หุ้นนิคมฯ-รับเหมาเด่น รับพ.ร.บ.อีอีซี

นักวิเคราะห์เชียร์หุ้นนิคม WHA-AMATA เด่น หลังประกาศใช้พ.ร.บ.อีอีซี ขณะที่กลุ่มรับเหมาบิ๊กโฟร์จะได้อานิสงส์จากการลงทุนในพื้นที่หลายแสนล้านบาท ด้าน AAV จับมือพันธมิตรร่วมลงทุนศูนย์ซ่อมที่อู่ตะเภา 1.5 พันล้าน

เมื่อวันที่ 14 พ.ค. เว็ปไซด์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 หรือพ.ร.บ.อีอีซี และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 พ.ค.นี้

สาระสำคัญพ.ร.บ.ฉบับนี้ กำหนดให้พื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยมาตรา 10 และ11 ให้คณะกรรมการนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีอำนาจและหน้าที่ในการกำหนดนโยบายการพัฒนาพื้นที่อีอีซี ให้ความเห็นชอบแผนผังการใช้ที่ดิน แผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เพื่อรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง

พร้อมทั้งให้มีอำนาจประกาศกำหนดพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ อุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ 10 ประเภท และสิทธิประโยชน์ที่จะให้แก่ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษแต่ละแห่ง รวมทั้งประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขในการร่วมทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน

พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังกำหนดให้มีการยกเว้นกฎหมายและระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจของนักลงทุน เช่น มาตรา 49 ให้ผู้ประกอบกิจการที่เป็นบุคคลต่างด้าวได้รับการยกเว้นจากการจำกัดสิทธิของคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด มาตรา 52 กำหนดให้เช่าหรือเช่าช่วงที่ดินในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษได้ 99 ปี สัญญาแรก 50 ปีและสัญญาที่สอง 49 ปี มาตรา 53 ให้คณะกรรมการอีอีซีมีอำนาจให้นำที่ราชพัสดุมาให้ผู้ประกอบกิจการเช่าหรือเช่าช่วงได้

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัย เอเซียพลัส (ASP) กล่าวกับ Hoonsmart.com ว่า หุ้นที่จะได้ประโยชน์โดยตรงจากพ.ร.บ.อีอีซี คือ หุ้นกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม คือ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น WHA และบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น (AMATA) เนื่องจากความต้องการใช้ที่ดินในพื้นที่อีอีซีจะเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้บริษัทดังกล่าวขายที่ดินได้มากขึ้นและได้ราคาเพิ่มขึ้นด้วย

“ความต้องการใช้ที่ดินที่สูงขึ้น ทำให้ยอดขายที่ดินเพิ่มขึ้น และราคาขายก็เพิ่มขึ้นด้วย”นายเทิดศักดิ์กล่าว

สำหรับหุ้นที่จะได้ประโยชน์ในช่วงถัดมา คือ หุ้นกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง เพราะการเปิดประมูลโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในพื้นที่อีอีซีจะมีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน วงเงิน 1.2 แสนล้านบาทที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไปแล้ว และอยู่ระหว่างประกาศทีโออาร์ และโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟสสาม 1.2 แสนล้านบาท ขณะที่แผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซีมีมูลค่ากว่า 7 แสนล้านบาท

“หุ้นบิ๊ก 4 รับเหมา ITD ,CK ,STEC และUNIQ จะได้ประโยชน์เมื่อภาครัฐเร่งรัดเดินหน้าการเปิดประมูลโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซี”นายเทิดศักดิ์ระบุ

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของหุ้นบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ (EA) จะเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากพ.ร.บ.อีอีซีเช่นกัน แต่ต้องใช้เวลา เพราะต้องรอให้มีการประกาศผังเมืองรวมใหม่ รวมทั้งผังเมืองดังกล่าวต้องกำหนดให้พื้นที่นิคมฯของ EA ที่เตรียมไว้สำหรับลงทุนโรงงานผลิตแบตเตอร์รี่ประกาศเป็นพื้นที่สีม่วงก่อน เพราะปัจจุบันยังเป็นพื้นที่สีเขียวอยู่

นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) และประธานกรรมการบริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า AAV อยู่ระหว่างเจรจาพันธมิตรสัญชาติยุโรป 3 รายจาก 3 ประเทศ เพื่อคัดเลือกให้เข้ามาร่วมลงทุนโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานในท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา มูลค่า 1,500 ล้านบาท คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 1-2 สัปดาห์นี้

“คาดว่าจะได้ข้อสรุปเงื่อนไขการใช้ที่ดินจำนวน 60 ไร่ ในพื้นที่อีอีซี รวมทั้งระยะเวลาการเช่าที่ดินในเร็วๆนี้ หลังจากนั้นคาดใช้เวลาก่อสร้าง 1 ปีถึง 1 ปีครึ่ง และน่าจะเกิดดำเนินการได้ในไตรมาส 3 หรือ 4 ของปีหน้า แต่ AAV คงจะไม่ลงทุนไม่มากนัก โดยจะเข้าถือหุ้นในสัดส่วนไม่เกิน 15% เพราะไม่ใช่ธุรกิจหลัก ส่วนนธมิตรที่เข้ามาลงทุนโครงการนี้จะมีลูกค้าหลัก คือ กลุ่มแอร์เอเชียที่ปัจจุบันมีจำนวนเครื่องบินกว่า 200 ลำ”นายธรรศพลฐ์กล่าว

นอกจากนี้ AAV จะลงทุนโครงการศูนย์ฝึกอบรมนักบินและลูกเรือ มูลค่า 1,500 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการบริษัทเพิ่งอนุมัติโครงการ โดยจะใช้ที่ดิน 19 ไร่ใกล้กับท่าอากาศยานดอนเมือง

นายธรรศพลฐ์ ระบุว่า ทั้ง 2 โครงการจะช่วยลดต้นทุนให้กับบริษัท ได้ราว 0.5 -1.0% ที่บริษัทสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายน้ำมัน และจำนวนชั่วโมงบินที่สูญเสียระหว่างการนำเครื่องบินไปซ่อมบำรุง ขณะที่ภาครัฐได้มอบหมายให้ AAV สนับสนุนในการเพิ่มจำนวนผู้โดยสารที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภาเป็น 15-20 ล้านคน จากปัจจุบันมีจำนวนผู้โดยสาร 1.5 ล้านคน ซึ่งสายการบินไทยแอร์เอเชียมีแผนเพิ่มเที่ยวบินเข้าอู่ตะเภาให้มากขึ้นอยู่แล้ว

นายธรรศพลฐ์ กล่าวว่า กำไรของ AAV ในไตรมาส 2 ปีนี้ จะอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับกำไรสุทธิในไตรมาสที่แล้วที่มีกำไร 1 พันล้านบาท แต่จะใกล้เคียงไตรมาส 2 ปีที่แล้วที่มีกำไรสุทธิ 170 ล้านบาท โดยมีสาเหตุจากราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นไปถึง 83-86 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากเดิมที่บริษัทคาดว่าราคาน้ำมันทั้งปีเฉลี่ยที่ 70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ในขณะที่การทยอยปรับเพิ่มค่าตั๋ว 2-3% ในช่วงที่ผ่านมา ช่วยบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันได้บ้าง