“สมคิด” จี้ BOI จัดแพ็กเกจดึงต่างชาติย้ายฐานมาไทย

HoonSmart.com>> “สมคิด” ชี้สงครามการค้าสหรัฐฯกับจีน สร้างโอกาสบีโอไอ ดึงนักลงทุนต่างชาติ จี้เร่งออกแพ็กเกจการลงทุนให้เหมาะสมแต่ละประเทศ เล็งตั้งนิคมอุตสาหกรรมเฉพาะแต่ละชาติ ชงครม. 30 ส.ค.นี้

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในโอกาสมอบนโยบายแก่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ว่า ผลจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน เป็นโอกาสสำหรับประเทศไทย จึงต้องการให้บีโอไอดึงนักลงทุนต่างชาติที่กำลังเคลื่อนย้ายการลงทุนให้มายังประเทศไทย ซึ่งมีจำนวนมาก เนื่องจากไทยเป็นศูนย์กลางของกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี โดยให้ไทยเป็นประเทศด่านหน้าก่อนที่จะตัดสินใจเข้าไปลงทุนในซีแอลเอ็มวี เพราะโครงสร้างพื้นฐานของไทยมีความพร้อม เช่น บริษัทจากสหรัฐอเมริกา มีหลายอุตสาหกรรมที่ต้องการจะย้ายการลงทุนมายังประเทศไทย เพราะฉะนั้นบีโอไอต้องมีมาตรการส่งเสริมเพื่อกระตุ้นให้บริษัทเหล่านั้นเข้ามาลงทุน บางอย่างเป็นเรื่องของภาษี เรื่องของสิ่งแวดล้อม

สำหรับประเทศจีนต้องมีแพคเกจแบบจีน ที่จะต้องเร่งดำเนินการ มีหลายอุตสาหกรรมที่สามารถดึงเข้ามาได้ โดยไม่ได้ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งเมืองไทยเพราะไทยดีกว่าหลายประเทศ และไม่ใช่แค่ 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย แต่ยังมีอุตสาหกรรมประเภทอื่น ๆ เช่น อุตสาหกรรมบริการ โดยบีโอไอต้องดำเนินการในเชิงรุก ต้องมีการเจรจาต่อรอง ไม่ใช่ให้การส่งเสริมเหมือนกันทุกประเทศ

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (ฝ่ายการเมือง) เปิดเผยว่า รัฐบาลต้องการให้บีโอไอ เร่งดำเนินการในภาวะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง และการเกิดสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนทำให้เกิดโอกาสทางการลงทุน เนื่องจากจะเกิดการย้ายฐานทางเศรษฐกิจการลงทุนไม่ว่าจะเป็นบริษัทจากประเทศจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี สหรัฐอเมริกา และยุโรป กำลังมองหาโอกาสเพื่อย้ายฐานการผลิตมาประเทศอื่น ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมาย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ต้องการให้บีโอไอ มีนโยบายเชิงรุก โดยให้จัดตั้งทีมงานเพื่อดูแลการย้ายฐานการผลิตออกมาโดยเฉพาะ และออกแพคเก็จส่งเสริมให้เกิดการลงทุน หากมีการเตรียมความพร้อมที่ดีจะเป็นโอกาสครั้งสำคัญของประเทศไทย โดยวาระดังกล่าวนั้นจะเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรีในครั้งต่อไป วันที่ 30 สิงหาคม 2562

ขณะเดียวกันการตั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) บีโอไอ ใกล้จะดำเนินการแล้วเสร็จ และจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ดบีโอไอเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ยังมีกองทุนตามพรบ.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของบีโอไอ วงเงิน 1 หมื่นล้านบาทที่จะมาช่วยเพิ่มศักยภาพดังกล่าว

“ในวันที่ 2 ก.ย.นี้จะมีนักลงทุน รวมถึงประธานาธิบดีจากประเทศเกาหลีใต้ เดินทางมาไทย ทางบีโอไอจะต้องต้อนรับอย่างเต็มที่ โดยมีการเสนอแนวคิดให้จะมีการจัดทำพื้นที่พิเศษเป็นนิคมให้กับเกาหลีใต้ ได้ให้การนิคมอุตสาหกรรม (กนอ.) ไปเร่งตอบโจทย์ให้ได้ รวมไปถึงนิคมของประเทศต่างๆ หากประเทศเหล่านั้น ย้ายฐานการผลิตออกมาเข้าอาจจะต้องการอยู่ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา ที่ผ่านมาเกาหลีใต้ต้องการมาลงทุนในประเทศไทย แต่เห็นว่าไทยนั้นไปใกล้ชิดกับประเทศญี่ปุ่น จึงหันไปลงทุนในเวียดนาม และยังมีอีกกลุ่มประเทศเห็นประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตเพราะเห็นประโยชน์ของซีแอลเอ็มวี อาเซียน ท่านสมคิด จึงต้องการตั้งให้ไทยเป็นฐานของประเทศซีแอลเอ็มวี เพื่อดึงดูดการลงทุนเข้ามา และเลือกประเทศที่เหมาะสมที่สุด” นายกอบศักดิ์ กล่าว

น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า การออกมาตรการหรือแพ็กเกจ เพื่อเป็นเครื่องมือชักจูงบริษัทที่ย้ายฐานการผลิต ซึ่งการที่บริษัทต่างชาติจะย้ายฐานการผลิตนั้นไม่ได้พิจารณาจากสิทธิประโยชน์ แต่พิจารณาจากภาพรวมของประเทศ โดยปกติบีโอไอจะมีทีมเฉพาะภูมิภาค จะเป็นทีมที่เข้ามาดึงการลงทุนประเทศที่จะย้ายฐานการผลิตเพื่อชักจูงมาลงทุนในประเทศไทย

ส่วนกิจกรรมการตลาดจะขยายวงมากขึ้น โดยการออกไปชักจูงต้องทำแบบบูรณาการร่วมกันกับภาครัฐ และภาคเอกชน เช่น ธนาคารที่อนุมัติวงเงินกู้ หากเข้ามาร่วมมือจะเป็นประโยชน์ ซึ่งจะมีการปรับปรุงใน 3 ส่วนคือ 1. แพคเก็จการลงทุน 2. ทีมงานเฉพาะกิจ และ 3 .กิจกรรมทางด้านการตลาด รวมไปถึงขั้นตอนเร่งรัดการอนุมัติการอนุญาตต่างๆด้วย เนื่องจากการย้ายฐานการผลิตนั้นต้องการความรวดเร็ว เพื่อเร่งให้เขาตัดสินใจเลือกประเทศไทยได้เร็วขึ้น ซึ่งดูแลประเทศจีนเข้ามาลงทุนในไทยพิจารณาได้จากคำขอการลงทุนบีโอไอจากจีนที่เพิ่มขึ้นสองเท่าจาก 2.5 หมื่นล้านบาท เป็น 5 หมื่นล้านบาท และในปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น

“ทีมเฉพาะกิจ จะมีเลขา และรองเลขาธิการดูแล แต่ไม่ได่ตั้งเป้ากี่รายและมีเงินลงทุนเท่าไหร่ แต่เราก็พยายามเจาะกลุ่มคนเหล่านี้ให้มามากที่สุด บางประเทศต้องการแรงงานจำนวนมากก็ไม่เหมาะ แต่จะต้องทำให้ได้มากที่สุด ต้องดูว่ามีบริษัทไหนบ้างที่จะขับเคลื่อนและย้ายฐานมาในภูมิภาคนี้ โดยไปคัดเลือกบริษัทใหญ่ 100 บริษัท โดยเฉพาะจากจีน ซึ่งแพคเก็จที่บีโอไอจะออกมาเชื่อว่าจะตรงกับความต้องการของนักลงทุนอยู่แล้ว” น.ส.ดวงใจกล่าว

ทั้งนี้ บีโอไอ ได้มีการวิเคราะห์ข้อดีและข้อด้อย ทุกด้านเพื่อจัดทำเป็นแพ็คเก็จเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ เช่น ซัพพลายเชนของไทยที่เหนือกว่าอินโดนีเซีย และเวียดนาม เนื่องจากมีการผลิตชิ้นส่วน แต่คนไทยในวัยแรงงานไทยนั้นน้อยกว่า ขณะที่คุณภาพแรงงานไทยไม่ได้น้อยกว่า

สำหรับตัวเลขขอรับส่งเสรมิการลงทุนครึ่งปีแรกปี 2562 มียอดขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 758 โครงการมูลค่าการลงทุนรวม 232,610 ล้านบาท โดยเป้าขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งปี 750,000 ล้านบาท

_____________________________________________________________________________________