HoonSmart.com>>เศรษฐกิจไทย-โลกโตน้อย แสนสิริยอมรับ 6 เดือนต่ำเป้าทั้งเปิดโครงการใหม่-ยอดขาย-ยอดโอน ขอเวลาสิ้นเดือนก.ค.ทบทวนแผนใหม่ เบื้องต้นเลื่อนลงทุนไปปีหน้า EIC กลุ่มไทยพาณิชย์หั่นเป้าจีดีพีปีนี้เหลือ 3.1% กำลังซื้อจากจีนหด กระทบส่งออก ท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ 4 เดือนแรกปีนี้ ราคาคอนโดมิเนียมเพิ่มแค่ 1.8% ต่ำมากเทียบเฉลี่ย 6% ในช่วง 5 ปี คาดใช้เวลาปรับตัว 1-2 ปี บล.กสิกรไทยมองหุ้นบวก ลุ้น 1,800 จุด เน้นบริษัทได้ดีจากมาตรการรัฐ CPALL-CK-STEC-AMATA และมือถือ
ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ทยอยประกาศปรับแผนการลงทุนสำหรับปี 2562 เป็นสัญญาณลบต่อกำไรสุทธิในปีนี้และปีต่อๆ ไป หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจหดตัวมากกว่าที่คาด กระทบเป็นลูกโซ่ต่อการลงทุน การจ้างงานและกำลังซื้อภายในประเทศ โดยนายอุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัทแสนสิริ (SIRI) เปิดเผยว่า ภายในสิ้นเดือน ก.ค.นี้ บริษัทเตรียมที่จะทบทวนแผนการดำเนินงานในปี 2562 ใหม่อีกครั้ง หลังจากเศรษฐกิจยังคงชะลอตัว และการเริ่มบังคับใช้ของมาตรการ LTV ตั้งแต่ช่วงต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อภาพรวมอสังหาริมทรัพย์และการดำเนินธุรกิจ ทำให้บริษัทชะลอการเปิดโครงการใหม่ ขอรอดูสถานการณ์ตลาดและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ ก่อนปรับแผนครึ่งปีหลังให้สอดคล้องกับสถานการณ์
นายอุทัย กล่าวว่า ในเบื้องต้นมีโอกาสเลื่อนการเปิดโครงการใหม่ออกไปปี 2563 แทน เดิมตั้งเป้าจะเปิดปีนี้ทั้งหมด 28 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 4.66 หมื่นล้านบาท แต่ 6 เดือนเรา เปิดแค่ 8 โครงการ มูลค่า 1.4 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นแนวราบ ส่วนยอดขายทำได้ 1.3 หมื่นล้านบาท จากเป้าหมาย 3.6 หมื่นล้านบาท ยอดขายรอโอน 5.5 หมื่นล้านบาท จะทยอยรับรู้รายได้ในครึ่งปีหลัง กว่า 1 หมื่นล้านบาท เดิมตั้งเป้าไว้ 2.9 หมื่นล้านบาท คาดว่าสิ้นเดือนนี้ ต้องนำยอดโอนและยอดขายมาทบทวนอีกครั้ง
“ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เติบโตสอดคล้องกับเศรษฐกิจ ถ้าอสังหาฯกระทบ ธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับอสังหาฯ ก็กระทบตามไปด้วย แสนสิริก็มีความพร้อมที่จะบุก แต่ถ้าภาพรวมยังไม่ดี เราก็ชะลอไปก่อน กลับมาเตรียมความพร้อม ตอนนี้ช่วยกันคิดและวางแผน มีโอกาสที่บางโครงการจะถูกเลื่อนไปเปิดในปีหน้าแทน ส่วนการส่งออกที่หดตัวก็กระทบทุกภาคส่วนเหมือนกัน” นายอุทัย กล่าว
นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เปิดเผยว่า EIC ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2562 ลงจาก 3.3% เหลือ 3.1% หลังปรับลดคาดการณ์มูลค่าส่งออก จากขยายตัว 0.6% เป็นหดตัว 1.6% จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงจาก 40.7 ล้านคน เหลือ 40.1 ล้านคน แม้ว่านักท่องเที่ยวยังคงขยายตัว 4.8% แต่ต่ำกว่าอดีตที่เติบโตปีละ 8-9% รวมถึงการปรับลดค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวของนักท่องเที่ยวลง ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจและการแข็งค่าของเงินบาท
ทั้งนี้ คาดว่าค่าเงินอยู่ที่ 30-31 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐอาจจะลดดอกเบี้ยลง 2 ครั้ง และดอกเบี้ยนโยบายในประเทศไม่เปลี่ยนแปลง หรืออาจจะลดลง 1 ครั้งหากเศรษฐกจโตน้อยกว่าที่คาดการณ์
“เศรษฐกิจมีโอกาสโตไม่ถึง 3.1% เพราะความไม่แน่นอนในช่วงที่เหลือของปี ทั้งเรื่องรัฐบาลใหม่ และสงครามการค้า แม้ว่าตอนนี้สหรัฐและจีนกลับมาเจรจากันใหม่ คงเป็นเพียงการซื้อเวลาเท่านั้น กรณีเลวร้าย หากสหรัฐตัดสินใจขึ้นภาษีนำเข้าของจีนมูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์ ในอัตรา 10% คาดส่งออกหดตัวมากขึ้นเป็น 2.3% และจะหดตัวเพิ่มขึ้นถึง 3.1% หากเก็บภาษีในอัตรา 25% ถือเป็นกรณีเลวร้ายที่สุด” นายยรรยงกล่าว
สถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัว การส่งออกหดตัว ส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงการลงทุน การจ้างงาน และความเชื่อมั่นในการบริโภค ซึ่งภาคอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวมาก่อนที่มาตรการของธปท.จะประกาศใช้ ส่งผลต่อภาคก่อสร้างและยอดขายคอนโดมิเนียมก็ลดลง ราคาคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้น เพียง 1.8% ในช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ เทียบกับเฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมา 6% ความคาดหวังราคาคอนโดมิเนียมที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง คาดว่าจะใช้เวลา 1-2 ปี ถึงจะปรับตัวขึ้น
ส่วนแนวโน้มการลงทุนหุ้นในปีนี้ นายภาสกร ลินมณีโชติ รองกรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า ได้ปรับเพิ่มเป้าหมายดัชนีหุ้น อีก 12 เดือนข้างหน้าเป็น 1,775 จุด จากเดิมอยู่ที่ 1,725 จุด กรอบระยะสั้น 1 เดือน เคลื่อนไหวในช่วง1,660-1,760 จุด ส่วนสิ้นปี หากผ่านแนวต้านที่สำคัญ 1,760 จุดได้ มีโอกาสที่จะเห็นแตะระดับ1,800 จุดได้
“ทิศทางหุ้นจะต้องติดตามนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายของเฟดและธนาคารกลางยุโรป เพราะทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรลดลง จะมีเงินไหลเข้ามาลงทุน ส่วนสงครามการค้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนการเมืองต้องรอดูนโยบายสำคัญ โดยเฉพาะการกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วน” นายภาสกร กล่าว
ส่วนกลยุทธ์การลงทุน เน้นกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับปัจจัยในประเทศ โดยเฉพาะโครงการลงทุนของภาครัฐ เช่น CPALL รวมถึง CK, STEC ที่จะได้ประโยชน์จากการเร่งประมูลโครงการของภาครัฐ ส่วน AMATA เริ่มเห็นการย้ายฐานการลงทุนจากจีนมายังเวียดนามมากขึ้น และกลุ่มมือถือ ตลาดมีมุมมองเป็นบวกมากขึ้นต่อรายได้ แข่งขันด้านราคาที่ผ่อนคลายลง
นอกจากนี้ กลุ่มกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFFIF) ยังถือว่าน่าสนใจ ได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยต่ำ กองทุนพันธบัตรจะต้องเสียภาษี 15% และโอกาสที่จะมีเกณฑ์กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ใหม่ มีเงื่อนไขลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (IFF) สัดส่วน 50% ของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ