HoonSmart.com>>…. คำต่อคำ “สุกัญญา” บิ๊กหุ้น GSC-ACAP เคลียร์ปมร้อน ’เงิน IPO-ยืมเงิน-เก้าอี้บอร์ดร้อน’
หลายปมร้อนสำหรับหุ้นน้องใหม่ GSC (โกลบอล เซอร์วิส เซ็นเตอร์) ที่เพิ่งเข้าตลาดหุ้น เอ็มเอไอ ได้เพียงไม่กี่เดือน ก็เกิดข่าวโป๊ะแตก “ผู้บริหาร” โยกเงินที่ได้จากขายหุ้น IPO ไปไว้กับบริษัทแม่ ACAP (เอเซีย แคปปิตอล กรุ๊ป) ที่ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้ ทำเอากรรมการหลายคนไขก๊อกลาออกเด้งหนีเผือกร้อน เป็นข่าวสะท้านคนในตลาดหุ้นทีเดียวเมื่อกลางปีที่ผ่านมา ขณะที่ราคาหุ้นยังต่ำกว่าราคาจองต่อไป ท่ามกลางความอึมครึมปกคลุม 2 หุ้นที่เกี่ยวโยงกัน เพราะมีผู้ถือหุ้นกลุ่มเดียวกันด้วย
สำนักข่าว www.HoonSmart.com ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ผู้บริหารสาว “สุกัญญา สุขเจริญไกรศรี” ประธานกรรมการบริหาร GSC และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ACAP ที่กำลังรับมือกับมรสุมที่เกิดขึ้น
@@@ มติบอร์ดเปิดให้บริหารสภาพคล่อง
การเปิดฉากสนทนากับ “สุกัญญา” ได้แจกแจงเรื่องใหญ่ทันที ว่า “เงินที่ GSC ขายหุ้นไอพีโอได้ราว 148 ล้านบาท ในช่วงเดือนมี.ค 2562 ที่เอาออกไปฝากบริษัทแม่ ACAP ที่ออกเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินให้ ตอนนี้ได้ชำระคืนไปบางส่วนแล้ว (GSC แจ้งตลาดได้รับชำระคืนจาก ACAP 22 ล้านบาท) ตอนนี้เหลือราว 130 ล้านบาท ชำระคืนภายใน ก.ย. นี้”
ส่วนการนำเงินไอพีโอ ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ที่แจ้งว่า ระดมทุนมาใช้ขยายสาขาและพัฒนาการวางระบบเทคโนโลยี (IT) นั้น เนื่องจาก GSC ยังอยู่ระหว่างเตรียมการ ไม่ว่าจะเป็นทำเล การศึกษาว่าระบบ IT ไหน ที่เหมาะกับบริษัท การหาเวนเดอร์ ที่จะเข้ามาพัฒนาระบบ IT ซึ่งต้องใช้เวลาราว 6 เดือน
ดังนั้นฝ่ายบริหาร มองแค่ว่า ACAP รับฝากตั๋วสัญญาใช้เงิน จากบริษัทอื่น ๆ ทั่วไปอยู่แล้ว จึงคิดว่า เอาเงินไปลงทุนตั๋วฯ ของบริษัทแม่ ACAP เพื่อหาประโยชน์ดีกว่าอยู่เฉย ๆ บริษัทแม่ไว้ใจกว่า และไม่ได้คิดว่า ACAP จะเอาเงินไปทำอะไรไม่ดี
“เขาคาดการณ์ว่า หลังเข้าตลาด มีช่วงเวลาสั้นๆ ที่มีส่วนเกินสภาพคล่อง อีกอย่างมีมติคณะกรรมการบริษัทเมื่อเดือนต.ค. 2561 ให้อำนาจฝ่ายบริหาร สามารถบริหารสภาพคล่องได้ แต่เราไม่ได้กำหนดเรื่องนี้ในวัตถุประสงค์ตอนยื่นไฟลลิ่ง ตอนนั้นบอกเพียงขยายสาขาและพัฒนาระบบ IT จึงอยากให้มองที่เจตนาของฝ่ายบริหาร ว่า ต้องการบริหารสภาพคล่อง”
@@@ แม่-ลูกยืมเงินกันจนเป็นความเคยชิน
ส่วนกรณีที่ไม่ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์ ถึงการโยกเงินนออกไปที่ ACAP ที่เป็นบริษัทแม่ จะเป็นรายการเกี่ยวโยงกันนั้น เธอบอกว่า เป็นความเข้าใจว่า อยู่ในอำนาจที่สามารถทำได้ คือ GSC เป็นบริษัทลูกที่อยู่กับแม่มานาน และวันหนึ่งแยกออกไปต่างคนต่างอยู่เอง แต่ยังมีความเคยชิน ที่จะลงทุนระหว่างแม่-ลูกกันอยู่ เพราะเป็นการบริหารในเครือ
เมื่อก่อนมีการหยิบยืมเงินกันมาก่อนแล้ว ช่วงเวลาที่ GSC ขาดทุนปี 2548-2557 ไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนพนักงานก็เอาเงินบริษัทแม่ไป คิดดอกเบี้ย 1%ต่อปี จนตนเองเข้ามาบริหารปี 2558 ใน ACAP ก็มีการปรับกระบวนทำงาน และกระบวนการทางคงามคิดของทั้งเครือใน ACAP จนเห็น GSC สามารถทำธุรกิจมีกำไรเกิดขึ้น ก่อนเข้าตลาดหุ้นด้วย จึงอยากให้มองที่เจตนา (บริหารสภาพคล่อง) ดีกว่า อย่ามองจับผิดหรือกล่าวหาอะไร สี่เท้ายังรู้พลาด ความเข้าใจผิดเกิดขึ้นได้ แล้วเราไม่เคยทำผิดซ้ำมาก่อนด้วย
“คือถ้าหากมีการหยิบยืมเงิน IPO แล้วไปฉ้อโกง มันคงผิด แต่อันนี้ อาจผิดขั้นตอน โดยที่ฝ่ายบริหารรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ต้องพูดอย่างนั้น อาจจะว่าด้วยเรื่องระบบระเบียบ แต่ฝ่ายบริหาร GSC ที่เราโปรโมทขึ้นมานั่งตำแหน่ง อาจจะยังไม่คุ้นเคย เพราะเมื่อก่อนเขาก็เป็นระดับจูเนียร์เท่านั้น ต้องให้โอกาสเขา เราก็มีตำหนิเขา แต่ก็ต้องเข้าใจในความตั้งใจของเขา”
สำหรับขั้นตอนการนำเงินออกของฝ่ายบริหาร ไม่ต้องแจ้งบอร์ดบริษัทหรืออย่างไร “สุกัญญา” กล่าวว่า หากวงเงิน 60 ล้านบาท กรรมการผู้จัดการเซ็นต์ได้เลย หากวงเงินไม่เกิน 350 ล้านบาท จะมีกรรมการผู้จัดการ และ CFO เซ็นต์ ร่วมกัน ประกอบกับมติบอร์ดก็ให้อำนาจฝ่ายบริหารสภาพคล่อง ตั้งแต่ก่อนเข้าตลาดหุ้นแล้ว
อย่างไรก็ตาม เธอยอมรับว่า คนที่เป็นกรรมการใน GSC และ ACAP มีนั่งทับซ้อนกันบางส่วน แต่ฝ่ายบริหารแยกกันชัดเจน
จากกรณีที่เกิดขึ้นครั้งนี้ เธอประกาศว่า ถ้าจะมีปัญหาแบบนี้ ต่อไปก็คงไม่ทำแล้ว เพราะอย่างไร ACAP เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่แล้ว ต้องดูแลบริษัทในเครือให้เจริญเติบโต หากเกิดอะไรไม่ดีมีความเสียหาย สิ่งที่เกิดขึ้นจะกระทบ ACAP ได้เหมือนกัน แต่ที่ผ่านมา คนมาฝากตั๋วสัญญาใช้เงินกับ ACAP ไม่เคยมีปัญหากัน
@@@ แจงกรรมการลาออก
ส่วนประเด็นกรรมการ GSC ที่ลาออกกันนั้น “สุกัญญา”ชี้แจงว่าไม่ได้เกี่ยวกับปมเรื่องเงิน IPOเลย เพียงแต่ว่าบังเอิญเป็นจังหวะพอดีกัน เพราะกรรมการแต่ละคนก็มีภารกิจของตัวเอง บางคนมีภารกิจส่วนตัวบ้าง บางคนก็อยากเกษียณ บางคนก็กลัวเกิดปัญหาความข้ดแย้งทางผลประโยชน์ เพราะนั่งอยู่หลายบริษัทที่คล้ายๆกัน
“กรรมการ 2 คนหลังที่เข้ามาที่นี่ ก็กลัว ไม่รู้ว่าอะไร เราก็บอกที่ประโคมข่าวไม่รู้ข้อเท็จจริงของบริษัท เหนื่อยเพราะเราไม่สามารถนั่งอธิบายให้ทุกคนฟังได้ ได้แต่ก้มหน้าก้มตาทำไป เราเจอข่าวแบบนี้ก็เป็นภาพลบกับเราเวลาทำงาน ซึ่งก็ต้องปลอบตัวเอง ปลอบลูกน้อง บอกไปว่าเรามีเจตนาดี ไม่ได้จะฉ้อโกง”
จากนี้ไปจะเห็น GSC เพิ่มความโปร่งใสอย่างไรบ้าง “สุกัญญา” กล่าวว่า เรื่องที่เกิดขึ้นก็เป็นบทเรียนของพวกเรา เราพลาดไปในกระบวนการขั้นตอน เพราะฝ่ายบริหารไม่รู้จริงๆ ไม่ได้มีเจตนาซ่อนเร้น และเขาก็ยังไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายอะไร เขายังทำงานให้ดีขึ้น ดูงบไตรมาส2ที่ผ่านมา กำไร 5 ล้านบาทดีกว่าปีที่แล้ว
@@@ เดินหน้าลงทุนระบบไอที 40 ล้าน
สำหรับทิศทางของ GSC จากนี้ไป ประธานกรรมการบริหาร ยืนยันว่า ขณะนี้ได้เดินหน้าลงทุนตามแผนใช้เงินไอพีโอ โดยทยอยลงทุนแล้ว คือ แผนพัฒนาระบบไอที วางโปรแกรมต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เฟสแรก ลงทุน 40 ล้านบาท เพราะอยากเป็นคอลล์เซ็นเตอร์ ที่ทันสมัยเข้ากับยุคปัจจุบันมากขึ้น จะมีเว็บบอร์ดเว็บแชท วางระบบ CRM รวมถึงสามารถออก Report ได้ละเอียดขึ้น ตามความต้องการของลูกค้า ช่วยให้รับงานใหม่ ๆ ที่กว้างขึ้น ตอบโจทย์ลูกค้าได้ดีขึ้น คาดว่า น่าจะเปิดให้บริการในไตรมาส 4 นี้
ส่วนด้านการขยายสาขา เดิมมีแผนจะขยายสาขาในคอมมูนิตี้ มอลล์ แห่งหนึ่งซึ่งทำเลดีมาก ซึ่งกำลังจะเซ็นสัญญา แต่มีการขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข GSC จึงล้มเลิกไป ทำให้ต้องมาเริ่มต้นใหม่ หาทำเลที่ดี ๆ ส่วนโมเดลมีอยู่แล้ว ดังนั้น น่าจะเห็นการเปิดสาขาได้ 1 แห่งในกรุงเทพ เพราะตอนนี้สาขาลาดพร้าว ค่อนข้างเต็มที่แล้ว หากได้ทำเลที่อื่น จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการหาคนในละแวกอื่นมาให้บริการได้
“แผนลงทุนระบบไอที กับการขยายสาขา จะทำควบคู่กันไป เราให้น้ำหนักกับพัฒนาระบบไอที เพราะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้ดี ใช้คนน้อย ต้นทุนน้อยกว่าหากเทียบกับการขยายสาขาและจ้างคน จะมีปัญหาค่าแรงที่สูงขึ้นด้วย แถมเจอปัญหาอบรมคนใหม่เสร็จ ก็ลาออกตั้งแต่ยังไม่เริ่มทำงานให้บริษัทเลย บริษัทมีต้นทุนค่าฝึกอบรม ดังนั้นหากระบบไอทีที่กำลัง พัฒนา สามารถช่วยทดแทนการเปิดสาขาใหม่ได้ จะเน้นมาทางนี้ “
@@@ ผลดำเนินงานปีนี้ประคองตัว
ส่วนทิศทางผลประกอบการของ GSC ในช่วงที่เหลือของปีนี้ เธอ กล่าวว่า ส่วนของธุรกิจรับจ้างติดตามทวงหนี้ (Collection) เติบโตดีมากเป็นเท่าตัว เพราะภาวะเศรษฐกิจเวลานี้ไม่ค่อยดี ซึ่งลูกค้าที่จ้างเป็นแบงก์ต่าง ๆ และ AMC (บริษัทบริหารสินทรัพย์) จำนวน 10 กว่ารายแล้ว กลุ่มลูกหนี้จะเป็นสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งรายได้ขึ้นกับความยากง่ายของหนี้ที่รับจ้างทวง ส่วนอีกธุรกิจ เป็นคอลล์เซ็นเตอร์ มีลูกค้าเอกชน ราชการ และรัฐวิสาหกิจ ซึ่ง 2 รายหลัง มีความคึกคักช่วงไตรมาส 4 ที่มีการเปิดประมูล แต่ธุรกิจนี้ ยอมรับว่าชะลอตัว เพราะลูกค้าประหยัดงบประมาณกัน
“ปีนี้ เราพยายามรักษาฐานรายได้ให้เท่าปีที่แล้ว 155 ล้านบาท คือ เราตั้งใจอยู่แล้วว่า ปีนี้จะแตะ 160 ล้านบาท แต่ปีนี้ภาวะเศรษฐกิจไม่ค่อยเป็นใจเลย ลูกค้าประหยัดงบมาก เราก็มีค่าใช้จ่ายจากการยื่นไฟล์ลิ่งเข้าตลาด ฯ ด้วย แต่พยายามไปให้ถึงตรงนั้น”
ทั้งนี้ GSC มีมาร์จิ้นอยู่ที่ 14-15% โดยสัดส่วนจาก 2 ธุรกิจข้างต้นพอ ๆ กัน ส่วนพนักงานมีจำนวนราว 500 คน และเตรียมรับเพิ่มส่วนติดตามทวงหนี้อีก 20 คน
@@@ ราคาหุ้นต้องรอนักลงทุนเห็นเอง
สำหรับราคาหุ้น GSC ยังต่ำกว่าราคาจอง “สุกัญญา” ออกตัวว่า ราคาหุ้นเป็นเรื่องของความเชื่อมั่น อีกอย่างบริษัทไม่ได้ไปขายตัวเองเยอะมาก คิดว่าทำตัวเองให้ดี เดี๋ยวนักลงทุนก็มา
“คือวันนี้ อาจด้วยกระแสข่าวที่เกิดขึ้นมา ทำให้ไม่มีคนสนใจเรา เรามีหน้าที่สำคัญในการบริหารงานทำให้บริษัทมีกำไร ส่วนราคาหุ้น เป็นเรื่องมุมมองของนักลงทุน บางคนมองเราเป็นหุ้นตัวเล็กเกินไป เราไม่สามารถไปบอกไปชักจูงได้ ”
ส่วนหุ้นจะมีอภินิหารหรือไม่ เธอ ตอบว่า เป็น beyond Control เหนือการคาดเดาเหนือการควบคุมของตนเอง แต่หากว่า GSC มีกำไรเติบโตได้ดี ตัวแม่ ACAP ก็จะได้เงินปันผล ซึ่งที่ผ่านมา GSC ประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลแล้ว
@@@ ธุรกิจแม่ ACAP ปีนี้พลาดเป้า
ซีอีโอ ACAP ได้ฉายภาพธุรกิจในปีนี้ว่า กำลังเร่งขายทรัพย์ ”ที่ดิน” ที่ยึดมา แต่ยอมรับว่าขายยาก เพราะเศรษฐกิจแบบนี้ แถมภาคอสังหาฯ ที่คุยมา บอกไม่ซื้อ (ที่ดิน) ไม่สร้าง (โปรเจค) เน้นระบายสต็อค ขณะที่แบงก์ไม่ปล่อยกู้ ตอนนี้สินเชื่อที่ปล่อยลูกค้าธุรกิจ บริษัทชะลอปล่อยสินเชื่อเช่นกัน และมีการเรียกคืนหมดเหมือนกัน หากรายไหนถึงกำหนดแล้ว ดังนั้นครึ่งปีหลัง จะเน้นประคองตัว คาดว่าปีนี้ ผลดำเนินงานอาจพลาดเป้าหมายได้
ทั้งนี้ พอร์ตสินเชื่อรวมอยู่ที่ราว 3 พันล้านบาท ลูกหนี้รายใหญ่เป็นโปรเจค 2 งาน และอสังหาฯ 3-4 ราย สำหรับโครงการ “พีเพิล มอลล์” เป็นลูกหนี้รายหนึ่งที่กู้ประมาณ 400 ล้านบาท ส่วนที่ดินที่เร่งขายขณะนี้มี 2 แปลงในภูเก็ต มูลค่ารวม 500 กว่าล้านบาท
ส่วนหุ้นกู้ ACAP ที่ออก เหลือเพียง 2 พันล้านบาท ต้นทุนดอกเบี้ยราว 7% ทยอยครบกำหนดชำระคืนในปีนี้ ที่ผ่านมา ชำระคืนแล้ว 600-700 ล้านบาท และเดือน ต.ค. จะครบอายุชำระคืนอีก 700 ล้านบาท ปัจจุบัน บริษัทมีสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ที่ระดับ 2 เท่า
“ดังนั้น ช่วงครึ่งปีหลัง ต้องประตองตัว เหมือนกับหลาย ๆ ธุรกิจ คิดว่าปีนี้ทั้งปี อาจไม่ได้ตามเป้าหมาย เพราะวันนี้เข้าเดือนที่ 8 แล้ว ยังไม่เห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ใช่เลย ขณะที่มีปัญหาหลาย ๆ อย่าง ที่ไม่ใช่ไทยอย่างเดียว มีปัญหาเศรษฐกิจโลกด้วยที่กระทบเป็นโดมิโน” สุกัญญาทิ้งท้าย
จากนี้เส้นทางเดินของ GSC และ ACAP ที่เป็นแม่-ลูก จะพากันเดินฝ่ามรสุมข่าว เพื่อพิสูจน์ความโปร่งใสของตัวเอง เพียงใด ราคาหุ้นจะเป็นตัวสะท้อนปัจจัยพื้นฐานของธุรกิจนี้ได้