บล.กสิกรไทย ปรับลดประมาณการกำไรของกลุ่มพลังงาน-ปิโตรเคมีในปีนี้ลง 31,000 ล้านบาท เหลือ 1.88 แสนล้านบาท คาดราคาน้ำมันร่วง ค่าการกลั่นลด บริษัทหลายแห่งหยุดโรงงานซ่อมใหญ่ PTTEP-PTTGC เจอหนักสุด ยก BANPU เป็นหุ้นเด่น ส่วนโรงไฟฟ้าได้ประโยชน์จากซื้อไฟ IPP เพิ่มคือ EGCO-RATCH และ BGRIM ต่ออายุ SPP ต้นทุนพลังงานลด
นายจักรพงศ์ เชวงศรี ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า ฝ่ายวิจัย คาดว่า ในปี 2562 กลุ่มพลังงานและปิโตรเคมีจะมีกำไรสุทธิรวม 1.57 แสนล้านบาท เทียบกับปีก่อนคาดว่าจะทำได้จำนวน 1.88 แสนล้านบาท ลดลงจำนวน 31,000 ล้านบาทหรือประมาณ 15% ซึ่งจะมีผลกระทบต่อกำไรของตลาด 5%
ปัจจัยหลักที่ทำให้กำไรของกลุ่มนี้ลดลง มาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลง ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 57 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากระดับ 68 เหรียญสหรัฐในปีก่อน ส่วนราคาน้ำมันดิบเบรนท์ลดลงจาก 71 เหรียญสหรัฐมาอยู่ที่ 60 เหรียญสหรัฐในปีนี้ นอกจากนี้ค่าการกลั่นในตลาดสิงคโปร์ ก็ลดลงคาดว่าจะอยู่ที่ 5.60 เหรียญสหรัฐ จากปีก่อนอยู่ที่ 6 เหรียญสหรัฐ
ประเด็นสำคัญในปีนี้ มีบริษัทหลายแห่งมีการหยุดโรงงานซ่อมบำรุงใหญ่ เช่น บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ในไตรมาส 1 หยุดซ่อมโรงงานแหล่งบงกช นาน 45 วัน แหล่งซองกา 1 สัปดาห์ และไตรมาส 3 หยุดที่แหล่งบงกชและอาทิตย์ ส่วนบริษัทไทยออยล์ (TOP) หยุดซ่อม 30-40 วัน บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง (SPRC) หยุดซ่อมในไตรมาส 4 และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) หยุด 52 วัน เป็นปัจจัยสำคัญทำให้กำไรลดลง
“ฝ่ายวิจัยได้ปรับลดน้ำหนักหุ้น PTTEP และ PTTGC ตามราคาน้ำมัน คาดว่ากำไรทั้งสองบริษัท จะลดลง 20-25% จากปีก่อน”
สำหรับหุ้นที่น่าสนใจ คือ บริษัทบ้านปู (BANPU) เพราะมูลค่าหุ้นถูก เมื่อพิจารณาจาก พี/อี และ พี/บีวี ต่ำ ให้ราคาเป้าหมาย 18.50 บาท เพราะจีนยังมีความต้องการซื้อถ่านหินเพิ่มขึ้น แต่จะลดลงในปีหน้า
ส่วนแผน PDP ฉบับใหม่ ในส่วน IPP ที่ต้องการมากกว่าแผนฉบับเดิม มีหุ้นที่ได้รับประโยชน์ 2 บริษัท คือ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) มี โรงไฟฟ้า 2 โรง ขนาดกำลังการผลิต 700 เมกะวัตต์เท่ากัน ในปีนี้จะหมดอายุลง 1 โรง คาดว่ารัฐใช้เวลาในการเจรจา เพราะการสร้างก่อสร้างใหม่ไม่ทัน เเนื่องจากต้องใช้เวลาก่อสร้างถึง 3 ปี ส่วนโรงไฟฟ้าแห่งที่สอง จะหมด ในปี 2566 ก็มีโอกาสในการเจรจาหรือเปิดประมูลได้ บริษัท ผลิตไฟฟ้า (EGCO) ภาครัฐมีนโยบายสร้างโรงไฟฟ้า ที่ภาคใต้ จังหวัดกระบี่และอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา บริษัท มีพื้นที่ภาคใต้ มีความได้เปรียบ
นอกจากนี้ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) ได้รับผลดีจากการต่ออายุโรงไฟฟ้า SPP รวมถึงต้นทุนพลังงานลดลง และมีลูกค้า 1 ใน 3 เป็นโรงงานอุตสาหกรรม น่าจะปรับเพิ่มราคาขายเฉลี่ยขึ้นตามการปรับขึ้นค่า Ft ของกกพ.
ขณะเดียวกัน บริษัทได้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้น SCC ,IRPC และ SPRC ที่เป็นโรงไฟฟ้าสมัยใหม่
ทางด้านผลการดำเนินงานของกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี นายจักรพงศ์ กล่าวว่า ฝ่ายวิจัยคาดว่าทั้งกลุ่มจะขาดทุนจากสต็อกรวม 1.75 หมื่นล้านบาท