HoonSmart.com>>หมดยุคกินคอมมิชชั่นหุ้น โบรกเกอร์ดิ้นสุดตัว หารายได้ดอกเบี้ย “เมย์แบงก์กิมเอ็ง” กระโดดทำนาโนไฟแนนซ์ งัด “ไมโคร มาร์จิ้น” หากินกับรายย่อย
หมดยุคมนุษย์ทองคำ หากินกับค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (คอมมิชชั่น) ตั้งแต่ตลาดหลักทรัพย์เปิดเสรีค่าคอมมิชชั่น เรื่อยมาราว ๆ 10 ปีที่ผ่านมานี้ ลำพังเปิดเสรีค่าคอมม์ ไม่ถึงกับทำให้โบรกเกอร์ถึงทางตันกับการหารายได้ค้าหลักทรัพย์ เพราะยังมีรายได้ส่วนอื่นจากงานวาณิชธนกิจ หรือการดันหุ้นไอพีโอ เข้าตลาดหุ้นทั้งตลาด SET และ ตลาด MAI รายได้การออกตั๋วเงินให้ลูกค้า สุดแล้วแต่จะหาวิธีหาเงิน ภายใต้ใบอนุญาตที่มีอยู่ เข้ามาช่วยเสริมรายได้ ชดเชยคอมมิชชั่น
หนำซ้ำหุ้น IPO ที่สร้างรายได้ให้กับนักลงทุน กลับสร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนอีกทาง ทั้งหุ้นในกระดาน และหุ้น IPO นักลงทุนรายใหญ่ส่วนใหญ่ หันหลังให้ตลาดหุ้น หยุดการเทรดดิ้ง มาร์เก็ตติ้งขาดรายได้
ปัจจุบันสถานการณ์กลับซ้ำเติมหนักขึ้น เมื่อภาวะตลาดหุ้นซบเซา กินเวลายืดเยื้อข้ามปี ที่เคยหวังไว้ หลังเลือกตั้ง ได้รัฐบาลใหม่ ต่างชาติกลับเข้ามาลงทุน ตลาดหุ้นจะดีขึ้น แต่ทุกอย่างกลับข้างจากที่คิดไว้สิ้นเชิง ป่านนี้ยังตั้งรัฐบาลไม่ได้ ที่เลวร้ายกว่านี้ก็ตรงที่การกล่าวหาฝ่ายตรงข้าม ขัดแข้งขัดขาการตั้งรัฐบาล
ความซบเซาหนักขึ้น ตลาดซื้อขายแผ่วลง ๆ ตลาดที่เคยซื้อขายวันละ 5-6 หมื่นล้านบาท หนักขึ้น ๆ เหลือวันละไม่ถึง 3 หมื่นล้านบาท แล้วโบรกเกอร์-มาร์เก็ตติ้ง จะกินอะไร ???
เมื่อหากินกับคอมมิชชั่นหุ้นไม่ได้ ก็ต้องหันไปหากินกับรายได้ดอกเบี้ยแทน ดอกเบี้ยจากการปล่อยมาร์จิ้น หรือดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อซื้อหลักทรัพย์ จึงเป็นทางเลือกอีกทางยุคนี้ รวมไปถึงดอกเบี้ยจากการปล่อยกู้สำหรับธุรกิจ อย่างเช่นที่ บล.เมย์แบงก์กิมเอ็ง (ประเทศไทย) และ บล.คิงส์ฟอร์ด เริ่มทำในขณะนี้
บล.เมย์แบงก์กิมเอ็ง (ประเทศไทย) หันมาหากินกับรายย่อยมากขึ้น โดยปล่อยสินเชื่อไมโคร มาร์จิ้น สำหรับผู้มีรายได้ 20,000 บาท ที่สนใจลงทุนหุ้น สามารถขอมาร์จิ้นได้ จากปกติ มาร์จิ้นจะปล่อยให้กับผู้ที่มีเงินมาวางขั้นต่ำ 5 แสนบาท
โปรโมชั่นสำหรับผู้มีรายได้ 2 หมื่นบาท วางเงินสดหลักประกัน 2 หมื่น กู้ 2 หมื่น ซื้อหุ้นได้ 4 หมื่นบาท สามารถกู้ได้ถึง 10 เท่า ยังได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมต่อวันขั้นต่ำ 54 บาท อย่าเพิ่งดีใจยกเว้นค่าธรรมเนียมจิ๊บ ๆ แต่ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายจากการกู้ยืม 6 % สูงกว่ารายใหญ่ที่จ่ายเพียง 5.5 % หรือต่ำกว่านี้ตามวอลุ่มซื้อขาย ที่สำคัญภาวะตลาดไม่เอื้อการเก็งกำไร การใช้มาร์จิ้น มีความเสี่ยงจากการวางเงินเพิ่มเมื่อราคาหุ้นปรับตัวลง
ส่วนบล.คิงส์ฟอร์ด หรือ โบรกเกอร์ผลไม้สีเขียว ที่เปลี่ยนชื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่ ไม่ได้มุ่งค้าหุ้นอย่างเดียว ฟากบริษัท คิงส์ฟอร์ด โฮลดิ้ง ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ได้หันไปเป็นตัวกลางปล่อยสินเชื่อธุรกิจ อีกขาก็หาฝากใบหุ้นให้กับผู้ที่มีหุ้นกอดจำนวนมาก รับฝากแต่ละครั้งมูลค่าไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท จ่ายดอกเบี้ยรายปี 4 % เหมาะสำหรับเจ้าของกิจการ , ผู้ถือหุ้นใหญ่ ที่มีหุ้นจำนวนมากถือไว้เฉย ๆ โดยหุ้นที่ฝากไว้ บล.คิงส์ฟอร์ด สามารถนำไปซื้อขายได้ พูดง่าย ๆ ก็คือ นำประโยชน์จากการรับฝากใบหุ้น ขอวงเงินเพื่อนำมาปล่อยกู้ให้กับธุรกิจ กินส่วนต่างดอกเบี้ยนั่นเอง
เมื่อ 2 โบรกเกอร์ นำร่องหารายได้จากดอกเบี้ยด้วยวิธีการต่างกัน แต่เป้าหมายเดียวกัน ส่วน โบรกเกอร์อื่นจะงัดวิธีไหนมาใช้สร้างรายได้ก็ดีเหมือนกัน ดีกว่าเฉาตาย นั่งรอลูกค้า รอตลาดหุ้นดีไปวัน ๆ