หนีดอกเบี้ยต่ำ ซบ ‘รีท-อินฟรา’ ยิลด์ 6-7% BBLAM ชูโรงไฟฟ้าซุปเปอร์ฯ ปีแรก 7.49%

HoonSmart.com>> บลจ.บัวหลวง เผยครึ่งปีแรกเงินไหลเข้ากองทุนอสังหาฯ-รีท-อินฟรา ฟันด์ หนุนมาร์เก็ตแคปพุ่งกว่า 11% แตะ 7.9 แสนล้านบาท คาด 1-2 ปีเห็น 1 ล้านล้านบาท ชี้ดอกเบี้ยต่ำปัจจัยหนุน ด้านผลตอบแทนปันผลเฉลี่ย 6-7% อัพไซด์สูงกว่าตลาดหุ้น จ่อ IPO กองทุนโรงไฟฟ้าซุปเปอร์ เอนเนอยี่ 22 ก.ค.นี้ คาดอัตราเงินจ่ายผู้ถือหน่วยปีแรก 7.49%

 

นายพรชลิต พลอยกระจ่าง รองกรรมการผู้จัดการ Head of Real Estate & Infrastructure Investment บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) บัวหลวง (BBLAM) เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งปีแรกมีเงินไหลเข้ามาลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์, ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) จำนวนมาก ส่งผลให้ราคาหน่วยลงทุนปรับตัวเพิ่มขึ้น หนุนให้มูลค่าราคาตลาดรวม (มาร์เก็ตแคป) ของกลุ่มเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2561 ประมาณ 11% จาก 7.1 แสนล้านบาท มาอยู่ที่ 7.9 แสนล้านบาท ณ 28 มิ.ย.2562 คิดเป็น 4.7% ของมูลค่าตลาดรวมของตลาดหุ้นไทยและคาดว่าใน 1-2 ปีหน้ามีโอกาสแตะ 1 ล้านล้านบาทได้

“ปัจจัยที่หนุนให้กองทุนเติบโตมาจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ ความผันผวนของกองทุนมีน้อยเมื่อเทียบสินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆ และจากแนวโน้มดอกเบี้ยในประเทศที่มีโอกาสปรับตัวลดลง จึงคาดว่าจะดึงดูดให้เงินไหลเข้ามาลงทุนใกล้เคียงกับช่วงครึ่งปีแรก นอกจากนี้บลจ.ออกกองทุนใหม่ต่อเนื่องเพื่อเข้ามาลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ฯ รีทและอินฟราฟันด์” นายพรชลิต กล่าว

นอกจากราคาหน่วยลงทุนของกองทุนที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวขึ้นแล้ว ผลตอบแทนเงินปันผลเฉลี่ยของกองทุนประมาณ 6-7% ซึ่งสูงว่าอัตราเงินปันผลเฉลี่ยในตลาดหลักทรัพย์อยู่ที่ 3-4% และผลตอบแทนตลาดหลักทรัพย์ครึ่งปีแรกประมาณ 12% ในขณะที่ผลตอบแทนดัชนีกลุ่มกองทุนอสังหาริมทรัพย์ฯ และ REIT ประมาณ 22%

ปัจจุบันในอุตสาหกรรมกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (PFPO) , REIT และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 67 กอง

อย่างไรก็ตามแม้ราคาหน่วยลงทุนของกองทุนจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาแล้ว แต่ในแง่ของนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนจะมองที่ผลตอบแทนจากเงินปันผลมากกว่าดูที่ราคาหน่วยลงทุน เพราะการลงทุนคาดหวังผลตอบแทนเงินปันผลค่อนข้างสม่ำเสมอ รวมทั้งบางกองทุนที่เป็นสิทธิการเช่าที่มีการทยอยคืนเงินต้นออกมาพร้อมเงินปันผลก็เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการกระแสเงินสดระหว่างการลงทุน ดังนั้นนักลงทุนควรศึกษาข้อมูลของแต่ละกองทุน

นายพรชลิต กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีหลังจะมีกองทุนออกใหม่ในอุตสาหกรรมอีก 3 กอง โดย 2 กองทุนเป็นของบลจ.บัวหลวง มูลค่ารวมประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท ได้แก่ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้า ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี (SUPEREIF) มูลค่ากอง 8,150 ล้านบาท โดยเตรียมเสนอขายหน่วยให้ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) 5,150 ล้านบาท และอีก 3,000 ล้านบาทกู้ยืมสถาบันการเงิน เปิดจองวันที่ 22-26 และ 30-31 ก.ค.นี้

“กองทุนจะลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 19 โรง คาดว่าอัตราเงินจ่ายให้กับนักลงทุนเบื้องต้นระยะเวลา 12 เดือน อยู่ที่ระดับ 7.49% โดยรวมอัตราเงินปันผลและอัตราเงินลดทุน”นายพรชลิต กล่าว

นอกจากนี้มีทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์บัวหลวง เค.อี.รีเทล (BKER) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มูลค่า 11,300 ล้านบาท ซึ่งเป็นกองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์คริสตัล รีเทล โกรท (CRYSTAL) ที่แปลงสภาพมาเป็น REIT เบื้องต้นคาดว่าไม่ต่ำกว่า 6% หรือ 0.729 บาท/หน่วย คาดว่าจะเปิดซื้อขายได้ไตรมาส 4/62

ปัจจุบันบลจ.บัวหลวงมีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารกองทุนทั้ง 3 ประเภท ทั้งหมด 5 กอง แบ่งเป็นประเภท PFPO และ REIT มูลค่า 17,400 ล้านบาท ได้แก่กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ฟิวเจอร์พาร์ค (FUTUREPF) และทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์บัวหลวง ออฟฟิศ (B-WORK) และกองอินฟราฟันด์ 3 กอง มูลค่า 1200120,000 ล้านบาท ได้แก่ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท(BTSGIF), กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (JASIF) และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ (BRRGIF)

พรชลิต พลอยกระจ่าง รองกรรมการผู้จัดการ Head of Real Estate & Infrastructure Investment บลจ.บัวหลวง (5 จากซ้าย) พร้อมทีมงานเปิดแผนงานและแนวโน้มการเสนอขายกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และกองทุนรมโครงสร้างพื้นฐาน