุที่ราคาหุ้น BANPU ปรับตัวลงไปมากในช่วงนี้ นางสมฤดีกล่าวว่า เกิดจากนักลงทุนเห็นกำไรสุทธิเพียง 3 ล้านเหรียญ ในไตรมาส 2 ซึ่งไม่ควรดูเฉพาะผลงานบรรทัดสุดท้าย เพราะเงินบาทแข็งค่ามากประมาณ 10% ทำให้บ้านปูมีผลขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนทางบัญชีถึง 41 ล้านเหรียญ ในความเป็นจริงแล้ว มีกำไรจากการดำเนินงานปกติถึง 44 ล้านเหรียญสหรัฐ ดีขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน และในทางกลับกัน หากค่าเงินบาทอ่อนก็จะมีผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิดีขึ้น
ดังนั้นในการลงทุนในหุ้นบ้านปูจะต้องพิจารณากระแสเงินสดที่ทำได้มากกว่า โดย 6 เดือนแรกปีนี้เข้ามา ประมาณ 400 ล้านเหรียญ และบริษัทมีการจ่ายเงินปันผลปีละ 2 ครั้ง รวมถึงการดำเนินงานและธุรกิจมีความยั่งยืน เห็นได้จากการได้รับเลือกเข้าสู่ดัชนี DJSI ติดต่อกัน 5 ปีและในเดือนก.ย.จะได้เป็นปีที่ 6 แต่ยอมรับว่าโครงสร้างผู้ถือหุ้น BANPU มีนักลงทุนรายบุคคลสูงถึง 50% ทำให้การตัดสินใจลงทุนมักจะอาศัยข้อมูลจากนักวิเคราะห์ ที่ยังคงให้น้ำหนักกับราคาถ่านหินเหมือนในอดีต แม้ว่าปัจจุบันธุรกิจของบ้านปูจะก้าวหน้าไปมาก บ้านปูเป็นบริษัทพลังงานครบวงจรแล้ว
ปัจจุบันธุรกิจมีความคืบหน้ามาก ในส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินซานซีลู่กวงในประเทศจีน กำลังการผลิตรวม 1,320 เมกะวัตต์ บริษัทถือหุ้นอยู่ 30% ปัจจุบันมีความพร้อมจะผลิตและจำหน่าย (COD) แล้ว แต่อยู่ระหว่างรอสายส่งจากทางการจีน คาดว่าจะขายไฟให้กับลูกค้าได้ในเดือน ต.ค.2563 ส่วนธุรกิจพลังงานหมุนเวียน โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่น คาดว่าในครึ่งปีหลังจะ COD อีก 19 เมกะวัตต์, โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศเวียดนาม บริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 35% ในซันซีป กรุ๊ป ปัจจุบันมีกำลังการผลิต 168 เมกะวัตต์ กำลังพัฒนาเพิ่มอีก 400 เมกะวัตต์ และจะรับรู้กำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จีซิน ประเทศจีนอีก 25 เมกะวัตต์ ส่งผลให้รวมกำลังการผลิตไฟฟ้าที่จีน COD 175 เมกะวัตต์ภายในสิ้นปีนี้ นอกจากนี้บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ (BPP) เตรียมจะพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม กำลังการผลิต 80-90 เมกะวัตต์
บริษัทวางเป้าหมายที่จะมีกำลังผลิตไฟฟ้า 4,300 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 ปัจจุบันมีอยู่ในมือจำนวน 2,893 เมกะวัตต์ และ COD แล้ว 2,200 เมกะวัตต์
ด้านการลงทุนในหุ้นพลังงาน วันที่ 20 ส.ค. 2562 ยังคงมีแรงขายหุ้นพลังงาน โดย PTT ปรับตัวลง 0.75 บาท ปิดที่ 42.25 บาท และมูลค่าการซื้อขายสูงที่สุด ขณะที่มีแรงซื้อหุ้นไฟฟ้า นำโดย GULF ราคาขึ้น 3.50 บาทปิดที่ 136.50 บาท สร้างสถิติสูงสุดใหม่ (นิวไฮ) แต่ภาพตลาดโดยรวม ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ลดลง 4.68 จุด ปิดที่ระดับ 1,633.56 จุด นักลงทุนต่างชาติขายต่อ 3,227 ล้านบาท ขณะเดียวกันก็ขายตราสารหนี้ด้วย 5,355 ล้านบาท