HoonSmart.com>> “ทิสโก้ไฟแนนเชียล กรุ๊ป” ไตรมาส 2/52 กำไรสุทธิ 1,798 ล้านบาท โต 5.2% สำรองหนี้สูญลดลง รายได้ธุรกิจหลักชะลอตัว หลังโอนขายสินเชื่อส่วนบุคคล รายได้มิใช่ดอกเบี้ยลด งวดครึ่งปีแรกกำไรขยับขึ้น 1.5%
นายสุทัศน์ เรืองมานะมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของกลุ่มทิสโก้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 มีกำไรสุทธิ 3,528 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 53 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.5% ขณะที่ผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 2 ของปี 2562 มีกำไรสุทธิ 1,798 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 89 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5.2% เนื่องจากภาระการตั้งสำรองหนี้สูญที่ลดลง ตามระดับสำรองส่วนเกินที่มีเพียงพอ
ส่วนรายได้จากธุรกิจหลักชะลอตัวลง ซึ่งได้รับผลกระทบจากการขายธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล และกฎเกณฑ์เกี่ยวกับธุรกิจเช่าซื้อที่เข้มงวดขึ้น และสภาวะตลาดทุนที่ผันผวน อย่างไรก็ตาม กลุ่มทิสโก้ยังสามารถรักษาระดับอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) ให้อยู่ในระดับสูงที่ 19% ขณะที่ยังมีระดับฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง ด้วยอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) สูงถึง 23.4%
สำหรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของกลุ่มทิสโก้ในช่วงที่เหลือของปี 2562 ยังคงเดินหน้าขยายการเติบโตในทุกกลุ่มธุรกิจ ภายใต้การนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่เน้นตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ผ่านความร่วมมือระหว่างสายงาน และความร่วมมือระหว่างบริษัทในเครือ (Cross-selling) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจประกันภัยที่จากนี้จะเห็นความชัดเจนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“กลุ่มทิสโก้ยังคงดำเนินการตามเป้าหมายที่วางไว้ในการเป็นผู้ให้คำแนะนำทางการเงินที่ดีแก่ลูกค้าอย่างครอบคลุม ทั้งด้านการเงินการลงทุน การประกันชีวิตและสุขภาพ รวมถึงคุณภาพชีวิตหลังเกษียณ เพราะตอนนี้โจทย์ความต้องการของลูกค้ามีมากขึ้น ไม่ใช่แค่การสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนเท่านั้น แต่ยังต้องการดูแลเรื่องการบริหารควาามเสี่ยงในทุกช่วงของชีวิตด้วย ที่ผ่านมาทิสโก้มีแนวทางที่ชัดเจนในการทำงานร่วมกับพันธมิตรเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ดี มีความหลากหลายและตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละกลุ่มอย่างตรงจุด และเรายังเน้นการฝึกอบรมให้ความรู้พนักงานอย่างเข้มข้นให้สามารถแนะนำลูกค้าได้อย่างผู้เชี่ยวชาญ นอกเหนือจากความครบถ้วน ถูกต้อง และเป็นธรรม ตามหลัก Market Conduct ของทางการ ซึ่งในครึ่งปีหลังก็จะมีผลิตภัณฑ์ดีๆ ทยอยออกมาแนะนำลูกค้าอย่างต่อเนื่อง” นายสุทัศน์ กล่าว
สำหรับผลการดำเนินงานของกลุ่มทิสโก้งวดไตรมาส 2 ของปี 2562 เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2561 บริษัทมีกำไรสุทธิจำนวน 1,798 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.2% จากการตั้งสำรองหนี้สูญที่ลดลง โดยในไตรมาสนี้ รายได้ดอกเบี้ยสุทธิปรับตัวลดลงจากการโอนขายสินเชื่อส่วนบุคคล และรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยชะลอตัวลง ทั้งรายได้ค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวกับธุรกิจเช่าซื้อและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวกับธุรกิจตลาดทุนตามสภาวะตลาดทุนที่ผันผวน
ในขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจนายหน้าประกันภัยยังคงเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งตามกลยุทธ์ Cross-selling และการมองลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ในส่วนของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานปรับตัวเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายสำรองผลประโยชน์ของพนักงานที่เพิ่มขึ้นและค่าบริจาคเงินการกุศล ทั้งนี้ บริษัทตั้งสำรองหนี้สูญลดลงตามคุณภาพของสินเชื่อ และระดับสำรองส่วนเกินที่เพียงพอ
สำหรับผลการดำเนินงานงวดครึ่งปีแรกของปี 2562 เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 2561 บริษัทมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็นจำนวน 3,528 ล้านบาท จากการตั้งสำรองหนี้สูญที่ลดลง โดยรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจตลาดทุนชะลอตัวลง ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น จากค่าใช้จ่ายด้านพนักงานเกษียณอายุตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่เมื่อไตรมาส 1 ปี 2562
สำหรับเงินให้สินเชื่อรวมของกลุ่มทิสโก้ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2562 มีจำนวน 241,215 ล้านบาท อ่อนตัวลง 0.2% จากไตรมาสก่อนหน้า สาเหตุหลักมาจากการชำระคืนหนี้ของลูกหนี้ในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
อย่างไรก็ดี ธุรกิจหลักของกลุ่มทิสโก้ยังคงสามารถเติบโตได้ดี ทั้งสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งขยายตัว 0.7% ตามอุปสงค์ในประเทศที่เติบโต ประกอบกับสินเชื่อจำนำทะเบียน ภายใต้แบรนด์ “สมหวัง เงินสั่งได้” ยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่งที่ 4.9% จากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นไปตามแผนการขยายธุรกิจและการขยายสาขาสำนักอำนวยสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง ในส่วนของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยเป็นผลตามฤดูกาล ในขณะที่บริษัทยังคงรักษาระดับเงินสำรองหนี้สูญที่เพียงพอ โดยอัตราส่วนของเงินสำรองรวมของธนาคารต่อสำรองพึงกันตามเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงสูงถึง 209%
ธนาคารทิสโก้ยังคงรักษาระดับฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งมาโดยตลอดทั้งปี โดยมีประมาณการอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ 23.4% สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำ 11.0% ที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีอัตราเงินกองทุนชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 18.5% และ 5.0% ตามลำดับ