HoonSmart.com>>บริษัทที่มีมาร์เก็ตแคปมากที่สุดในแต่ละธุรกิจ ส่วนใหญ่มีกำไรไตรมาส 2/2562 ลดลง เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ ทำได้เพียง 872 ล้านบาท ยอดขายสินค้าโต-กำไรขั้นต้นลดลง อสังหาฯ ดิ่งแรงตามคาด PSH กำไรหายไป 40% THAI ขาดทุนยับ 6.8 พันล้านบาท PTTGC-TOP ทรุด ส่วนธุรกิจไฟฟ้าเติบโตดี
คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงมีข้อมูลเชิงลึกเห็นตัวเลขหลายตัวหดตัวแรง จึงตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 1.5% และส่งสัญญาณปรับลดเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2562 นักวิเคราะห์คาดว่าไตรมาส 2 จีดีพีจะออกมาต่ำกว่าไตรมาส 1 ที่ขยายตัว 2.8% เห็นได้จากตัวเลขกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บริษัทขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดหรือมาร์เก็ตแคปสูงที่สุดในแต่ละธุรกิจ ยังมีกำไรสุทธิลดลง น่าจะสอดคล้องกับที่บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซียพลัสคาดการณ์ผลงานของธุรกิจแท้จริง กำไรหดตัวจากไตรมาส 2/2561 ที่ทำได้ 2.60 แสนล้านบาท และ 2.66 แสนล้านบาทในไตรมาส 1/2562 เพราะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว พิษสงครามการค้ากดส่งออกไทยติดลบ เงินบาทแข็งค่า 1% และยังมีสำรองผลประโยชน์ระยะยาวของพนักงานเกษียณเข้ามาในไตรมาสนี้
ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ นำโดยบริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) หรือ DELTA มีกำไรสุทธิเพียง 872 ล้านบาท ลดลงถึง 37% จากไตรมาส 2/2561 แม้ว่ายอดขายสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น 6% เป็น 13,915 ล้านบาท และเพิ่มขึ้น 7.5% จากไตรมาส 1 เนื่องจากตลาดยังมีความต้องการผลิตภัณฑ์เน็ตเวิร์คสวิตซ์ และผลิตภัณฑ์เครื่องมือช่างอุตสาหกรรม แต่กำไรขั้นต้นลดลง 4% เหลือ 2,772 ล้านบาท และลดลง 6.9% จากไตรมาส 1 เนื่องจากการชะตัวลงของธุรกิจโทรคมนาคมในประเทศอินเดีย และความต้องการของตลาดที่ลดลง
ส่วนบริษัท บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส (HANA) ที่มีมาร์เก็ตแคปเป็นอันดับสอง มีกำไรสุทธิดีขึ้นเป็น 535 ล้านบาท เนื่องจากมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 103 ล้านบาท พลิกจากการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 236 ล้านบาทในไตรมาส 2/2561 ขณะที่รายได้จากการขายลดลง 5% เหลือ 5,200 ล้านบาท เทียบกับ 5,500 ล้านบาท ส่วนรายได้จากการขายสกุลเงินเหรียญสหรัฐ ลดลง 4% เท่ากับ 163 ล้านเหรียญ จาก 171 ล้านเหรียญในช่วงเดียวกันปีก่อน
สำหรับธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ นอกจากได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่หดตัวแล้ว ยังมีการประกาศใช้มาตรการ LTV เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2562 เป็นต้นมา ทำให้ยอดขาย ยอดโอน และการเปิดโครงการใหม่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง (PSH) มีกำไรสุทธิเพียง 932 ล้านบาท รายได้รวมลดลง 28.2% เหลือ 7,806 ล้านบาท กำไรขั้นต้นก็ลดลง 28.1% จาก 3,892 ล้านบาท เหลือ 2,799 ล้านบาท โดยเฉพาะรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ลดลงกว่า 3,000 ล้านบาทหรือ 27.5% ลงมาเหลือจำนวน 7,919 ล้านบาท
ธุรกิจการบิน ขาดทุนทุกบริษัท โดยเฉพาะการบินไทย (THAI) ขาดทุนสุทธิ 6,883 ล้านบาท แย่ลงจำนวน 3,785 ล้านบาท คิดเป็น 122% จากที่มียอดขาดทุนสุทธิ 3,098 ล้านบาทในไตรมาส 2/2561 เพราะนักท่องเที่ยวชะลอตัวลง และการแข่งขันด้านราคาสูงขึ้น ขณะที่ บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) ผู้บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย ขาดทุนสุทธิ 482 ล้านบาท แย่ลงเช่นกัน บริษัท สายการบินนกแอร์ (NOK) ฟื้น ขาดทุนสุทธิ 674 ล้านบาท จากขาดทุน 829 ล้านบาทในช่วงเดียวกันปีก่อน อัตราการใช้เครื่องบินต่อลำเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1.91% รายได้ต่อปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 3.28% ขณะที่ต้นทุนต่อปริมาณการผลิตผู้โดยสารลดลง 4.33% จำนวนผู้โดยสารอยู่ที่ 2.02 ล้านคนลดลง 8.18%จากจำนวน 2.20 ล้านคน
ผู้นำธุรกิจสื่อ บริษัทบีอีซี เวิลด์ (BEC) ขาดทุนสุทธิ 103 ล้านบาท แย่ลง 81 ล้านบาท คิดเป็น 359%จากที่ขาดทุนสุทธิ 22 ล้านบาทในระยะเดียวกันปีก่อน เพราะรายได้จากการขายเวลาโฆษณาลดลง 23% เหลือ 1,814.8 ล้านบาท บริษัทพยายามหารายได้จากช่องทางใหม่เพิ่มขึ้น
ทางด้านบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ ปิโตรเคมี ทรุดตัวลงแรง ตามกำลังซื้อที่ลดลงตามเศรษฐกิจโลก และปริมาณการผลิตมากกว่าความต้องการ เช่น บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) เหลือกำไรเพียง 2,202 ล้านบาท เทียบกับมากกว่า 1 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 2/2561 และบริษัทไทยออยล์(TOP) มีกำไรสุทธิแค่ 566 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจไฟฟ้า เบอร์ 1 บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ยังไม่รายงานผลการดำเนินงานออกมา แต่เชื่อว่าจะเติบโต เพราะมีการลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตทั้งโครงการในประเทศและต่างประเทศ ส่วนเบอร์ 2 บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ (EA) มีกำไรสุทธิ 1,442.44 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 457.51 ล้านบาท พุ่งขึ้น 46.45% จากที่มีกำไรสุทธิ 984.92 ล้านบาทในระยะเดียวกันปีก่อน โดยมีรายได้เพิ่มขึ้น 813.48 ล้านบาท หรือ 43.38% รับรู้รายได้เต็มไตรมาสจากโครงการโรงไฟฟ้า พลังงานลมรวม 260 เมกะวัตต์