HoonSmart.com>>บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น(WHA) ครองส่วนแบ่งการตลาดการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมสูงสุดของประเทศไทย เฉลี่ย 34% สร้างโอกาสทางธุรกิจมากมายทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ
“อรรถวิทย์ เฉลิมทรัพยากร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน WHA ให้ข้อมูลแก่นักวิเคราะห์และนักลงทุนว่า บริษัทมีส่วนแบ่งตลาดการขายที่ดินในนิคมฯ อันดับ 1 จำนวน 34% โดยเฉพาะในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2557-2561) เวลานักลงทุนต่างประเทศจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย จะต้องคิดถึงและมาหา WHA ก่อน เมื่อเข้ามาดูก็ตัดสินใจได้ง่าย ส่วนในต่างประเทศ เราได้รับเชิญให้ร่วมลงทุนที่เวียดนาม บริษัทลงทุนทำนิคมอุตสาหกรรมไปแล้ว 1 โครงการ ส่วนโครงการที่ 2 กำลังร่วมทุนกับนักลงทุนเวียดนามรายใหญ่ คาดจะมีข้อสรุปในไตรมาส 3
ก่อนหน้านี้บริษัทได้ซื้อหุ้น 41% ในรัฐวิสาหกิจน้ำของเวียดนาม บริษัทวางแผนขยายธุรกิจน้ำไปต่างประเทศ และนอกนิคมฯพร้อมกัน เพราะมีบุคคลที่มีประสบการณ์เรื่องน้ำมานาน ขณะเดียวกันมีการนำน้ำมาหมุนเวียน ทำให้ไม่ต้องซื้อน้ำดิบ และมีการดึงแร่ธาตุออกไป จะได้มารจิ้นสูงจากลูกค้าโรงไฟฟ้าและปิโตรเคมี และปริมาณขายมากขึ้น
สำหรับประเทศอินโดนีเซีย กำลังเจรจากับพันธมิตรร่วมลงทุนทำธุรกิจคลังสินค้า คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสิ้นปีนี้
“เราใช้เมืองไทยเป็นฐาน มีที่ดินพร้อมขาย 1 หมื่นไร่ และมีการร่วมลงทุนกับบริษัทหลายแห่ง เช่น ไออาร์พีซี ทำนิคมฯที่จังหวัดระยอง เราไปลงทุนนิคมฯที่ไหน จะมีธุรกิจในกลุ่มตามไปด้วย โลจิสติกส์ คลังสินค้า น้ำ ไฟ ทำให้ทุกธุรกิจขยายตัว คาดว่าในปีนี้ รายได้จะเติบโตถึง 70% กำไรก็จะเพิ่มขึ้นตามด้วย อัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น( ROE) ขึ้นมาเป็นประมาณ 15-18% อยู่ในระดับที่พอสมควร “อรรถวิทย์กล่าว
ส่วนสงครามการค้า เห็นภาพชัดเจนว่าคุยกันยากขึ้น WHA ได้รับผลบวก ลูกค้าจีนย้ายฐานการผลิตเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น บริษัทเพิ่งเปิดนิคมฯแห่งที่ 4 แถว EEC ได้ลูกค้ารายใหญ่ โรงงานผลิตยางรถยนต์ย้ายมาไทย จะมีโรงงานของลูกค้าและซัพพลายตามเข้ามาด้วย นอกจากนี้ยังมีโรงงานบริษัทข้ามชาติที่เคยอยู่ในจีนก็ย้ายออกมา นักลงทุนญี่ปุ่นและไต้หวัน เพราะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า สังคมสูงวัย และค่าแรงสูง ทำให้ประเทศไทยได้ประโยชน์สูงสุด
ขณะเดียวกัน รัฐบาลได้ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการลงทุน EEC ด้วย รวมถึงการเซ็น FTA กับหลายประเทศ เช่น ภาษี 0% กับอินเดีย จูงใจให้โรงงานต่างประเทศเข้ามาตั้งโรงงานในประเทศไทยด้วย
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าลูกค้าจีน อาจจะซับซ้อนมากกว่าลูกค้าทั่วไป ในการขออนุญาตออกมาลงทุนต่างปรเะทศ และนำเงินออกมา ทำได้ช้ากว่าญี่ปุ่น ไต้หวัน ทำให้บริษัทขายที่ดินได้แล้ว ต้องรอเวลาทยอยการรับรู้รายได้ โดยมีงานในมือหรือ backlog จำนวน 667 ไร่ เมื่อพิจารณาปัจจัยแวดล้อมต่างๆแล้ว คาดว่าในปีหน้า ยอดขายที่ดินจะเพิ่มเป็น 2 เท่า หรือ 2,000 ไร่ ในปีที่ผ่านมาลูกค้าจีนมีสัดส่วนในการซื้อดินในนิคมฯคิดตามจำนวนไร่ เท่ากับ 41%
ส่วนกลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ ยังคงเติบโตได้ดี ปีนี้ยังคงเป้าการขยายพื้นที่เช่าคลังสินค้าอีก 250,000 ตารางเมตร ไตรมาส 1 ขยายได้แล้ว 32,256 ตารางเมตร ปัจจุบันมีผู้เช่ารายใหญ่ ได้แก่ JD,กลุ่มเซ็นทรัล คาดจะเข้ามาเช่าพื้นที่ราว 60,000 ตารางเมตร และลูกค้า Shopee เฟส 2 ที่จะทยอยเข้ามาอีก 60,000 ตารางเมตร เข้ามาแล้ว 27,000 ตารางเมตร รวมถึงกำลังเจรจากับลูกค้า E-Commerce อีก 60,000 ตารางเมตร
ธุรกิจน้ำตั้งเป้าจำหน่าย 120 ล้านลบ.ม. และตั้งเป้าจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ตามสัดส่วนการถือหุ้นที่ 570 เมกะวัตต์ จากปีก่อนอยู่ที่ 521 เมกะวัตต์ ส่วนโครงการโซลาร์ รูฟท็อป ตั้งเป้า COD เพิ่มเป็น 25 เมกะวัตต์ จากปัจจุบัน COD แล้ว 8-9 เมกะวัตต์
เรื่องแหล่งเงินสำหรับการลงทุน “อรรถวิทย์” กล่าวว่า บริษัทฯ มีแผนที่จะขายสินทรัพย์เข้าในกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดับบลิวเอชเอ พรีเมี่ยม โกรท (WHART) ของโกดังประเภท BTS – คลังสินค้า, โรงงาน และศูนย์กลางการกระจายสินค้า ขนาดพื้นที่รวม 157,000 ตารางเมตร มูลค่า 4,800 ล้านบาท และขายสินทรัพย์เข้าในกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์เหมราช (HREIT) ของโรงงานสำเร็จรูป และโกดังสำเร็จรูป ขนาดพื้นที่รวม 30,000 ตารางเมตร มูลค่า 800-900 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีวงเงินสินเชื่อกับธนาคาร 2 หมื่นล้านบาท และมีการออกหุ้นกู้ ที่ผ่านมาบริษัทออกหุ้นกู้ได้ดอกเบี้ยต่ำ 3.16% อายุ 3 ปี ปัจจุบันตลาดหุ้นกู้ยังเป็นของคนขายอยู่ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ไม่ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรลดลงมาเท่ากับก่อนที่ธปท.ขึ้นดอกเบี้ย บริษัทมีการรีไฟแนนซ์ ทำให้ต้นทุนทางการเงินลดลง จาก 4.35% เหลือ 3.91% และจะมีการรีไฟแนนซ์ หุ้นกู้เหมราช มูลค่า 2,500 ล้านบาท ดอกเบี้ย 5.75% คาดดอกเบี้ยเหลือ 3% ประหยัดเงิน 50-60 ล้านบาทต่อปี ปีหน้าบริษัทวางแผนรีไฟแนนซ์หุ้นกู้อีก 9,000 ล้านบาท เตรียมแผนรองรับไว้แล้วในการออกหุ้นกู้ และมี WHA-w1 อีก 3,000 ล้านบาท ไม่มีปัญหาเรื่องสภาพคล่องและในการพิจารณาออกหุ้นกู้ในแต่ละครั้งพิจารณาเรื่องระยะเวลาในการครบกำหนดเพื่อรีไฟแนนซ์ด้วย
ดังนั้น WHA จะเติบโตได้อีกมาก ทั้งจากธุรกิจหลักคือนิคมอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงธุรกิจเกี่ยวเนื่อง โลจิสติกส์ สาธารณูปโภค และค่าเช่า โดยมีต้นทุนทางการเงินต่ำลง มีสภาพคล่องพร้อมลงทุนในทุกโอกาสที่เข้ามา….