“เหล็กเส้น-เหล็กแท่ง” ส้มหล่น ประกาศ รง.4 ตีกันนำเข้าเครื่องจักรเก่า

กลุ่มเหล็กเส้น-เหล็กแท่ง มีเฮ รัฐประกาศห้ามตั้งหรือขยายโรงงานผลิต เป็นเวลา 5 ปี หนุนผู้ประกอบการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น เสริมศักยภาพการแข่งขัน-ดันมาร์จินเพิ่มขึ้น สมาคมเหล็กไทยเผย 5 ปีย้อนหลังเหล็กเส้นเดินกำลังการผลิตแค่30% ขณะที่เหล็กแท่งใช้กำลังการผลิตประมาณ 46%

หุ้นกลุ่มเหล็กได้รับอานิสงส์เต็มๆ จากกรณีที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการในประกาศ รง.4 ห้ามตั้งหรือขยายโรงงานผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตหรือเหล็กแท่งทุกขนาดทุกท้องที่ เป็นเวลา 5 ปี เพื่อให้ผู้ผลิตปรับตัวและเข้าสู่ภาวะสมดุลจากปัจจุบันที่ผู้ผลิตในประเทศมีกำลังการผลิตส่วนเกินสะสม จนทำให้ผู้ประกอบการหลายรายต้องหยุดกิจการ จากมาตรการดังกล่าวจะส่งผลให้ผู้ประกอบการในประเทศพลิกฟื้นผลการดำเนินงานขึ้นมาได้จากที่เคยขาดทุนก็จะพลิกมามีกำไรได้บ้าง

เนื่องจากปัจจุบันอุตสาหกรรมเหล็กเส้นก่อสร้างในประเทศ กำลังประสบกับปัญหากำลังการผลิตส่วนเกิน ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตในประเทศอยู่ในระดับต่ำ โดยข้อมูลจากสมาคมอุตสาหกรรมเหล็กไทยพบว่าในช่วง 5 ปีย้อนหลังนับตั้งแต่ปี 2555-2559 กำลังการผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตในประเทศมีกำลังการผลิตรวมกันประมาณ 9.06 ล้านตัน แต่มีการใช้กำลังการผลิตในประเทศเพียง 3.45 ล้านตันต่อปี หรือใช้กำลังการผลิตราว 30% เศษเท่านั้น ขณะที่เหล็กแท่งทั้งระบบมีกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 5.4 ล้านตันต่อปี แต่มีการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 2.5 ล้านตัน หรือประมาณ 46 % เท่านั้น

สภาวการณ์ดังกล่าวนี้ทำให้ผู้ผลิตในประเทศไม่สามารถใช้กำลังการผลิตที่มีอยู่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยสูง ไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับเหล็กนำเข้าได้ ผู้ประกอบการในประเทศต้องประสบภาวะขาดทุนอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้นการที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะประกาศใช้มาตรการห้ามตั้งหรือขยาย “โรงงานผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตและเหล็กแท่งเล็กสำหรับเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต” เป็นเวลา 5 ปี จะช่วยให้ผู้ผลิตในประเทศมีโอกาสในการเพิ่มอัตราการใช้กำลังการผลิต เกิดการปรับปรุงผลิตภาพในการผลิต ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนต่อหน่วยลดลง ทำให้มีความสามารถในการแข่งขันด้านราคา กับเหล็กนำเข้าเพิ่มขึ้น ช่วยให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กเส้นในประเทศสามารถกลับมาทำกำไรได้ดีขึ้น

สำหรับผู้ประกอบบการที่ผลิตเหล็กเส้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ประกอบด้วยบริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ TSTH บริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ MILL บริษัท บางสะพานบาร์มิล จำกัด (มหาชน) หรือ BSBM และบริษัท เชาว์ สตีล อินดัสทรี้ จำกัด (มหาชน) หรือ CHOW

อย่างไรก็ตามมาตรการห้ามตั้งห้ามขยายโรงงานเหล็กเส้นและเหล็กแท่ง มีผลบังคับใช้ 5 ปี ถือเป็นมาตรการระยะสั้นในการแก้ไขปัญหากำลังการผลิตส่วนเกินภายในประเทศ รวมทั้งป้องกันการเคลื่อนย้ายเคลื่อนจักรเก่าด้อยคุณภาพจากจีนเข้ามายังประเทศไทย

ทั้งนี้ภายหลังจาก 5 ปี ที่มาตรการนี้สิ้นสุดลง ทางกระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายที่จะนำมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมมาบังคับใช้ ตามเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็ก 4.0 ที่เน้น “ความสมดุล มั่นคง และ ยั่งยืน” ซึ่งในขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดทำร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม กำหนดค่าปริมาณของสารเจือปนในอากาศที่ระบายออกจากโรงงานผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต และโรงงานผลิตเหล็กแท่งเล็ก สำหรับเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต

นั่นหมายความว่า ภายในระยะเวลา 5 ปี ของการใช้มาตรการดังกล่าว นอกจากความพยายามในการเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันแล้ว ผู้ผลิตเหล็กเส้นจะต้องเร่งปรับตัวในการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต ให้ได้ตามเกณฑ์ค่ามาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่กำหนด เพื่อเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน