CKP คุยตรงรัฐบาลสปป.ลาว ลงขันโรงไฟฟ้า 1-1.5 พันเมกะวัตต์

HoonSmart.com>>ซีเค พาวเวอร์ วิ่งเข้าสู่เป้าหมาย 5,000 เมกะวัตต์ในปี 2568 เจรจาตรงรัฐบาลสปป.ลาวร่วมพัฒนาโรงไฟฟ้าขนาด 1-1.5 พันเมกะวัตต์  ศึกษาโรงไฟฟ้าพลังน้ำเมียน แผน PDP พร้อมประมูล SPP-โซลาร์ ขายไฟจากประเทศเพื่อนบ้าน บริษัทให้ความสำคัญบริหารความเสี่ยง   ผลงานปีนี้รายได้โต 8-10% ต้นทุนทางการเงินลดลง

วันที่ 23 เม.ย. 2562 ที่ผ่านมา บริษัทซีเค พาวเวอร์(CKP) มีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2562 ซึ่งที่ประชุมอนุมัติทุกวาระ โดยนายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ (CKP)เปิดเผยในที่ประชุมว่า บริษัทกำลังเจรจากับรัฐบาลสปป.ลาวโดยตรง เพื่อร่วมกันพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังงานน้ำ ขนาดกำลังติดตั้ง 1,000-1,500 เมกะวัตต์ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆนี้ แต่จะลงทุนหรือไม่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาผลตอบแทนและความเสี่ยงประกอบด้วย

นอกจากนี้กำลังศึกษาลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำที่เมียนมา  โครงการใกล้ชายแดนไทยเพื่อส่งไฟเข้ามาขายกฟผ. คาดว่าจะใช้เวลาศึกษา 4-5 ปี ทั้งนี้ในเมียนมามีศักยภาพลงทุนโรงไฟฟ้าพลังน้ำสูงถึง 1 แสนเมกะวัตต์

ส่วนการลงทุนในประเทศไทย บริษัทมีแผนที่จะเข้าร่วมประมูลโครงการโรงไฟฟ้าตามแผน PDP ฉบับใหม่ โดยเฉพาะโครงการที่ถนัด อาทิ โรงไฟฟ้าผู้ผลิตรายเล็ก(SPP) และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์) รวมถึงการเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากเมียนมาและลาว นอกจากนี้บริษัท กำลังศึกษาลงทุนในโซลาร์เพิ่ม อีก 5-10 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 29 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นการเปิดตลาดใหม่ในการขายไฟฟ้าให้เอกชนโดยตรง ช่วยเพิ่มผลประกอบการ ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานลมและขยะ ก็กำลังศึกษาเช่นกัน พบว่ามีความเสี่ยง เช่น ไม่มีอำนาจในการควบคุมขยะ

นายธนวัฒน์ กล่าวถึงโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี กำลังการผลิตติดตั้ง 1,285 เมกะวัตต์ว่า เริ่มเปิดเดินเครื่องที่ 1 แล้ว คาดว่าจะทยอยเปิดจนครบทั้ง 8 เครื่อง พร้อมเดินเครื่องเชิงพาณิชย์( COD)ในไตรมาส 4/2562 ทั้งนี้ ก่อน COD บริษัทยังไม่สามารถรับรู้เป็นรายได้ ไฟที่ผลิตได้นำไปช่วยลดต้นทุนก่อสร้างในทางบัญชี หลังจาก COD แล้วถึงจะเริ่มรับรู้เป็นรายได้ และลงบัญชีเป็นกำไรตามสัดส่วนการถือหุ้น 37.50% โครงการนี้คาดว่าจะมีรายได้ถึงจุดคุ้มทุน 18 ปี รวมเวลาก่อสร้างด้วย 8 ปี

“CKP ตั้งเป้าว่าจะมีกำลังการผลิตติดตั้ง 5,000 เมกะวัตต์ ในปี 2568 ซึ่งมีความเป็นไปได้ จากสิ้นปี 2561 มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 2,167 เมกะวัตต์ ขณะเดียวกันการลงทุน บริษัทให้ความสำคัญเรื่องบริหารความเสี่ยง ไม่เพียงการขายไฟส่วนใหญ่ให้กฟผ. ในส่วนของโครงการไซยะบุรีที่มีเงินกู้สกุลดอลลาร์จำนวน 700 ล้านเหรียญ  ก็ให้กฟผ.จ่ายค่าไฟเป็นดอลลาร์เพื่อบริหารความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนตามธรรมชาติ  รวมถึงการออกหุ้นกู้โครงการนำงึม 2 นำไปคืนหนี้สกุลดอลลาร์กับสถาบันการเงินทั้งหมด”นายธนวัฒน์กล่าว

แนวโน้มการดำเนินงานในปีนี้จะดีกว่าปีที่ผ่านมา คาดว่ารายได้จะเติบโต 8-10%  หลักๆมาจากโครงการน้ำงึม 2 ซึ่งมีการปรับอัตราค่าไฟเพิ่มขึ้น 8% และปริมาณน้ำมากกว่าในปีก่อน อย่างน้อยในครึ่งปีนี้ ส่วนครึ่งปีหลังต้องจับตาปริมาณน้ำ นอกจากนี้จะมีรายได้จากไซยะบุรีเข้ามาในไตรมาสที่ 4  และต้นทุนทางการเงินลดลง หลังการออกหุ้นกู้ของน้ำงึม 2 และของ CKP  ลดต้นทุนจาก 4% เหลือ 3.6%  โดยเฉพาะบริษัทมีหนี้อยู่จำนวน 3 หมื่นล้านบาท  โดยไม่มีความจำเป็นในการเพิ่มทุน ปัจจุบันสัดส่วนหนี้ส่วนที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุน(D/E) อยู่เพียง 0.76 %