HoonSmart.com>>บล.ทิสโก้ คาดแบงก์ทั้งระบบมีกำไรลดลงจากไตรมาส 1/2561 ยกเว้น ธนาคารกรุงศรีมีกำไรพิเศษจากการขายเงินติดล้อ ชื่นชอบหุ้นแบงก์ใหญ่ BBL-KBANK ส่วนซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี ยังไม่เห็นแบงก์ที่มีรายได้จากดิจิทัล ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ตัวเลขเดือนก.พ.เห็นสินเชื่อเร่งตัวขึ้น 3 หมื่นล้าน เร่งโอนบ้าน-ส่งมอบรถยนต์ คาดความต้องการใช้เงินลงทุนจริงเกิดขึ้นปลายไตรมาส 2 ขอเห็นรัฐบาลก่อน
บล.ทิสโก้ คาดผลดำเนินงานกลุ่มธนาคาร งวดไตรมาส 1/2562 กำไรรวมลดลง 2% จากระยะเดียวกันปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 24% จากไตรมาส 4/2561 โดยธนาคารกรุงศรีอยุธยา( BAY) จะมีกำไรโตโดดเด่นสุด เนื่องจากมีรายการขายเงินลงทุน “เงินติดล้อ” แต่แนะนำ “ถือ”
ส่วนหุ้นแบงก์ที่ชอบสุด คือ ธนาคารกรุงเทพ(BBL)เป้าราคาพื้นฐาน 235 บาท , ธนาคารกสิกรไทย(KBANK)ราคา 231 บาท
บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบีให้น้ำหนักกลุ่มแบงก์เท่ากับตลาด ธนาคารต่างมุ่งไปสู่ Digital platforms ขณะนี้ยังไม่มีธนาคารใดเปิดเผยแผนการสร้างรายได้จากฐานข้อมูล แต่เชื่อว่าการเคลื่อนไหวของธนาคารต่างๆเปิดเป็นนัยว่า รายได้จากค่าธรรมเนียมอาจฟื้นตัวในปี 2562-2564
ธนาคารต่างๆจะเริ่มสร้างรายได้จาก Digital platforms ผ่านทางการขาย wealth products และการเพิ่มการวิเคราะห์ที่จะช่วยเพิ่มผลตอบแทน
” เราเชื่อว่า KBANK และ SCB จะเป็นผู้ชนะในการสร้างรายได้จาก Digital platforms ในช่วง 3 ปีนี้ “บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี
บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดข้อมูลธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ณ สิ้นเดือนก.พ. 2562 สินเชื่อสุทธิกลับมาเร่งตัวขึ้น เพิ่มขึ้น 3 หมื่นล้านบาท หรือ 0.26% จากเดือนก่อน จากแรงหนุนของสินเชื่อรายย่อยหลัก ทั้งสินเชื่อบ้านและสินเชื่อเช่าซื้อรถ จากปัจจัยชั่วคราว คือ การเร่งโอนบ้านก่อนมาตรการสินเชื่อใหม่มีผลในวันที่ 1 เม.ย. 2562 และยอดขายรถที่คาดว่ายังมีการทยอยส่งมอบรถต่อเนื่องจากช่วงปลายปีที่แล้ว
สำหรับสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันยังถูกฉุดรั้งจากการชำระคืนหนี้ สินเชื่อภาคธุรกิจและเอสเอ็มอี ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในบางธนาคาร
อย่างไรก็ดี สินเชื่อสุทธิยังหดตัวลง 3 หมื่นล้านบาทเทียบกับสิ้นปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาคธุรกิจเอกชนระดมทุนทางตรงด้วยการออกหุ้นกู้ใหม่กว่า 1 แสนล้านบาทในช่วง 2 เดือนแรก ส่วนใหญ่เป็นการออกเพื่อต่ออายุหุ้นกู้ แต่มีกว่า 2.5 หมื่นล้านบาทที่ใช้เพื่อชำระคืนหนี้สถาบันการเงินและขยายธุรกิจ
ด้านเงินฝากในเดือน ก.พ. เพิ่มขึ้น 4.66 หมื่นล้านบาท หรือ 0.37% จากเดือนก่อน เพิ่มสูงกว่าสินเชื่อ แต่ยังไม่สะท้อนการแข่งขันด้านราคา มีเพียงธนาคารบางแห่งเท่านั้นที่ออกแคมเปญเงินฝากพิเศษใหม่ ประกอบกับยอดเงินฝากที่เพิ่มขึ้นเป็นการเพิ่มของบัญชีเงินฝากออมทรัพย์และกระแสรายวัน แม้ว่าจะมีเงินฝากของธนาคารขนาดใหญ่บางแห่งที่ลดลงตามการครบกำหนดของบัญชีเงินฝากประจำ
ทิศทางสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ คาดว่าจะยังผ่อนคลายในช่วงครึ่งปีแรก ท่ามกลางความไม่แน่นอนจากปัจจัยต่างประเทศและในประเทศหลังการเลือกตั้ง ซึ่งคงจะมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงปลายไตรมาสที่ 2 ทำให้แนวโน้มความต้องการสินเชื่อในระยะ 2-3 เดือนข้างหน้า คงอยู่ในสถานะประคองตัวและไม่เห็นการเร่งขึ้นอย่างหวือหวา นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเรื่องการส่งออกที่ชะลอตัว ซึ่งส่งผลสะท้อนถึงสินเชื่อเพื่อการส่งออกบางประเภทให้ชะลอลงตาม ตลอดจนภาคธุรกิจมีทางเลือกในการระดมทุนมากขึ้น