TPIPP-TPCH มีลุ้นคว้าโรงไฟฟ้าขยะเพิ่ม เกณฑ์ผ่อนคลาย

TPIPP และ TPCH สนใจเข้าประมูลโรงไฟฟ้าขยะ เผยแผน PDP 2018 ผ่อนคลายเกณฑ์ ไม่รวมกับโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ช่วยลดการแข่งขัน ใช้พื้นที่เอกชนได้ ผู้บริหารทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์เผยอยู่ระหว่างศึกษาประมูลโรงไฟฟ้า IPP ภาคใต้และตะวันตก มั่นใจรายได้ปีนี้โตกว่าปีก่อน รับรู้กำลังการผลิต 440 เมกะวัตต์ เต็มปี ส่วนทีพีซี เพาเวอร์โฮลดิ้งคาดรายได้ปีนี้โต 20-30% ได้รับเงินปันผลประมาณ 200-250 ล้านบาทต่อปี จาก COD 60 เมกะวัตต์ ปลายปีนี้เพิ่มอีก 20 MW

นายวรวิทย์ เลิศบุษศราคาม รองผู้จัดการใหญ่อาวุโสฝ่ายโรงงาน บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ (TPIPP) เปิดเผยว่า บริษัทสนใจจะเข้าประมูลโรงไฟฟ้าขยะ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 (PDP 2018) เพิ่มขึ้นอีก 400 เมกะวัตต์ (MW) เนื่องจากภาครัฐผ่อนคลายกฎเกณฑ์มากขึ้น มีการแยกโรงไฟฟ้าขยะออกมาจากโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ทำให้การแข่งขันด้านราคากับผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนลดลง

นอกจากนี้ภาครัฐยังผ่อนปรนเรื่องสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้าขยะสามารถใช้พื้นที่เอกชนได้ จากเดิมกำหนดให้ใช้พื้นที่ของภาครัฐเท่านั้น เพิ่มความสะดวกในการดำเนินการมากขึ้น มองว่ามีหลายจังหวัดที่มีศักยภาพที่น่าสนใจในการจัดตั้งโรงไฟฟ้าขยะ

“เมื่อพิจารณาจากปริมาณขยะของไทยในขณะนี้มีศักยภาพที่จะผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 1,800 เมกะวัตต์ การที่ภาครัฐมีการเพิ่มโรงไฟฟ้าจากขยะอีก 400 เมกะวัตต์ และมีนโยบายส่งเสริมเป็นพิเศษ โดยแยกออกจาก โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนนับว่าเป็นสิ่งที่ดี และมีความน่าสนใจ”นายวรวิทย์ กล่าว

รองผู้จัดการใหญ่อาวุโสฝ่ายโรงงาน TPIPP กล่าวอีกว่า นอกจากนี้บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาที่จะประมูลโรงไฟฟ้าIPP ใช้พลังงานก๊าซ ในพื้นที่ภาคใต้และตะวันตกตามแผน PDP 2018 ด้วย เพื่อเพิ่มรายได้ให้บริษัท ส่วนจะลงทุนเอง หรือเป็นการร่วมทุนยังไม่มีข้อสรุป โดยพื้นที่ที่สนใจจะเป็นภาคใต้

“ธุรกิจหลักของเรายังเป็นโรงไฟฟ้าขยะ แต่โรงไฟฟ้าที่ภาครัฐจะเปิดในพื้นที่ภาคใต้และตะวันตก ที่เป็นโรงไฟฟ้า IPP เราก็สนใจ แต่ก็ต้องยอมรับว่าผู้ประกอบการที่ทำอยู่ก็มีความแข็งแกร่งเช่นกัน”นายวรวิทย์กล่าว

สำหรับการขยายการลงทุน นายวรวิทย์ กล่าวว่า บริษัทมีความพร้อมในด้านแหล่งเงินทุน เพราะยังมีเงินจากการขายหุ้นให้ประชาชนครั้งแรก( IPO) และบริษัทมีการออกหุ้นกู้มูลค่า 3,000 ล้านบาทในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเงินส่วนหนึ่งได้มีการนำไปใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และบริษัทไม่มีหนี้ ดังนั้นจึงสามารถที่จะขอกู้เงินกับสถาบันการเงินได้อีก

ส่วนการประมูลโรงไฟฟ้าขยะชุมชุนของกรุงเทพมหานคร ที่อ่อนนุช และหนองแขม นายวรวิทย์ กล่าวว่า บริษัทได้ยื่นซองประมูลแล้วเมื่อวันที่ 21 ม.ค.ที่ผ่านมา คาดว่าจะรู้ผลภายในครึ่งปีแรก โดยแต่ละโรงไฟฟ้ามีขนาด 20 MW บริษัทมีความเชื่อมั่นในประสบการณ์และเทคโนโลยีที่นำมาใช้

นายวรวิทย์ กล่าวว่า แนวโน้มรายได้ในปีนี้น่าจะมากกว่าปีก่อน เนื่องจากบริษัทจะรับรู้รายได้จากกำลังการผลิต 440 MW ได้เต็มปี หลังจากที่ได้จำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD)หมดแล้ว ประกอบกับการที่บริษัทได้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตช่วงที่ผ่านมา ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง

เชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล

ด้านนายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์โฮลดิ้ง (TPCH) กล่าวว่า การที่ภาครัฐส่งเสริมโรงไฟฟ้าขยะ และโรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐในแผน PDP 2018 ถือว่าไปตามคาด หากรัฐเปิดประมูล บริษัทสนใจยื่นประมูล เพราะมีความพร้อมทั้งด้านเงินทุนและพันธมิตร

นายเชิดศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อต้นสัปดาห์ก่อน บริษัทยื่นประมูลโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนที่อ่อนนุช หากบริษัทชนะการประมูล เตรียมการด้านแหล่งเงินทุนแล้ว มีแผนที่จะออกหุ้นกู้ ซึ่งได้จัดเรตติ้งแล้ว ขณะเดียวกันบริษัทมีสัดส่วนหนี้สินต่อทุนที่ต่ำเพียง 1 เท่า ยังสามารถกู้สถาบันการเงินได้อีก

กรรมการผู้จัดการ TPCH กล่าวว่า ปัจจุบันนี้บริษัทได้สัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) 120 MW แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล 110 MW เป็นโรงไฟฟ้าที่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ มีพันธมิตรเป็นโรงไม้ ส่วนอีก 10 MW เป็นโรงไฟฟ้าขยะที่นนทบุรี ที่บริษัทเข้าไปลงทุนในบริษัท สยาม เพาเวอร์ สัดส่วน 50% ขณะนี้โรงไฟฟ้าได้ COD แล้วจำนวน 60 MW บริษัทได้รับเงินปันผลประมาณ 200-250 ล้านบาทต่อปี และปลายปีนี้โรงไฟฟ้าที่ปัตตานีจะ COD อีกจำนวน 20 MW คาดว่าภายในปี 2564 จะ COD ได้ครบทั้ง 120 MW

“ปีนี้ตั้งเป้ารายได้จะเติบโตประมาณ 20-30% จากปีก่อน ตามโรงไฟฟ้าที่ทยอย COD เพิ่มขึ้น”นายเชิดศักดิ์กล่าว

แผน PDP 2018 จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ ในช่วงปี 2561-2580 จำนวน 56,431 MW โดยจะมีโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนมากสุด 20,766 MW ขณะที่โรงไฟฟ้าตามนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐ ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าขยะ 400 MW โรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐ 120 MW รวม 520 MW