เบื้องลึก GIC ทิ้ง LH เฉียด 1 หมื่นลบ. เขย่าพอร์ตหาโอกาสจากธุรกิจขาขึ้น

HoonSmart.com>>ไม่แปลกใจเลย! ที่ GIC หรือกองทุนความมั่งคั่งของรัฐบาลสิงคโปร์ ล้างพอร์ตหุ้น บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH) หมดเกลี้ยง 7% เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.2562 หลังจากเข้ามาลงทุนมากกว่า 16% ตั้งแต่เดือนก.ย.2542 เพราะได้กำไรมหาศาล แถมเงินปันผลอีกปีละ 6-7%  คงไม่มีเหตุผลในการถือต่อไป ท่ามกลางธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อยู่ในช่วงขาลง โอกาสที่จะได้กำไรจากส่วนต่างราคาหุ้น หรือ แคปปิตอลเกน เยอะๆ ไม่มีอีกต่อไปแล้ว จำเป็นต้องขายออก เช่นเดียวกับหุ้นสื่อ -บีอีซี เวิลด์ (BEC) และหุ้นการบิน-เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) เพื่อปรับพอร์ตไปหาโอกาสจากหุ้นตัวใหม่แทน หรือมองหาโอกาสจากการลงทุนทั่วโลกตามนโยบายของกองทุน 

 

หนึ่งในนั้นก็คือธุรกิจที่ได้รับการสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐ ทั้งระบบขนส่งมวลชน รวมถึงค้าปลีก ทำให้เห็นการลงทุนเพิ่มในหุ้น บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) และบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) รวมถึงบริษัท ซีพี ออลล์ (CPALL)

ส่วนกลุ่มพลังงานที่มีน้ำหนักมากต่อตลาดหุ้นไทยก็ไม่ทิ้ง ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ยังมีศักยภาพการเติบโตตามความต้องการใช้สินเชื่อในระบบเศรษฐกิจ และธุรกิจอาหาร ซึ่งประเทศไทยมีความโดดเด่นและสามารถเติบโตได้อีกไกล จากนโยบายการขยายการลงทุนออกไปต่างประเทศ จึงต้องถือลงทุนต่อไป

GIC มีการลดพอร์ตหุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่ลงทุนโดยตรงออกไปก่อนหน้านี้ ที่เห็นชัดเจนคือ การขายหุ้นในบริษัทควอลิตี้ เฮ้าส์ (QH) ทั้งหมด 10.77% หรือ 1,154 .42 ล้านหุ้น เมื่อเดือนพ.ย. 2560

ในปี 2561 ได้ขาย LH ล็อตใหญ่ จำนวน 990 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 10.90 บาท รับเงินสดไป 10,791 ล้านบาท หลังจากนั้นยังมีกระแสข่าวว่าจะขายหุ้นที่เหลืออยู่ทั้งหมด  จน “อนันต์ อัศวโภคิน” นั่งไม่ติด ประกาศจัดทำคำเสนอซื้อหุ้นจากนักลงทุนทั่วไป(เทนเดอร์ออฟเฟอร์) จำนวน 10% ในราคาหุ้นละ 11.80 บาท จากที่มีอยู่จำนวน 23.93% หรือ 2,860 ล้านหุ้น เพื่อไม่ให้นักลงทุนตื่นตระหนก แต่สุดท้าย”อนันต์” ก็ไม่ได้ซื้อหุ้น เนื่องจากไม่ยอมรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งเป็นแหล่งทุนบางส่วนในการตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้นครั้งนี้

กองทุนมั่นคั่งของรัฐบาลสิงคโปร์  ตัดสินใจขายหุ้นทั้งหมด 7% ผ่านบริษัทหลักทรัพย์เครดิตสวิส (CS) ด้วยวิธีสำรวจความต้องการซื้อจากนักลงทุนรายใหญ่และสถาบัน (โอเวอร์ไนท์) ผ่านโบรกเกอร์หลายราย ในราคาส่วนลดประมาณ 4% จากราคาปิด11.30 บาท เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2562 โดยราคามาจบลงที่ 10.83 บาทต่อหุ้น และทำรายการซื้อขายบิ๊กล็อตในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย วันที่ 17 มิ.ย.  แบ่งเป็นกระดานต่างประเทศ (LH-F) จำนวน 534,327,054 หุ้น มูลค่ารวม 5,786.76 ล้านบาท และกระดานในประเทศ (LH) จำนวน 302.75 ล้านหุ้น มูลค่า 3,278.78 ล้านบาท ราคาที่ซื้อขายต่ำ กดดันให้ราคาในตลาดปิดที่ 10.90 บาท ลดลง 0.40 บาทหรือ 3.54%

GIC ขายหุ้น LH ในราคาเท่าไรก็ได้ เพราะแทบจะไม่มีต้นทุน ตอนเข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง (พีพี) จำนวน 94.28 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 14 บาทเมื่อปี 2542 และตามเพิ่มทุนอีกครั้งในเดือนพ.ย. สัดส่วน 5 หุ้นเดิมต่อ 2 หุ้นใหม่ ราคาหุ้นละ 14 บาท ทำให้มีหุ้นทั้งสิ้น 21.17%  แต่ตอนนั้นราคาพาร์อยู่ที่หุ้นละ 10 บาท ตอนนี้พาร์ลดลงมาเหลือเพียง 1 บาท และ LH ยังมีจุดเด่นเรื่องอัตราผลตอบแทนปันผลสูง 6-7% ทุกปี ”

การขายหุ้นล็อตใหญ่ครั้งนี้ ทำให้ บล.เครดิตสวิส มีส่วนแบ่งการตลาดพุ่งขึ้นถึง 23.18% และภาพการลงทุนโดยรวม นักลงทุนต่างชาติมีการขายหุ้นสุทธิ 3,112.48 ล้านบาท  เพราะมีความเป็นไปได้ว่าฝั่งซื้อหุ้น LH มีนักลงทุนต่างชาติรวมอยู่ด้วย

อย่างไรก็ตาม GIC ยังคงลงทุนอสังหาริมทรัพย์ทางอ้อมผ่านกองทุนรวม อาทิ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ และ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ 2 รวมถึงการลงทุนค้าปลีกผ่านกองทุนรวมหลายแห่ง

ภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวขึ้นมาเร็ว ขณะที่ธุรกิจมีดาวรุ่งและดาวดับ  มีโอกาสสูงที่ GIC ยังคงมีการปรับพอร์ตอย่างต่อเนื่อง นักลงทุนจะต้องติดตามผลทั้งบวกและลบ  พร้อมนำข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจเขย่าพอร์ตบ้างก็ได้ เพื่อให้รู้เท่าทันการปรับตัวของนักลงทุนสถาบันรายใหญ่ระดับโลก