HoonSmart.com>> แบงก์กสิกรไทย คาดเงินบาทสัปดาห์หน้ากรอบ 30.70-31.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ บล.กสิกรไทย มองดัชนีหุ้นแนวรับแรก 1,710 จุด แนวต้าน 1,740 ลุ้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผลประกอบการบจ. ตลาดจับตาเฟด-เจรจาการค้าสหรัฐฯ
ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในสัปดาห์หน้า (15-19 ก.ค.2562) อยู่ที่ 30.70-31.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ จากสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทผันผวน และอ่อนค่าลงปลายสัปดาห์ หลังมาตรการธปท.โดยเงินบาทอ่อนค่าลงช่วงต้นสัปดาห์ ตามแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ฯ ก่อนสุนทรพจน์ต่อสภาคองเกรสของประธานเฟด
อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นช่วงกลางสัปดาห์ เนื่องจากตลาดตีความถ้อยแถลงของประธานเฟดว่า เป็นการส่งสัญญาณถึงโอกาสการลดดอกเบี้ยลงในเร็วๆ นี้ เงินบาทกลับมาอ่อนค่าลงอีกครั้งช่วงปลายสัปดาห์ หลังจากธปท. ออกมาตรการเฝ้าระวังเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น โดยปรับลดเกณฑ์ยอดคงค้าง ณ สิ้นวันของบัญชี NRBA และ NRBS และยกระดับการรายงานข้อมูลถือครองตราสารหนี้ไทยของต่างชาติ
ในวันศุกร์ (12 ก.ค.2562) เงินบาทอ่อนค่ามาที่ 30.89 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 30.65 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (5 ก.ค.2562)
สำหรับปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตามในสัปดาห์หน้า ได้แก่ สัญญาณเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และผลประกอบการไตรมาส 2 ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตาม ประกอบด้วย ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดระดับสูง ประเด็นทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-ประเทศคู่ค้า และตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/62 ของจีน ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ประกอบด้วย ผลสำรวจกิจกรรมภาคการผลิต/ธุรกิจของเฟดสาขานิวยอร์กและฟิลาเดลเฟียเดือนก.ค. ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน เดือนมิ.ย. ข้อมูลเงินทุนไหลเข้าเดือนพ.ค. และรายงาน Beige Book ของเฟด
ด้านบริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย มองแนวโน้มตลาดหุ้นวันที่ 15-19 ก.ค.2562 ดัชนีมีแนวรับที่ 1,725 และ 1,710 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,740 และ 1,755 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การทยอยประกาศผลประกอบการงวดไตรมาส 2/62 ของบริษัทจดทะเบียนไทย สถานการณ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้า รวมถึงถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดระดับสูง
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านเดือนมิ.ย. รวมถึงผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดฟิลาเดลเฟียเดือนก.ค. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ จีดีพีไตรมาส 2/62 ของจีน