TMB กำไรวูบ 30%เหลือ 1,578 ลบ. ค่าธรรมเนียมลด-รายจ่ายบาน

HoonSmart.com>>ธนาคารทหารไทย ประกาศกำไรไตรมาส 1 ลดลง 30% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และลดลง 7.2% จากไตรมาส 4 รายได้ดอกเบี้ยโต แต่ค่าธรรมเนียมลด ค่าใช้จ่ายเพิ่ม โดยเฉพาะเรื่องพนักงาน ตั้งสำรองหนี้ลดลงเล็กน้อย แนวโน้มเศรษฐกิจไตรมาส 2  โต 3.4% ใกล้เคียงไตรมาส 1 คาดส่งออกทั้งปีขยายตัวเพียง 1.5% ต่ำสุดในรอบ 3 ปี 

ธนาคารทหารไทย (TMB)เปิดเผยผลประกอบการงวดไตรมาส 1/2562 มีกำไรสุทธิ 1,578.83 ล้านบาท ลดลง 700.91 ล้านบาทคิดเป็น 30.74% เทียบกับกำไรสุทธิ 2,279.74 ล้านบาท  และลดลง 7.2% จากไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมา

ธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 6,236 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.4%จากไตรมาส 1/2561  แต่ทรงตัวจากไตรมาส 4 เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.5% มาอยู่ที่ 9,051 ล้านบาท เป็นผลจากสินเชื่อขยายตัวปานกลางและอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกันค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น1.5%มาอยู่ที่ 2,814 ล้านบาทส่วนใหญ่มาจากต้นทุนทางการเงินและปริมาณเงินฝากที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับทิศทางของธนาคารในการเพิ่มปริมาณเงินฝากอย่างมีคุณภาพ

ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ย (NIM) ดีขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 2.89% จากไตรมาส 4 ปีก่อน แต่ลดลง 0.13% เทียบกับจำนวน 3.02%ในไตรมาส 1/2561 อย่างไรก็ดี ธนาคารตั้งเป้าหมาย NIM ให้อยู่ในระดับ 2.86-2.93%ในปีนี้

ทางด้านรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย จำนวน 2,280 ล้านบาท ลดลง 12.9% จากไตรมาสก่อนหน้าและ 32% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รายการสำคัญรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ 1,722 ล้านบาท ลดลง 14.9%จากจำนวน 2,023 ล้านบาทในไตรมาส 4 สาเหตุหลักมาจากการชะลอตัวของค่าธรรมเนียมแบงก์แอสชัวรันส์ เนื่องจากการพัฒนารูปแบบใหม่เพื่อให้ธุรกิจแบงค์แอสชัวรันส์มีการเติบโตอย่างยั่งยืน ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมจากกองทุนรวมทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ดี รายได้ค่าธรรมเนียมการให้สินเชื่อชะลอตัวเช่นกัน

รายได้จากธุรกรรมเพื่อค้าและปริวรรตเงินตราต่างประเทศ 363 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.6% จากไตรมาส 4/2561 แต่ลดล 20.2% จากไตรมาส 1/2561

ธนาคารมีค่าใช้จ่ายที่มิใช่ดอกเบี้ย 4,738 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.5% จากไตรมาส 4 และ 11.1%จากไตรมาส 1/2561 โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายพนักงานเพิ่มขึ้น 17.6 %เทียบกับไตรมาส 4 มาอยู่ที่ 2,543 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากการบันทึกค่าใช้จ่าย one-off สำหรับเงินชดเชยโครงการผลประโยชน์พนักงานหลังออกจากงานเมื่อเกษียณอายุ ตามพรบ.คุ้มครองแรงงานฉบับแก้ไขใหม่ และค่าตอบแทนพนักงานสูงขึ้น

ส่วนสำรองหนี้สูญ หนี้สงสัยจะสูญและขาดทุนจากการด้อยค่า ธนาคารตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ จำนวน 1,839 ล้านบาท เทียบกับ 2,030 ล้านบาทในไตรมาส 4 และ 2,305 ล้านบาทในไตรมาส 1/2561 โดยมีเป้าหมายที่จะรักษาระดับอัตราส่วนสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ มากกว่า 140% ส่งผลให้มีสัดส่วน 145% ณ สิ้นเดือนมี.ค. 2562 เทียบกับ 152% สิ้นปีที่ผ่านมา และ 142% สิ้นเดือนมี.ค. 2561

ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2562 ธนาคารมีค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญทั้งสิ้น 31,741 ล้านบาท ลดลง 3.7% จากสิ้นปีที่ผ่านมา เนื่องจากธนาคารยังคงเร่งแก้ปัญหาสินเชื่อด้วยการตัดจำหน่ายสินเชื่อด้อยคุณภาพหรือ Write off เพื่อลดความเสี่ยงเชิงลบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ธนาคารคาดว่าเศรษฐกิจไตรมาส 1/2562 ขยายตัวชะลอลงที่ 3.4% เทียบกับ 3.7% ในไตรมาส 4/ 2561 ส่วนไตรมาส 2 เติบโตใกล้เคียงไตรมาส 1

ไตรมาส 1 ดอกเบี้ยในระบบธนาคารทรงตัวตามดอกเบี้ยนโยบายที่ไม่เปลี่ยนแปลง 1.75% ขณะที่ค่าเงินบาทเฉลี่ยที่ 31.63 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 3.6% เมื่อเทียบกับเฉลี่ยที่ 32.82 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในไตรมาส 4/2561 สินเชื่อรวมของธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นเดือนก.พ. เร่งตัวขึ้นเป็น 5.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัว 0.2% จากสิ้นปี ส่วนใหญ่มาจากสินเชื่อรถยนต์และสินเชื่อที่อยู่อาศัยสะท้อนการบริโภคเอกชนที่ขยายตัวต่อเนื่อง ทางด้านเงินฝากขยายตัว 4.5%

TMB Analytics คาดมูลค่าการส่งออกทั้งปีนี้เติบโตเพียง 1.5% ต่ำสุดในรอบ 3 ปี ภาคการท่องเที่ยว ยังคงเป็นปัจจัยบวกที่หนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่ค่าเงินบาทจะยังมีความผันผวนจากกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายระยะสั้น เนื่องจากความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง