HoonSmart.com >> ธนาคารทหารไทยปิดดีลควบรวมธนาคารธนชาต คาดมูลค่าประมาณ 1.3-1.4 แสนล้านบาท แบงก์ใหม่มีขนาดใหญ่อันดับหกของไทย มีคลัง-ING-ทุนธนชาตถือหุ้นใหญ่ TMB คาดเพิ่มทุนประมาณ 1 แสนล้านบาท ครึ่งหนึ่งเตรียมไว้แลกหุ้นให้ทุนธนชาต-โนวาสโกเทีย สัดส่วน 1.1 เท่าของมูลค่าทางบัญชี ส่วนที่เหลือ 4-4.5 หมื่นล้าน ขายผู้ถือหุ้นเดิมหรือ พีพี และออกตราสารหนี้อีกส่วนหนึ่ง
ธนาคารทหารไทย แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2562 ธนาคารได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงแบบไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย กับ ING Groep N.V. ธนาคารธนชาต บริษัท ทุนธนชาต และ The Bank of Nova Scotia(BNS) หรือธนาคารโนวาสโกเทีย เพื่อกำหนดกรอบความเข้าใจและการเข้าทำธุรกรรมต่างๆ สำหรับการรวมกิจการระหว่างธนาคารฯ และธนาคารธนชาต คาดว่าการควบรวมจะแล้วเสร็จภายในปี 2562 ธุรกรรมจะมีมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 130,000-140,000 ล้านบาท โดยผู้บริหารของทั้งสองธนาคารจะมีการแถลงข่าว“Synergy for Growth”ในวันที่ 27 ก.พ. 2562 ที่ โรงแรม Waldorf Astoria Bangkok
“การรวมกิจการจะทำให้ธนาคารใหม่มีขนาดและศักยภาพทางธุรกิจเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยจะมีสินทรัพย์รวมประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท และฐานลูกค้ากว่า 10 ล้านคน มีขนาดใหญ่เป็นลำดับที่หกในอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ไทย เพิ่มประสิทธิภาพในการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินให้กับลูกค้าได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น รวมถึงผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ทั้งผู้ถือหุ้น ลูกค้า และพนักงาน” ธนาคารทหารไทย ระบุ
ธุรกรรมนี้คู่สัญญาตกลงชำระค่าตอบแทนให้แก่กันในรูปแบบของเงินสดและเงินสดส่วนหนึ่งจะนำกลับมาลงทุนในธนาคารฯ และจะมีการเพิ่มทุนตามที่จำเป็น หลังจากควบรวม ING กระทรวงการคลัง และทุนธนชาต จะเป็นผู้ถือหุ้นหลักของธนาคาร โดย ING และทุนธนชาตจะถือหุ้นในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 20% ส่วน BNS คาดว่าจะถือหุ้นในสัดส่วนที่น้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ
สำหรับธนาคารทหารไทยจะจัดหาเงินทุนสำหรับการเข้าทำธุรกรรมนี้ ผ่านทั้งตราสารหนี้และการออกหุ้นเพิ่มทุน คาดว่าจะเพิ่มทุนประมาณ 70% ของมูลค่าธุรกรรม โดยประมาณ 50,000 -55,000 ล้านบาท จะเป็นการออกหุ้นเพิ่มทุนให้กับ บริษัท ทุนธนชาตและ BNS สัดส่วน 1.1 เท่าของมูลค่าทางบัญชีล่าสุดของธนาคารฯ ส่วนเงินทุนที่เหลืออีกประมาณ 40,000 – 45,000 ล้านบาทคาดว่าจะออกหุ้นเพิ่มทุนเพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของธนาคารฯ หรืออาจจะออกหุ้นเพื่อเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนต่อไป และ/หรือ บุคคลในวงจำกัด
ประโยชน์จากการรวมกิจการ จะนำจุดแข็งของทั้งสองฝ่ายมาส่งเสริมกัน ธนาคารทหารไทย มีจุดเด่นในการระดมเงินฝากด้วยกลยุทธ์นำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากที่แตกต่างจากธนาคารแบบดั่งเดิม ขณะที่ธนาคารธนชาตเป็นผู้นำด้านสินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อการเช่าซื้อรถยนต์ ช่วยเพิ่มศักยภาพในการระดมเงินฝากจากฐานลูกค้าที่เพิ่มขึ้น และสร้างสมดุลให้กับโครงสร้างสินเชื่อได้เป็นอย่างดี ก่อให้เกิดประโยชน์ 3 ด้านหลักๆ ได้แก่ 1.ด้านงบดุลที่เหมาะสม 2.ต้นทุนที่ลดลง และ3.ศักยภาพในการสร้างรายได้
ทางด้านงบดุล เกิดจากมูลค่าของกิจการเพิ่มขึ้นจากการมีงบดุลที่เหมาะสม ผ่านการใช้สินทรัพย์และการจัดหาเงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้มีโอกาสได้รับอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ที่สูงขึ้นและต้นทุนในการจัดหาเงินทุนที่ลดลง ส่วนประโยชน์ด้านต้นทุน เมื่อธนาคารมีขนาดใหญ่ขึ้น โดยเฉพาะจากการรวมกันของหน่วยงานสนับสนุนที่สำคัญ เช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีสารสนเทศ และการตลาดและสุดท้าย การรวมกิจการจะทำให้ฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ช่วยเพิ่มศักยภาพในการสร้างรายได้
อย่างไรก็ตาม ก่อนการรวมกิจการ ธนาคารธนชาตจะมีการปรับโครงสร้างทางธุรกิจ โดยโอนบริษัทในเครือและบริษัทที่เกี่ยวข้องบางส่วน ทั้งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ให้แก่ผู้ถือหุ้นปัจจุบัน ซึ่งได้แก่ทุนธนชาต และ/หรือ BNS และ/หรือ ผู้ถือหุ้นรายย่อย ตามที่มีการลงนามเข้าทำสัญญาในกรณีการปรับโครงสร้างทางธุรกิจ คาดว่าผู้ถือหุ้นหลักของธนาคารธนชาตจะยังคงให้การสนับสนุนบริษัทย่อยและบริษัทในเครือดังกล่าว เพื่อให้จุดประสงค์ของการรวมกิจการบรรลุผล
“หลังจากธนชาตปรับโครงสร้างเสร็จ ธนาคารฯ คาดว่าจะรวมกิจการกับธนาคารธนชาตด้วยวิธีการโอนกิจการทั้งหมด เพื่อให้เป็นไปตามหลักนิติบุคคลเดียวตามกฎสถาบันการเงิน 1 รูปแบบ ของธนาคารแห่งประเทศไทย” ธนาคารทหารไทย ระบุ