HoonSmart.com>> “ไออาร์พีซี” กำไรไตรมาส 2/62 หดหนักเหลือ 506 ล้านบาท จากงวดปีก่อนโกย 4 พันล้านบาท ฉุดครึ่งปีวูบ 90% หลายปัจจัยฉุด ทั้งราคาขายเฉลี่ยลดตามราคาน้ำมันดิบ โรงงาน RDCC หยุดผลิต กำไรสต๊อกน้ำมันลดลง ค่าใช้จ่ายดำเนินงาน ค่าใช้จ่ายพนักงานเพิ่ม บริหารต้นทุนการเงินได้ดี กำไรอัตราแลกเปลี่ยน
บริษัท ไออาร์พีซี (IRPC) แจ้งผลการดำเนินงานไตรมาส 2 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2562 กำไรสุทธิหดเหลือ 506.93 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.02 บาท ลดลง 87% จากงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 4,049.58 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.20 บาท
ส่วนงวด 6 เดือน ปี 2562 กำไรสุทธิเหลือ 659.85 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.03 บาท ลดลง 90% จากงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 6,801.50 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.33 บาท
สาเหตุที่กำไรสุทธิลดลงมากเป็นผลจาก 6 เดือนแรกของปี 2562 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายสุทธิ 111,976 ล้านบาท ลดลง 13,879 ล้านบาท หรือ 11% จากงวดเดียวกันของปีก่อน จากราคาขายเฉลี่ยที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบ โดยอัตราการกลั่นน้ำมันอยู่ที่ 203,000 บาร์เรลต่อวัน ลดลง 8,000 บาร์เรลต่อวัน เนื่องจากโรงงาน RDCC หยุดผลิตเป็นเวลา 28 วัน ในไตรมาส 1/2562
บริษัทฯ มีกำไรขั้นต้นจากการผลิตตามราคาตลาด (Market GIM) จำนวน 10,387 ล้านบาท หรือ 8.90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เทียบกับงวดครึ่งปีแรกของปี 2561 ลดลงจำนวน 6,675 ล้านบาท หรือ 39% เนื่องจากส่วนต่างราคาปิโตรเลียมและปิโตรเคมีที่ปรับตัวลดลงอย่างมาก จากผลกระทบหลายปัจจัย ทั้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยืดเยื้อการเพิ่มขึ้นของกำลังการผลิตใหม่ในภูมิภาค และอัตราการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้บริษัทฯ มีกำไรจากสต๊อกน้ำมันสุทธิรวม 1,211 ล้านบาท ลดลง 1,208 ล้านบาท ส่งผลให้กำไรขั้นต้นจากการผลิตทางบัญชี (Accounting GIM) มีจำนวน 11,598 ล้านบาท หรือ 9.94 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ลดลง 7,883 ล้านบาท หรือ 40% รายได้อื่นๆ มีจำนวน 1,145 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 48% ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากการรับเงินค่าปรับจากการรับประกันผลงานก่อสร้างของโครงการ UHV
ค่าใช้จ่ายดำเนินงานมีจำนวน 7,353 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 394 ล้านบาท ส่วนใหญ่เกิดจากค่าใช้จ่ายพนักงานเพิ่มขึ้น ส่งผลให้บริษัทฯ มีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษีและค่าเสื่อมราคา (EBITDA) อยู่ที่ 4,659 ล้านบาท ลดลง 63% ในงวด 6 เดือนแรกปีนี้ ค่าเสื่อมราคามีจำนวน 4,151 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 65 ล้านบาท จาก 4,086 ล้านบาท
ส่วนต้นทุนทางการเงินสุทธิ 364 ล้านบาท ลดลง 545 ล้านบาท เป็นผลจากบริษัทฯ มีกำไรจากการทำสัญญาแลกเปลี่ยนเงินต้นและดอกเบี้ย (Cross Currency Swap: CCS) จำนวน 571 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 502 ล้านบาท และมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 340 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 316 ล้านบาท เนื่องจากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น บริษัทฯ บันทึกเครดิตค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ 4 ล้านบาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนมีค่าใช้จ่ายภาษี 1,186 ล้านบาท เนื่องจากผลการดำเนินงานปรับตัวลดลง และกำไรจากโครงการลงทุนที่ได้รับสิทธิประโยชน์จากการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้บริษัทฯ มีกำไรสุทธิลดลงมาก