HoonSmart.com>>โบรกฯ แนะขาย DTAC หลังกำไร Q1/62 แย่กว่าตลาดคาด รายได้หด ลูกค้าหาย “ดีบีเอส วิคเคอร์ส” จ่อหั่นประมาณกำไร ราคาเป้าหมายลง
ความเคลื่อนไหวราคาหุ้นบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ปรับตัวลงแรงตั้งแต่เปิดตลาด ณ เวลา 11.29 น. อยู่ที่ 52 บาท ลดลง 2.25 บาท หรือ -4.15% มูลค่าการซื้อขาย 342.89 ล้านบาท จากราคาเปิด 52.25 บาท ลดลง 2 บาท และลงไปต่ำสุดที่ 51.25 บาท สูงสุด 52.25 บาท
บล.หยวนต้า แนะนำ ขาย DTAC ราคาเป้าหมาย 47 บาท หลังจากกำไรปกติงวดไตรมาส 1/62 ต่ำคาด อยู่ที่ 1.4 พันล้านบาท ลดลง (-7.9% QoQ,+4.2% YoY) ต่ำกว่าที่และตลาดคาด 12% และ 10% ตามลำดับ จากรายได้ที่อ่อนแอกว่าคาด
นอกจากนี้ service revenue ex. IC น่าจะอ่อนแอต่อในไตรมาส 2/62 ขณะที่การฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลังของปี 62 ขึ้นกับภาวะการแข่งขันในตลาดที่ยังไม่แน่นอน ขณะที่ แรงหนุนต้นทุนลดลงหมดลงในไตรมาส 1/62 การเติบโตกำไรเมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส ต่อจากนี้ขึ้นกับการเติบโตของรายได้ซึ่งยังไม่เห็นสัญญาณฟื้นตัว
ด้านราคาหุ้นปรับขึ้น 25.4% นับตั้งแต่ปี 62 สะท้อนผลบวกของโครงสร้างคลื่นและกำไรที่ฟื้นตัวไปแล้ว ขณะที่ operation อ่อนแอกว่าตลาดคาด เชิงกลยุทธ์แนะนำอาศัยจังหวะที่หุ้นได้รับการเพิ่มน้ำหนักใน MSCI ปลายเดือนพ.ค.62 ขายทำกำไร
บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส อยู่ระหว่างปรับลดประมาณการกำไรและราคาพื้นฐานของ DTAC จากเดิม 50 บาท เพื่อสะท้อนกำไรไตรมาส 1/62 ที่ออกมาแย่กว่าฝ่ายวิเคราะห์และตลาดคาดไว้ 17% และ 9% ตามลำดับและแนวโน้มธุรกิจที่ยังมีความท้าทายมาก
DTAC มีรายได้บริการ (ไม่รวม IC) -7.2%YoY, -2.5%QoQ เป็น 14.9 พันล้านบาท เพราะฐานลูกค้าลดลง และรายได้จากการให้บริการ external content น้อยลง ส่วนรายได้จากการขายเครื่อง -7%YoY, -1%QoQ แต่ดีกว่าคาดฝ่ายวิเคราะห์คาดไว้ เพราะการขายเครื่องราคาถูกเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการดึงลูกค้าไว้ ต้นทุนดำเนินงาน -5%YoY เพราะค่าตัดจำหน่ายต่ำลง แต่ +10%QoQ เพราะมีค่าโรมมิ่งกับ TOT
นอกจากนี้ธุรกิจยังอยู่ในแนวโน้มท้าทาย แม้ว่าบริษัทจะขยายสถานีในส่วน 2300 MHz เป็น 1.54 หมื่นสถานีในสิ้นไตรมาส 1/62 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพบริการ 4G แต่จำนวนลูกค้าก็ยังลดลงต่ออีก 4.75 แสนราย ซึ่งลดลงมากกว่าช่วงช่วงครึ่งปีหลังของปี 61 ไปอีก ณ สิ้นมี.ค.62 บริษัทเหลือลูกค้าทั้งหมด 20.7 ล้านราย (-7%YoY, -2.2%QoQ) โดยหลักเป็นการลดลงในกลุ่มลูกค้า Pre-paid ส่วน ARPU (ไม่รวม IC) ทรงตัวเมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้าที่ 242 บาท/เครื่อง/เดือน (โดย ARPU ส่วน Pre-paid -9.8%YoY, -4.7%QoQ เป็น 130 บาท/เครื่อง/เดือน แต่ในส่วน Post-paid เพิ่มขึ้น)